Asd

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

ตักโกลา

พบชุมชน1,300ปี เหมืองทองพังงาสมบัติสมัยราชวงศ์ถัง
พบแหล่งโบราณคดีใหญ่สมัยราชวงศ์ถังและเปอร์เซียที่บ้านทุ่งตึก จ.พังงา เชื่อเป็นเมืองท่าโบราณชื่อ "ตักโกลา" อายุกว่า 1,300 ปี กรมศิลปากรเผยพบวัตถุโบราณล้ำค่าเพียบ ทั้งแหวนทองคำ ลูกปัดสารพัดสี พระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปปางสมาธิ เตรียมส่งกระทรวงวิทยาศาสตร์หาอายุให้แน่ชัด

นายวีรสิทธิ์ ชูแสงทอง ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 15 จังหวัดภูเก็ต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านทุ่งตึก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เหมืองทอง" ในพื้นที่ 100 ไร่ บนเกาะคอเขา ด้านทิศตะวันออกติดกับพื้นที่ป่าชายเลน หมู่ 4 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบซากโบราณสถานขนาดเล็กจำนวน 7 หลัง ตั้งเรียงรายกัน ภายในขุดพบกระเบื้องดินเผามุงหลังคาจำนวนมาก บริเวณด้านนอกพบบ่อน้ำโบราณ 1 บ่อ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณชื่อ “ตักโกลา” ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ปโตเลมี และคัมภีร์มหานิเทศ ราวพุทธศตวรรษที่ 7-16 ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าการค้าสมัยโบราณอายุกว่า 1,300 ปี

ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 15 กล่าวต่อว่า สำหรับโบราณวัตถุที่ขุดพบจากโบราณสถานทั้ง 7 หลัง ประกอบด้วยภาชนะดินเผาพื้นเมืองเป็นเนื้อดินประดับด้วยลวดลายต่างๆ เช่น ลายประทับรูปทรงเรขาคณิต รูปสี่เหลี่ยม รูปหยักแบบฟันปลา ลายตาราง ฯลฯ นอกจากนั้นยังพบพวยกา ภาชนะใส่น้ำโบราณ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นกาน้ำรูปทรงต่างๆ ในปัจจุบัน ภาชนะดินเผาของจีนสมัยราชวงศ์ถัง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือเมื่อ 1,300 ปีมาแล้ว ซึ่งนักประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ชาวจีนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว และมีการค้าขายส่งออกเครื่องถ้วยจีนกับต่างประเทศ

"การค้นพบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านทุ่งตึกเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการนำเข้าเครื่องถ้วยจีน เพื่อส่งขายยังประเทศอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญการค้นพบแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ ยังค้นพบภาชนะดินเผาเปอร์เซียเคลือบสีฟ้า ซึ่งน่าเสียดายว่าไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่จะบอกถึงรูปทรงได้ แต่จากการศึกษาทราบว่าภาชนะดังกล่าวเป็นของชาวเปอร์เซียที่แพร่หลายในยุคเดียวกับเครื่องเผาสมัยราชวงศ์ถัง นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมเป็นชิ้นส่วนพระหัตถ์ขวาถือลูกประคำของพระโพธิสัตว์ เทวรูปในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระคเนศวร์ พระพุทธรูปปางสมาธิและพระพิมพ์ดินเผาของไทย แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากด้วย” นายวีระสิทธิ์ กล่าว

นายวีรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ยังพบเครื่องประดับที่มีค่าอาทิ แหวนทองคำขนาดเล็ก ลูกปัดคาร์เนเลี่ยนลักษณะเป็นแก้วสารพัดสีทั้งสีน้ำเงิน เขียว แดง ขาว ดำและลูกปัดที่มีลวดลายต่างๆ โดยเฉพาะลูกปัดที่มีตาชั้นเดียว ลูกปัดแก้วใสเคลือบทับทองอยู่ด้านในที่หายากมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากประเทศอินเดียหรือตะวันออกกลาง ซึ่งจากการค้นพบแหล่งโบราณคดีอายุกว่า 1,300 ปีนี้ อธิบายได้ว่าเมืองนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมระบบการค้าทางทะเลระหว่างดินแดนแถบตะวันตก อาทิ อาหรับ อินเดีย รวมถึงทวีปยุโรปกับดินแดนแถบตะวันออก ที่มีจีนเป็นตลาดการค้าใหญ่

”การขุดค้นพบครั้งนี้ถือว่าเป็นการพบครั้งสำคัญของประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นเมืองท่าการค้าขายสมัยโบราณ อายุมากกว่าหนึ่งพันปีก่อนที่จะมาเป็นสยามประเทศและประเทศไทยปัจจุบัน และยังค้นพบโบราณวัตถุที่มีค่าจำนวนมหาศาลด้วย หลักฐานที่ขุดพบครั้งนี้จะต้องนำไปพิสูจน์เพื่อกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาชุมชนโบราณของประเทศต่อไป” นายวีระสิทธิ์ กล่าว

แหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 07 กรกฎาคม 2547


ลูกปัดตักโกลา ปริศนาสุวรรณภูมิ [30 ม.ค. 52 - 16:01]

เสน่หาลูกปัดไทยเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกแหล่งค้นพบลูกปัดของไทยมีอยู่ทุกภาค โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้

เสน่ห์ของลูกปัดทำให้คนใฝ่ฝันครอบครอง ใช้เป็นเครื่องประดับอันล้ำค่า ซื้อหากันในราคาสูง ราคาซื้อขายลูกปัดที่พบในประเทศไทยปัจจุบัน ราคาแพงที่สุดคือลูกปัดสุริยเทพ เม็ดหนึ่งราคาเลข 6 หลัก

และต่ำที่สุดคือลูกปัดอินโดแปซิฟิกตวงขายกันเป็นฝาขวด ฝาขวดละ 300-400 บาท

หากย้อนอดีตไปหาที่มาของลูกปัด จะเห็นว่าเงาประวัติศาสตร์ของลูกปัด เผยปริศนาบางอย่างให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการค้า เมืองในประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ของคนระหว่างทวีป

เรื่องราวของลูกปัด นับจากวันนี้ไปถึงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2552 สามารถเข้าไปหาความรู้ได้จากนิทรรศการชั่วคราว ปริศนาแห่งลูกปัด ณ มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ

เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ในวันอังคาร-อาทิตย์

สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ คือ กระทรวงพาณิชย์ แห่งเดิม ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงบรมราชวัง เขตพระนคร เปิดให้ชมฟรีตลอดรายการ

บาง ส่วนเสี้ยวความรู้จากนิทรรศการ บอกว่าลูกปัดทั่วโลกมีชื่อเรียกตามวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์คือ ลูกปัดเมล็ดพันธุ์พืช ลูกปัดเปลือกหอย ลูกปัดดินเผา ลูกปัดปะการัง ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว ลูกปัดแก้วน้ำเคลือบ

บางอย่างเรียกตามสีที่ทำ เช่น ลูกปัดแก้วสีเดียว ลูกปัดอำพันทอง ลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดแก้วลายแถบ และลูกปัดแก้วมีตา เป็นต้น

เผ่าพันธุ์ใดนำลูกปัดมาใช้เป็นชาติแรกนั้น คงยากที่จะฟันธงได้ เพราะจากหลักฐานที่โบราณคดีที่ขุดค้น ปรากฏว่าพบลูกปัดกระจายอยู่ทั่วโลก

ถึงกระนั้นก็มีนักวิชาการคาดว่า มนุษย์เริ่มใช้ลูกปัดมาเมื่อประมาณ 45,000 ปี

ลูกปัดรุ่นแรกๆ ทำจากวัสดุใกล้ตัว คือ เปลือกไข่ กระดูกสัตว์ และปะการัง ฯลฯ

มนุษย์ นำลูกปัดมาใช้ทำอะไรบ้าง คำตอบคือ นำมาประดับเรือนกาย นำมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง และนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และนำใช้เป็นสินค้า

เพราะมนุษย์นำลูกปัดมาใช้เป็นสินค้านี้เอง ทำ ให้ลูกปัดท้องถิ่นต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนกันไปมา จนกลายเป็นสินค้าสำคัญ เมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกปัดก็กลายเป็นโบราณวัตถุอย่างหนึ่งที่ช่วยบอกร่องรอยการค้า และร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองท่าต่างๆ ที่มีการค้าขายกับประเทศอื่นๆ

ลูกปัดมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง เมื่อประมาณ 2,500 ปี มานี้เอง

หลังจากมนุษย์สามารถเดินเรือไปมาหาสู่กันได้ ลูกปัดชนิดต่างๆ และห้วงนี้เอง จากทวีปยุโรปไหลเข้ามาสู่สุวรรณภูมิ

คำ ว่าสุวรรณภูมิเป็นชื่อเรียกขานดินแดนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ อาจครอบคลุมไปทั้งพม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนจุดใด จะเป็นจุดศูนย์กลางของสุวรรณภูมินั้น ปัจจุบันยังเป็นที่ทักท้วงและถกเถียงในเชิงวิชาการกันอย่างออกรส

แต่ละประเทศก็อ้างว่าประเทศของตนมีหลักฐาน และน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรด้วยกันทั้งนั้น และลูกปัดก็เป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง

ลูกปัดขุดค้นเจอในแดนที่เจ้าของแผ่นดินเรียกตัวเองว่า สุวรรณภูมิ อย่างดินแดนพม่าในปัจจุบัน

ย้อนไปเมื่อพุทธศตวรรษที่ 4-10 ชาวพยูตั้งอาญาจักรชื่อศรีเกษตร อาณาจักรนี้ร่วมสมัยกับทวาราวดีในดินแดนของประเทศไทย มีการค้นพบว่ามีลูกปัดแล้ว

ไทย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่บอกว่า คือดินแดนสุวรรณภูมิ แหล่งขุดค้นพบลูกปัด ในภาคกลาง เช่น บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมืองอู่ทอง เขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

และยังมีในเขตเมืองเก่าแก่ในจังหวัดลพบุรี ราชบุรี และนครปฐมเป็นต้น

ยัง มีขุดค้นพบในพื้นที่ภาคใต้เช่นที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ภูเขาทอง จังหวัดระนอง ท่าชนะ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตรัง และคลองท่อม จังหวัดกระบี่

บริเวณที่ขุดพบลูกปัดในภาคใต้ทั้ง 6 จังหวัด เกิดปัญหาเรื่องที่ตั้งของเมืองเมืองหนึ่งชื่อ ตักโกลา ว่าอยู่ในเขตจังหวัดใดกันแน่

ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เปิดประเด็นแบบไม่สรุปเอาไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ก่อน พ.ศ. 2000 ว่า คำว่า...ตักโกละ มีผู้กล่าวว่าคือเมืองตะกั่วป่าบนฝั่งตะวันตกของคอคอดกระ หรือใต้ลงไปกว่านั้น

แต่นายวีตลี่ นักโบราณคดีมีชื่อ...ได้หาเหตุผลมาบอกว่าอยู่บริเวณจังหวัดตรัง

เมื่อดูประวัติศาสตร์ของจังหวัดตรังก็พบว่ามีผู้สันนิษฐานว่าเมืองตรัง เป็นที่ตั้งของเมืองศูนย์กลางการค้าฝั่งทะเลตะวันตกชื่อเมืองตะโกลา

แต่เมื่อไปดูประวัติศาสตร์ของจังหวัดพังงา ก็ระบุว่าเคยเป็นเมืองท่าสินค้ามาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ของชาวต่างชาติเอ่ยถึงเมืองนี้ว่า ตักโกลา

ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าคือตะกั่วป่า เพราะพบโบราณวัตถุมีอายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15

แต่ในหนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า ราว พ.ศ. 500 เอกสารอินเดีย-ศรีลังกา เรียก ผืนดินแผ่นใหญ่อุษาคเนย์ว่า สุวรรณภูมิ ส่วนหมู่เกาะ เช่น สุมาตรา เรียกสุวรรณทวีป

บริเวณ ภาคใต้เป็นส่วนคาบสมุทรของสุวรรณภูมิ บรรดาพราหมณ์ พ่อค้าจากดินเดียเดินเรือเลียบชายฝั่งมาแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทำให้มีเมืองท่าหรือสถานีการค้าทางทะเลสำคัญ มีชื่อในเอกสารโบราณว่าตะโกลา

และชี้ว่าตักโกลา ปัจจุบัน คือบริเวณควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แล้วขนสินค้าตามลำน้ำและผ่านช่องเขาไปชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณนครศรีธรรมราช -สุราษฎร์ธานี

ถัดลงไปทางใต้ก็มีเช่นเดียวกันที่ไทรบุรี แล้วขนสินค้าผ่านช่องเขาไปยะลา-ปัตตานี

แท้ จริงแล้ว ตักโกลา ตั้งอยู่ที่ในเขตจังหวัดใดนั้น ก่อนจะตอบคงต้องย้อนคิดไปถึงเมืองสมัยก่อนที่ไม่มีอาณาเขตเหมือนปัจจุบัน แล้วคำตอบอาจอยู่ที่แต่ละจังหวัดรวมกันคือเมืองตักโกลาก็อาจเป็นได้

สำหรับลูกปัดที่พบในภาคใต้มีลูกปัดคาร์เนเลียน ลูกปัดหินอะเกต และมีลูกปัดแก้วสีสันต่างๆ และที่สำคัญมีหลักฐานว่า มีการผลิตขึ้นเองอีกด้วย

ลูก ปัดภาคใต้จุดที่พบมากที่สุดคือที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ มีทั้งลูกปัดหินอินโดแฟซิฟิก ลูกปัดลายแถบ ลูกปัดอำพันทอง ลูกปัดแก้วรูปหิน ลูกปัดแก้วโมเสก และลูกปัดนกแสงตะวัน

นาย แพทย์บัญชา พงษ์พานิช บอกความหมายและนัยของลูกปัดว่า แต่เดิมมาเป็นเครื่องประดับ ต่อมาเพิ่มความหมายโดยใส่ตราเข้าไปเป็นสัญลักษณ์หรือรูปต่างๆ

ต่อมามนุษย์มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จึงนำโลหะมีค่าต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นลูกปัดรูปร่างต่างๆ

ลูกปัดมิเพียงบอกแต่ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาเท่านั้น แต่ยังบอกความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของมนุษยชาติอีกด้วยนายแพทย์ บัญชาสรุป.

Suvarnabhumi (สุวรรณภูมิ)

"...เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชุ่มฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู..." ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่จะทราบดีว่า นี่คือคำขวัญเมืองนครศรีธรรมราช จากคำขวัญที่ว่าเมืองประวัติศาสตร์นั้น นครศรีธรรมราชมีอะไรบ้างที่แสดงถึงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เรามีพระธาตุทองคำอยู่หนึ่งองค์ มีกำแพงเมืองเหลืออยู่นิดหนึ่ง นอกนั้นมีโบราณสถานและโบราณวัตถุกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของจังหวัด ซึ่งบางแห่งอยู่ไกลจากสายตาของแขกผู้มาเยือน ทำให้มอง
อดีตของนครศรีธรรมราชได้ไม่ชัดเจนนัก หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแทบจะไม่มี
เหลืออยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังพอที่จะค้นคว้าได้เลย
ขอแสดงความชื่นชมพี่น้องชาวจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ที่ยังมีจวนเจ้าเมืองไว้อวดแขกผู้มาเยือน ทั้งๆที่เมืองเหล่านี้คือเมืองที่อยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช แต่นครศรีธรรมราชไม่มีสิ่งนี้ อาจจะเป็นเพราะชาวนครศรีธรรมราชเองได้ช่วยกันทำลายอดีตของตนเอง โดยร่วมมือกับผู้มีอำนาจบางคนเพราะความไม่รู้ตัวจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ และเนื่องด้วยประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงขาดผู้สนใจที่จะร่วมกันจัดทำ ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ระดับชาติที่มีผู้สนใจ ร่วมกันจัดทำอย่างมากมายนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าแก่ (นานไปจะเป็นเมืองเก่าเก็บถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม )ที่สุดเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู หลักฐานที่พอจะสืบค้นถึงอดีตของเมืองนี้ได้มาจาก ตำนาจาก จดหมายเหตุของชนต่างชาติ จากศิลาจารึก จากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยบางยุคบางสมัย จึงทำให้ประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราช ขาดตอนเป็นห้วงๆตามหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ต่อเนื่องเป็นโยงใยอย่างสายน้ำ เนื้อหาบางตอนจึงดูเหมือนกระโดดไปกระโดดมาชวนให้เกิดข้อกังขาไม่น้อย กษัตริย์ที่ครองนครศรีธรรมราชในตำนานนี้ก็หาได้เรียงลำดับอย่างถูกต้องแต่อย่างใดก็หาไม่ และกษัตริย์บางพระองค์ก็เหมือนกับมีชีวิตอยู่ในนิยาย และก็เช่นเดียวกันเกี่ยวกับศักราชและปี พ.ศ.ต่างๆที่ปรากฏในตำนานนี้ ขออย่าได้ถือเป็นสรณะ ขอเพียงแต่เป็นเค้าเงื่อนในการสืบค้นเท่านั้น สำหรับความจริงและความเชื่อถือเกี่ยวกับตำนานเล่มนี้ ผู้เรียบเรียงไม่รับรองเพราะเป็นการค้นคว้าอดีตของนครศรีธรรมราชมาเสนอเท่านั้น ส่วนท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไร ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านเอง ผู้เรียบเรียงจึงตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า " ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก "

เมืองนครศรีธรรมราชในอดีตเป็นเมืองที่ใหญ่มาก มีเมืองใน 12 นักษัตร ขึ้นตรงอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชและในบรรดาเมืองต่างๆ 12 เมืองนี้ก็มี เมืองตะกั่วป่ารวมอยู่ด้วย การที่จะเริ่มเขียนประวัติศาสตร์ทางใต้ ซึ่งหลาย เมืองในภาคใต้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในอดีตกาลทั้งนี้รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านเรา จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง เมืองสุวรรณภูมิในอดีต และในที่นี้ก็จักต้องกล่าวถึงเมือง ตะโกลา ก่อนเสมอเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ นครศรีธรรมราชและสุวรรณภูมิได้มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗–๑๐ เริ่มต้นจากปรากฏเนื้อความกล่าวพาดพิงถึงดินแดนแห่งนี้ ในเอกสารโบราณของอินเดียในคัมภีร์มหานิเทศ ซึ่งแต่งในราวพุทธศตวรรษที่๗ ได้กล่าวถึงเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “……เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ ย่อมแล่นเรือไปในมหาสมุทร ไปคุมพะ(ติคุมพะ) ไปตักโกละ ไปตักศิลา ไปกาลมุข ไปมรณปาระ ไปเวสุงคะ ไปเวรบถ ไปชวา ไปกะมะลิง ไปวังกะ (วังคะ) ไปเวฬวัททนะ (เวฬุพันธนะ) ไปสุวรรณกูฎ ไปสุวัณณภูมิ ไปตัมพปาณนิ ……
ในบรรดาเมืองเหล่านี้ ปรากฏว่ามีชื่อเมืองที่เกี่ยวข้องในดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ ๓ เมืองคือ

  1. เมืองตักโกละ (เมืองตะกั่วป่า) นับเป็นเมืองชายทะเลที่เปิดทำการค้าขายกับชนต่างชาติ มานานในอดีต ชาวโรมันในสมัยราชวงศ์ปโตเลมีแห่งอาณาจักรอเล็กชานเดรียในอิยิปต์ เคยแล่นเรือมาทำการค้าขายกับเมืองนี้ ได้เรียกชื่อเมืองนี้เพี้ยนไปเป็น ตักโกละ (Takola) ซึ่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๘๐๐ ชาวโรมันได้เคยแล่นเรือมาทำการค้าขายในดินแดนแถบนี้ โดยได้พบซากหัวเรือ โลหะโบราณและตะเกียงชาวโรมันในลำน้ำสายหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงมาจากเมืองตะกั่วป่า ทำให้พออนุมานได้ว่า เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่เปิดประตูไปสู่สุวรรณภูมิในอดีต
  2. กะมะลิง (ตะมะลิง) เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ชาวอินเดียรู้จักในามของเมืองนครศรีธรรมราชท่านศาสตราจารย์ ปรณะวิตานะ(Paranavitana) นักปราชญ์ชาวลังกามีความเห็นว่า คำว่า ตมะลิ(Tamali) บวกกับคำว่า คัม(Gam) เป็นคำว่า ตมลิงคัม(Tamalingam) หรือ ตมลิงคม(Tamlingama) ซึ่งเป็นคำในภาษาสิงหล ตรงกับคำว่า ตามพรลิงค์ในภาษาสันสกฤต อันเป็นชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในอดีต โดยเฉพาะเป็นการเรียกชื่อของชาวอินเดีย
  3. สุวัณณภูมิ คำว่าสุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดนที่เป็นที่รู้จักดีของชาวอินเดียในอดีต ซึ่งเดินเรือมาทำการค้าขาย กล่าวกันว่าเป็นดินแดนแห่งทองคำ คงจะเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำมาหากินคล่องหาทรัพย์สมบัติได้ง่าย เลยเรียกว่าสุวรรณภูมิ ในหนังสือชินกาลมาลินีซึ่งแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระชาวเชียงราย ได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิซึ่งมีชาวอินเดียแล่นเรือมาแสวงหาทองคำเหมือนกัน ในหนังสือทศชาติตอนพระมหาชนกได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิใจความว่าได้นำเรือไปทำการค้าขายที่สุวรรณภูมิเช่นกัน แต่เรือได้อับปางกลางทะเลเสียก่อนมีพระมหาชนกองค์เดียวที่รอดชีวิต ซึ่งดินแดนสุวรรณภูมินี้ทำให้พอทราบเค้าเงื่อนได้ว่า ชนชาวอินเดียนิยมแล่นเรือมาทำการค้าขายแสวงหาโชคลาภมานานแล้วแห่งหนึ่งในหลายๆแห่ง เมื่อราว พ.ศ.๖๐๐ มาก่อน

คัดมาจากหนังสือ "..ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก.." ที่ผู้เรียบเรียงเขียนในคำปรารภ เกี่ยวกับประวัติสาศตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชไว้

พังงา

พังงาขุดเมืองท่าอายุ 1,200 ปี
จากหนังสือ อนุสาร อสท ฉบับเดือน มิถุนายน 2546

เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณสถานแห่งชาติ ภูเก็ต เข้าขุดค้นโบราณสถานในตำบลเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา พบศาสนสถาน 3 แห่งมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือประมาณ 1,200 ปีที่ผ่านมา และสามารถขึ้นรูปบูรณะได้ รามถึงโบราณวัตถุอีกหลายร้อยชิ้น เช่น เครื่องแก้วโรมัน ลูกปัด ถ้วยโบราณสีเขียวจากเปอร์เซีย โดยโบราณวัตถุทั้งหมดที่ขุดพบจะเก็บไว้บริเวณที่ เดิมไม่นำออกไปจากพื้นที่แต่อย่างใดเมื่อบูรณะโบราณสถานบริเวณดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ พังงาจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ล้ำค่าทางประวัติศาสตร์มากที่สุดในย่านทะเลอันดามัน สอดคล้องกับการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัด และเป็น การกระจายรายได้สู่ชุมชนพื้นที่แห่งนี้กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตั้งแต่ปี 2478 เพราะเดิมเป็นเมืองท่าเชื่อมโยงการค้าระหว่างยุโรปไปยังจีน หรือจากเปอร์เซียไปยังจีน โดยมีคลองศรีเสนาที่ปากน้ำอยู่ในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า ปลายน้ำอยู่ในอำเภอกะปง และเมื่อแล่นเรือจนสุดปลายน้ำแล้วสามารถเดินเท้าไปยังคลองพุมดวง จังหวัดสุราษฎร์ธานีแห่งอาณาจักรศรีวิชัยได้ นับเป็นการเชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนโบราณระหว่างฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งทะเลอ่าวไทย

เทวรูปหินพระวิษณุ พระศิวะ และพระลักษมีทั้งสามองค์นี้เป็นฝึมือช่างปัลลวะในอินเดียใต้ (พุทธศตวรรษที่ 12-14) พบที่ตำบลเหล อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า ฯ ทรงดำรงพระยศเป็นพระมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จทอดพระเนตรเทวรูป 3 องค์ โผล่พระพักตร์และลำพระองค์ออกมาจากโคนต้นตะแบก ไม่มีผู้ใดทราบว่าแรกเริ่มเดิมที เทวรูปเหล่านี้อยู่ที่ใดมาก่อน หรือเคลื่อนย้ายมาแต่ที่ใดจึงถูกตะแบกหุ้มไว้เช่นนั้น ลักษณะทรงผมและผ้านุ่งห่มแสดงแบบอินเดียชัดเจนปัจจุบัน เทวรูปทั้งสามองค์นี้เก็บรักษาอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช

Takola

ระวัติศาสตร์ของตะโกลา

ระวัติศาสตร์ของตะโกลา Takola นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนับแต่โบราณมาแล้ว ในสมัยโบราณ วรรณคดี อินเดียได้กล่าวถึงเมือง ท่าสำหรับลงเรือมาทางตะวันออก คือ เมืองท่า ตาม์รลิป์ติ เมืองท่า อมราวดี เมืองท่า คอนจีเวรัม.เมืองท่าเหล่านี้ ตั้งเรียงกันอยู่ทางตะวันออก ของประเทศอินเดีย ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจะลึกเข้าไปในตัวประเทศ ก็ย่อมเดินทางมาสู่ท่าเรือเหล่านี้ ท่าใดท่าหนึ่งที่สะดวกที่สุด แล้วลงเรือที่นั้นมายัง"สุวรรณภูมิ"อันมีเมืองท่า Takola "ตะโกลา" เป็นเมืองท่าสำคัญและจะต้องถึง Takola "ตะโกลา" ก่อน บัดนั้นบัดนี้เป็นที่ยุติกันแล้วใน วงนักโบราณคดี ว่าได้แก่ "ตะกั่วป่า" (Takuapa)

แหลมมลายู หรือแหลมทองทั้งหมดนี้มีนามอีกอย่างหนึ่งว่า "สุวรรณภูมิ" ในภาษากรีก ตาม บันทึกภูมิประเทศปโตเลมี เรียกว่า "ไครเซ เคอโซนีส (Chryse Chersonesus) ซึ่งแปลว่า "แผ่นดินทอง" เหมือนกัน "แผ่นดินทอง" ของปโตเลมีนั้น เขากำหนดเขตไว้ในบันทึกของเขาว่า ทางตะวันตก ตั้งแต่ Takola ลงไปจนสุดแหลมแล้วอ้อมขึ้นมาถึงเมือง BALONKA ตะวันออก คำว่า "เมืองทอง"นี้เรียกกันมาพันกว่าปีแล้ว เมื่อสอบสวนวรรณคดี อินเดียในสมัยโบราณจนเป็นที่พอใจแล้วได้ยืนยันว่าเมื่อรวมแหลมทั้งหมดเข้าด้วยกันกับเกาะสุมาตรา เกาะชวาแล้ว วรรณคดีอินเดียโบราณเรียกว่า "สุวรรณทวีป"

ดินแดนที่เรียกว่า "สุวรรณทวีป" นี้ปรากฎจากร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุ แสดงว่า ได้มีชนชาติต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ ชาวอินเดีย ชาวจีน ชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย ชาวกรีก กระทั้งชาวโฟนิเซีย

สำหรับชนชาติโฟนิเซีย ซึ่งเป็นชาติที่เก่าแก่ที่สุด ดร.ริยินาล เลอ-เม กล่าวไว้ว่า "มีเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่า ชนชาวจีนเองได้มายังแหลมมลายูตั้งแต่ ยุคแรกๆโน้น เพื่อการหาดีบุก และยังเป็นไปได้ว่า แม้ชาว โฟนิเซีย ก็ ได้มาสู่ที่นี้เหมือนกันแม้จะมีหลักฐานแต่เพียงการได้พบเหรียญโลหะผสมจำนวนมาก เป็นเหรียญแบนๆ ด้านหนึ่งเกลี้ยง ด้านหนึ่งมีตราสี่เหลี่ยม เป็น ร่องลึกลงไป ซึ่งไม่เพียงแต่ขุดพบที่แถบแหลมมลายูของไทยเท่านั้น ยังขุดพบทั่วไปในหมู่เกาะ บอร์เนียว และหมู่เกาะอินโดนีเซียส่วน ฮอลันดาด้วย. เหรียญโบราณเก่าแก่ มีตราสี่เหลี่ยม เหล่านี้ เป็นเหรียญของ อาณาจักรลิเดีย (LYDIA) ตั้งแต่หกศตวรรษ ก่อนคริสต ศักราช นับรวมเข้า ในพวกเหรียญ โฟนิเซีย "

เมื่อดูจากเศษกระเบื้องต่างๆ ที่เกลื่อนกลาดอยู่ที่ริมทะเลของเมือง "ตะกั่วป่า"(Takuapa) ปัจจุบัน หรือ "ตะโกลา" (Takola) ในอดีต ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนได้นำ เอาเครื่องกระเบื้องของตนขนเข้ามาขายยังถิ่นนี้ตั้งแต่ 1,600 ปีมาแล้ว และชาวเปอร์เซีย ก็นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาขายด้วยตั้งแต่ 1,200 ปีมาแล้วเหมือนกัน ชาวกรีกได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 5 คือ ไม่น้อยกว่า 1,500 ปีมาแล้ว สำหรับชาวอาหรับ นั้นเรามีหลักฐานแน่นอน จากจดหมายเหตุของพวกอาหรับเอง ซึ่งแสดงให้เราทราบว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่ สมัย 1,100 ปี มาแล้วเหมือนกัน

แต่เรื่องราวที่จะกล่าวถึงเฉพาะการค้าขาย และการทำธุรกิจในสมัยโบราณของชาวอินเดียและเป็นประเด็นของการทำการค้าขายทางน้ำถือเอาเมืองท่าที่สำคัญของดินแดน" สุวรรณภูมิ" คือเมืองท่า Takola "ตะโกลา" เป็นหลัก


ตะโกลาในวรรณคดีของอิน

นวรรณคดีของอินเดียฝ่ายบาลี โดยเฉพาะคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้มีการกล่าวถึง เรื่องการเดินเรือไปยังสุวรรณภูมิ เหมือนกัน เช่น สังขชาดก เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ กลัวว่าเงิน สำหรับ ให้ทานในโรงทานของตนจะขาดมือ จึงลงเรือไปค้าขายทาง "สุวรรณภูมิ"หรือ ในมหาชาดก เล่าเรื่อง พระโพธิสัตว์ พระมหาชนก ขออนุญาตพระมารดาไปค้าขาย ยังสุวรรณภูมิเพื่อหาทรัพย์สินมากู้ราชบัลลังก์แล้วเรือแตกกลางทะเลจนนางเมขลาต้องช่วย

จะเห็นได้ว่าวรรณคดีของอินเดียฝ่ายบาลี เหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า ในสมัยที่แต่งคัมภีร์ชาดกนั้น ได้มีการเดินเรือมาค้าขายยังสุวรรณภูมิแล้ว และคำภีร์ชาดกนั้นแต่งกันตั้งแต่ราวสมัย ไม่น้อยกว่า สาม ศตวรรษ ก่อนคริสตศักราช นั้นคือไม่น้อยกว่า 2,300 ปีมาแล้ว

เมื่อกล่าวตามหลักแห่ง วิชาโบราณคดี คือถือเท่าที่หลักฐานพยาน ปรากฏอยู่เป็นวัตถุแล้ว เราอาจกล่าวได้ โดยการคำนวณจากจดหมายเหตุจีน หรือชิ้นวัตถุ เช่น เศษกระเบื้องสินค้า หรือแม้ แต่ รูปปฎิมากรรมต่าง ๆ ที่ตกอยู่เป็นเครื่องบอกเวลา ก็กล่าวได้แต่เพียงว่า เมื่อสัก 2,000 ปีมาแล้ว จึงเป็นอันยุติในชั้นนี้ ว่า ชาวอินเดีย ได้เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ในลักษณะของพ่อค้า และหา ดินแดนเมืองขึ้น นอกมาตุภูมิตั้งแต่ สมัยเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว

ในศตวรรษที่ 4 แห่งคริสตวรรษ(ราว พ.ศ. 900) งานออกแสวงหาดินแดน เพื่อตั้งบ้านเมือง ของชาวอินเดียได้เป็นไปอย่างเป็นปึกแผ่นทั่วดินแดนของสุวรรณภูมิ รวมทั้งทางอินโดจีน

นอกจาก TAKOLA"ตะโกลา"ตามชายฝั่งทางใต้ มีจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ชาวอินเดีย มาถึงและตั้งบ้านเมือง จุดนี้ได้แก่ เกดาห์ ในรัฐไทรบุรีบนยอด เขาเกดาห์(Kedah - Peak) มีโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ถึง พ.ศ.1100 และเป็นแบบเดียวกันที่ตะกั่วป่า (TAKOLA)

จาก เกดาห์นี้ก็มีทางเดินข้ามแหลม ไปยังฝั่งทะเลทางตะวันออก แต่เนืองจากความกว้าง ของแผ่นดินตรงนี้มีมาก จึงไม่ใช่วิสัยที่ ชาวอินเดีย จะใช้เป็นทาง คมนาคม ขนส่งและขนถ่ายสินค้าข้ามแหลม เหมือนที่ TAKOLA "ตะโกลา" หรือ ตะกั่วป่า (TAKUAPA) ปัจจุบันซึ่งใช้เป็นทางลำเลียงสินค้าข้ามแหลม ได้สะดวกและง่ายกว่า

ต่อไปนี้จะได้พิจารณากันถึงข้อที่ว่า ชาวอินเดียได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ( TAKOLA) ตะกั่วป่า และใช้เส้นทาง ตะกั่วป่า ไปยังอ่าวบ้านดอน ในการขนส่งสินค้า ไปยังฝั่งตะวันออก ของสุวรรณภูมิ เหตุใดชาวอินเดียจึงใช้เส้นทาง ตะกั่วป่า - รอบอ่าวบ้านดอน เป็นเส้นทางสำคัญสำหรับข้ามแหลม ทั้งที่ยังมีเส้นทางอื่นๆ อยู่อีกไม่น้อย เราจะทราบในเมื่อได้ศึกษาเรื่องราว ของ TAKOLA" ตะโกลา"จนเป็นที่เข้าใจ แล้วนั้นเอง ทำไม่ชาวอินเดียจึงไม่แล่นเรืออ้อมแหลม สิงคโปร์ โดยผ่าน ช่องมะละกา ก็เนื่องจากช่องมะละกาเต็มไปด้วยโจรสลัด เรือชาวอินเดีย และชาวเปอร์เซียเล็ก และมีคนเรือน้อยเกินไป ไม่สามารถที่จะสู้ โจรสลัดได้จึงนิยมข้ามแหลม ซึ่ง เป็นการปลอดภัยกว่า ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ก็คือว่าการขนถ่ายสินค้าข้ามแหลมที่ ตะกั่วป่า เป็นการรวดเร็วกว่า ทั้งไม่ต้องรับอันตรายจากมรสุม โดยไม่จำเป็น แม้ว่า ในศตวรรษ ที่ 4 แห่ง คริสตศักราชจะได้มีเรือจีนซึ่งใหญ่โตแข็งแรง และมีลูกเรือมากพอจะสู้กับโจรสลัดได้ ก็หาทำให้ การใช้เส้นทางข้ามแหลม ตรงตะกั่วป่า ไปยังอ่าวบ้านดอน ชะงักลงแต่อย่างใดไม่

ในตอนเริ่มต้นที่พ่อค้าชาวอินเดียและเปอร์เซีย รู้จักใช้ช่องมะละกาเป็นทางเดินเรือข้ามแหลม ก็นับว่าปลอดภัยอยู่บ้าง ครั้งการเดินเรือของพวกพ่อค้าเจริญขึ้นเพียงใดก็ยิ่งเป็นการเร้าสัญชาตญาน แห่งความเป็นนักยื้นแย่ง ของพวกสลัดมลายู ให้แรงกล้าขึ้นเพียงนั้น ข้อนี้ทำให้เกิดโจรสลัดขึ้นมาก ทั้งจากฝั่งสุมาตรา และฝั่งมะละกาเอง ปรากฎตามคำของ ฟาเหียนนักจาริกจีนว่า ในศตวรรษที่ 5 นั้นช่องมะละกาเงียบกริบไม่มีเรือพ่อค้าใดผ่าน เหตุการณ์อันนี้ ก็ทำให้เกิดความจำเป็นที่ต้องใช้ คมนาคม ขนส่งสินค้าข้ามแหลม จากตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอนและเหตุการณ์อันนี้เองที่ทำให้การเดินเรือไปถึง หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของชาวอินเดียได้เพลามือลง จนถึงกับเชื่อกันว่าเส้นทาง ข้ามแหลมตรงตะกั่วป่า ถึงอ่าวบ้านดอนนี้ ได้ประโยชน์ แม้แก่ผู้เดินทางจากอินเดียไปยังชะวาเพราะความจำเป็นในข้อที่ว่าไม่มีเรือกล้า ผ่านช่องมะละกา ในระยะกาลที่โจรสลัดลุกลามถึงที่สุด

อาจมีผู้คิดว่าเส้นทางตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอน ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นทางสำคัญดังกล่าวเพราะยังมีเส้นทางอื่นๆ ที่อาจใช้ข้ามแหลมได้อย่างเดียวกันคือเส้นทาง เกดาห์- กลันตัน เส้นทางข้าม คอคอดกระที่กระบุรี เส้นทางเมอกุย ถึงประจวบคีรีขันธุ์ ข้อนี้ได้มีการศึกษา และพิจารณากันแล้ว และพบความจริงว่าเส้นทางเกดาห์-กลันตัน นั้นกว้างเกินกว่าที่จะทำการลำเลียงขนถ่ายสินค้าได้สะดวก คงสะดวกเฉพาะคนที่จะข้ามเป็นส่วนใหญ่เส้นทางที่คอคอดกระถึงชุมพรนั้นเล่าก็ไม่อาจใช้ โดยเหตุผลหลายประการ คือที่ฝั่งกระ ไม่มีที่ทอดสมอ ที่กำบังลมเหมือนที่ตะกั่วป่า ซึ่งธรรมชาติ อำนวยที่สุด และชาวอินเดียเหล่านี้มิไช่มาเพียงการเดินทาง หรือขนถ่ายสินค้าในการแลกเปลี่ยน สินค้าอย่างเดียว แต่มาเพื่อตั้งภูมิลำเนาด้วย ที่คอคอดกระทั้งฝั่งตะวันตกและฝ่ายตะวันออกไม่มี ที่เหมาะแก่การทำนาอันเป็นกสิกรรมประจำชาวอินเดียเหล่านั้น

ฉะนั้นที่เส้นทางสายคอคอดกระนี้ จึงไม่มีร่องรอยอะไรที่เหลืออยู่ อันเป็นเครื่องแสดงว่าชาวอินเดียได้เคยใช้เส้นทางนี้ หรือตั้งภูมิลำเนาแถบนี้ ไม่มีโบราณวัตถุตกอยู่ ไม่มีโบราณสถาน หรือ ศิลปกรรมอื่นๆของชาวอินเดีย ปรากฎอยู่ เส้นทางเมอกุยถึงประจวบ ก็เป็นอย่างเดียวกัน มิหนำซ้ำ ยังอยู่เหนือเกินไปสำหรับชาวอินเดีย ผู้ประสงค์จะไปยังทะเลใต้ฉะนั้น จึงไม่มีร่องรอย ทางโบราณ คดี อันใดที่เส้นทางนี้ เช่นเดียวกับที่เส้นทางคอคอดกระแม้ว่า ในระยะหลัง คือในศตวรรษที่ 17 พวกมิชชั่นนารี จะได้ใช้เส้นทางนี้เพื่อไปยังอยุธยาบ้างก็ไม่เป็นเหตุผลอันใดที่แสดงว่าได้มีการใช้เส้นทางสายนี้โดยพวกอินเดียโบราณ พวกมิชชั้นนารี เหล่านั้นเป็นพวกเดินทางผ่าน แต่พวกอินเดีย เป็นพวกที่ต้องการตั้งภูมิลำเนาด้วย ดินแดนแถบนี้ ไม่อำนวยแก่การทำกสิกรรมเลย พื้นที่ทำ กสิกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของพวกที่ออกแสวงมาดินแดนใหม่


ะโกลาในเล้นทางสายไหม

างตะกั่วป่ามีที่ทอดสมอหลบมรสุมได้อย่างดี ทุกฤดูกาล ดร.ควอริตช์ เวลส์ กล่าวว่าเรือที่มาจากอินเดียใต้เมื่อเดินทางมาถึงหมู่เกาะอันดามัน จะต้องอ้อม หนึ่งเพื่อหลบภัยจากการแย่งของคนป่า บนหมู่เกาะเหล่านั้น อันมีเรือเล็กๆมีลูกศรเป็นอาวุธกล้าออกมารังแกเรือใหญ่ๆในเวลาคลื่นลมสงบ เมื่ออ้อมไปทางใต้ ไปตามช่องระหว่างหมู่เกาะอันดามัน กับหมู่เกาะนิโคบาร์แล้วเรือจะแล่นตรง ไปยัง ตะกั่วป่า อย่างเหมาะเจาะที่สุด

สำหรับทางฝั่งตะวันออกนั้น ก็มีอ่าวบ้านดอน ซึ่งประกอบด้วยเกาะและฝั่งอ่าวที่ อาจจะบัง มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรือ อาจทอดสมอได้อย่างสบายทุกฤดูกาล และที่สำคัญยิ่งไปกว่านี้ก็คือ อ่าวบ้านดอนมีแม่น้ำตาปี ลึกเข้าไป ทางตะกั่วป่า ก็มีแม่น้ำตะกั่วป่าเข้ามาทำให้มีการขนถ่ายสินค้า บนบก ตอนที่เชื่อมกันเหลือน้อยมาก ในสมัยโบรานแม่น้ำเหล่านี้ ยังลึกจนทำให้นักสำรวจเชื่อว่า การขนถ่ายสินค้าบนบกที่จะต้อง ทำระหว่างปลายแม้น้ำทั้งสองนั้นมีประมาณ สัก 5-6 ไมล์ เท่านั้น

เมื่อพิจารณากันในด้านภูมิประเทศ สำหรับทำกสิกรรม ก็จะเห็นได้ว่าแม้ทางฝั่ง ตะกั่วป่า จะไม่มีที่ดินอันเหมาะเจาะไม่มีที่ดินอันเหมาะสม เมื่อข้ามฝั่งมาทาง ตะวันออก ก็พบว่าที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นชนิดที่ชาวอินเดียรู้จักมาแล้วเป็นอย่างดี ตั้งแต่ยังอยู่ ในอินเดีย คือแบบราบ อันเกิดจากการตื้นเขินของสองฝั่งแม่น้ำอันใหญ่โตพอที่จะหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนมากมาย ได้ ดร.ควอริตช์ เวลส์ ได้เขียนว่า เพียงแต่ชาวอินเดียขึ้นฝั่งที่ ตะกั่วป่า เดินมุ่งมาทางตะวันออก พอสัก ว่าถึงสันแผ่นดิน (Watershed) เมื่อจวนถึงหมู่บ้านสก ยืนบนที่สูง แล้วมองไปยังทิศตะวันออก ข้างหน้าชาวอินเดียเหล่านั้นจะตื่นเต้นและร้องอุทานว่า "ดินแดนที่ฝันเห็น" (Land of Promise)นั้น เราได้มาถึงแล้ว อาจมีผู้คิดว่า แม่น้ำตะกั่วป่าเล็กเกินไปกว่าที่จะสนองความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าข้ามแหลมดังกล่าวนั้นได้ ข้อนี้จะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน ว่าความเปลี่ยนแปลง ของแม่น้ำนั้นมีมาก อย่างไม่น่าชื่อ เมื่อสมัยก่อน เรือสำเภาจีน ขนาดสมุทรเข้ามาได้ บัดนี้ แม้แต่เรือ เล็ก ๆ นั่งกัน 3-4 คน ก็ยังขึ้นลงลำบากเสียแล้วในทำนองเดียวกันแม่น้ำทางฝ่ายอ่าวบ้านดอนเริ่มตั้งแต่หมู่บ้านสก เป็นต้นทางที่อาจจะเริ่ม ใช้เรือเล็ก ๆล่องลงไป ตามลำน้ำคีรีรัฐ ซึ่งตอนล่างจะยิ่งกว้างขึ้นจนกระทั้งไปบรรจบ กับแม่น้ำตาปี

เมื่อพิจารณาถึงคลองตะกั่วป่าแล้วจากสภาพของข้อเท็จจริง นั้น คือซากเรือเดินทะเลขนาดใหญ่หลายลำจมลึก อยู่ใต้โคลนก้นคลอง ตอนปลายคลอง ในปัจจุบันนี้เรือลำเล็กก็ล่องไปมาไม่ได้ เว้นแต่ฤดูฝน คลองตะกั่วป่าในปัจจุบันมีอายุตั้ง สองพันปีขึ้นไป การตื้นเขินมีได้ด้วยอำนาจของกาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของธรรมชาติ รวมทั้งการทำเหมืองที่ปล่อยน้ำโคลน ลงไป ในคลองของมนุษย์เองด้วย ซึ่งทำให้ผู้ เหลือบตาดูอย่างผิวเผิน หรือเพียงนักท่องเที่ยวผ่านไปทาง รถยนต์หรือนักท่องเที่ยว ไปยังหมู่เกาะสิมิลัน ในทะเลอันดามัน ซึ่งเคยเป็นที่ทอดสมอเรือ กำบังลมมรสุม ของชาวอินเดียสมัยโบราณ

ความไม่คิดว่าเป็นแม่น้ำใหญ่ และจะไม่สามารถเชื่อว่าเป็นแม่น้ำใหญ่ที่ถูกใช้ในการขนถ่ายสินค้า ของชาวอินเดียในสมัยโบราณ พันกว่าปีมาแล้ว ที่ ตะกั่วป่า (TAKUAPA) หรือ ตะโกลา TAKOLA ในอดีต เป็นเหมือนปากประตูของดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนที่เปิดรับชาวอินเดีย เข้ามาตั้งบ้านเมืองจนดินแดนรอบอ่าวบ้นดอนเต็มไปด้วยซากโบราณสถาน

ฉะนั้นเราควรศึกษาเรื่องราวของ "ตะโกลา " TAKOLA ให้ละเอียดต่อไปอีกสักหน่อย ดร. ควอรัตช์ เวลส์ นักศึกษาโบราณคดีชาวอังกฤษได้มาสำรวจเส้นทางข้ามแหลม สายตะกั่วป่า ถึงอ่าวบ้านดอน เมื่อ พ.ศ. 2478โดยความมุ่งหมายที่จะค้นหารอยทางที่ชาวอินเดีย ได้ผ่านมาทางนี้ และเลยข้ามทะเล ไปทางอินโดจีนทางหนึ่งและอีกทางหนึ่งข้ามทะเล ลงทางใต้ไปยังประเทศ อินโดนีเซีย ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า อารยธรรม อินเดียและการทำมาค้าขาย ทำธุรกิจ ของ ชาวอินเดียโบราณ ได้ ย่างเหยียบลงที่แผ่นดิน "ตะโกลา" TAKOLA ในอดีต หรือ ตะกั่วป่า TAKUAPA ในปัจจุบัน เป็นแห่งแรก ข้ามแหลมมาทาง ตะวันออกถึงอ่าวบ้านดอน แล้ว จึง กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย

อย่างน่าสนใจเพียงไร ถ้าไม่มีเหตุการณ์ อันนี้แล้ว เชื่อว่าดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนโดยเฉพาะ ที่ไชยา คงไม่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ อยู่อย่างมากมาย และทั้งอินเดียกว่า เก่ากว่าที่พบทางถิ่น อื่น ๆ ที่เป็นปลายสายออกไป ฉะนั้นเราจะได้พิจารณาร่องรอยของชาวอินเดียที่มาทำการค้าขาย ทำ ธุรกิจ พร้อมทั้งนำเอา อารยธรรม อินเดีย มาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เริ่มต้นที่ "ตะโกลา" TAKOLA

ในส่วนของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ท่านที่สนใจหาอ่านได้จาก หนังสือของท่าน "พุทธทาสภิกขุ" เรื่อง "หนังสือแนวสังเขป ของโบราณคดี รอบอ่าวบ้านดอน" ซึ่งเนื้อหาสาระ และประวัติศาสตร์ของ เมือง ตะกั่วป่า (TAKUAPA) ปัจจุบัน หรือ ตะโกลา (TAKOLA) ในอดีต อยู่ในหนังสือเล่มนี้ผู้จัดทำ Web Site ได้ค้นคว้าแล้วนำเสนอ ให้ท่านผู้สนใจ ในประวัติศาสตร์ ของเมืองตะกั่วป่า ได้อ่านพอสังเขป และผู้จัดทำ Web Site จึงได้ตั้งชื่อ DOMAIN NAME ของผู้จัดทำ Web Site ใช้ชื่อว่า TAKOLA.COM ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมือง ตะกั่วป่าและเป็นบ้านเกิดของผู้จัดทำ Web Site เอง