Asd

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2552

เวตาล นิทานเรื่องที่ ๗

นิทานเรื่องที่ ๗

พระราชาตริวิกรมเสนเสด็จกลับไปยังต้นอโศก เห็นเวตาลอยู่ที่นั่น ก็จับมันเหวี่ยงขึ้นบ่า แล้วเดินทางกลับไปทางเดิม ระหว่างที่เดินทางมาเงียบ ๆ เวตาลก็กล่าวขึ้นว่า "อารยบุตรโปรดฟังหน่อย ข้ามีนิทานเรื่องหนึ่งจะเล่าให้พระองค์ฟัง เผื่อพระองค์จะได้คลายความเหน็ดเหนื่อยลงบ้าง"

มีเมืองเมืองหนึ่งตั้งอยู่บนฝั่งทะเลตะวันออกชื่อ เมืองตามรลิปติ นครแห่งนั้นมีพระราชาปกครองทรงนามว่าพระเจ้าจัณฑสิงห์ ผู้ทรงหันพระพักตร์จากภรรยาของผู้อื่น แต่ไม่เคยหันพระพักตร์หนีจากสนามรบ พระองค์ทรงกวาดต้อนทรัพย์สมบัติของอริราชศัตรู แต่ไม่เคยแตะต้องทรัพย์สินของแว่นแคว้นที่เป็นเพื่อนบ้าน

ครั้งหนึ่งมีเจ้าราชปุฏ(ชนพวกหนึ่งซึ่งอ้างตนเป็นราชบุตร โดยกล่าวว่าตนสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งในสมัยโบราณ) แห่งแคว้นแดกข่าน ชื่อว่าสัตตวศีล เดินทางมาถึงหน้าประตูพระราชวัง และประกาศตนเองให้รู้ว่าเป็นผู้ยากไร้แสนเข็ญ โดยฉีกเสื้อผ้าขี้ริ้วที่สวมใส่อยู่ต่อหน้าพระราชา พระราชาจึงโปรดให้เขาเป็นผู้รับอนุเคราะห์โดยมีฐานะเป็นข้าไทและอยู่รับใช้พระเจ้าแผ่นดินมาหลายปี แต่ก็หาเคยได้บำเหน็จรางวัลแม้แต่ครั้งเดียวไม่ เขาจึงกล่าวแก่ตัวเองด้วยความน้อยใจว่า "ถ้าเราเกิดในตระกูลกษัตริย์จริง ไฉนจึงยากจนถึงเพียงนี้เล่า ดู ๆ ไป ความยากจนนี้ก็ใหญ่หลวงเกินทน แต่เหตุใดท้าวธาดาพรหมจึงสร้างให้เราเป็นคนทะเยอทะยานใหญ่หลวงนัก เพราะถึงแม้เราจะรับใช้พระราชาองค์นี้มาอย่างขยันขันแข็ง และบริวารของเราก็เช่นเดียวกัน ต่างก็เดือดร้อนหิวโหยเหมือนกันกับเรา แต่พระราชาสิจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเราอยู่ในสายตาเลย"

ระหว่างที่เขารำพึงรำพันด้วยความน้อยใจนั้น วันหนึ่งพระราชาเสด็จเข้าไปล่าสัตว์ มีทหารม้าและทหารเดินเท้าแวดล้อมเป็นพลนิกายขบวนใหญ่ เข้าไปสู่ป่าใหญ่อันอุดมด้วยสัตว์ป่า มีเสวกผู้ต่ำต้อยวิ่งนำหน้า มือถือไม้ท่อนหนึ่ง หลังจากที่พระราชาไล่ล่าสัตว์อย่างสนุกสนานมาได้พักหนึ่งก็แลเห็นหมูป่าตัว หนึ่งวิ่งออกมาจากพุ่มไม้ตัดไปข้างหน้าก็ทรงควบม้าติดตามไปจนกระทั่งถึงป่า สูงอันรกชัฏและชุ่มชื้นร่มเย็น หมูป่าตัวนั้นก็หายไป พระราชารู้สึกเหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า หลงทางกับข้าราชบริพารไปแต่พระองค์เดียว มีเสวกผู้วิ่งนำหน้าม้าพระที่นั่งเท่านั้นที่อยู่เป็นเพื่อน ต่างคนต่างก็หิวโหยเต็มทีและกระหายน้ำจนคอแห้งผาก พระราชาแลดูเสวกผู้ต่ำต้อยซึ่งอุตส่าห์วิ่งมาอย่างเต็มที่ทั้ง ๆ ที่ม้าพระที่นั่งวิ่งเร็วราวกับลมพัด พระราชาตรัสถามด้วยความเมตตาว่า "เจ้าจำทางที่เรามาได้ไหม"

เสวกได้ฟังก็คุกเข่าลงกับพื้นประสานมืออัญชลีด้วยความนอบน้อมตอบว่า

"ข้าพระบาทจำทางได้ดี แต่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยเต็มที น่าจะพักอยู่ที่นี่ก่อน เพราะตอนนี้ดวงอาทิตย์ยังแผดแสงแรงกล้านัก อย่าเพิ่งเสด็จไปเลย"

พระราชาได้ยินดังนั้น ก็ตรัสแก่ชายหนุ่มอย่างอ่อนโยนว่า

"เอาเถิด เราจะพักอยู่ที่นี่ก่อน แต่ข้ากระหายน้ำเต็มที ถ้าเจ้ารู้ว่ามีน้ำอยู่ที่ไหนก็หามาให้ข้ากินเถอะ"

"ข้าพระบาทจะไปเดี๋ยวนี้" เสวกทูลรับอาสาทันที จัดแจงปีนขึ้นไปบนต้นไม้สูงต้นหนึ่ง มองไปเบื้องหน้าก็แลเห็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ไม่ไกลก็ปีนกลับลงมากราบทูลให้พระราชาทราบ และนำทางไปจนถึงแม่น้ำนั้น เมื่อไปถึงก็เอาอานม้าลง ปล่อยให้ม้ากินน้ำและนอนเกลือกกลิ้งไปมา จากนั้นก็หาหญ้าอ่อนมาให้มันกินอย่างอิ่มหนำ ทำให้มันสดชื่นขึ้นมาก ส่วนพระราชาก็เสด็จลงอาบน้ำในแม่น้ำนั้น เสวกก็ควักผลอามลกะ(มะขามป้อม) จากกระเป๋าสองสามผลถวายให้ทอดพระเนตร เมื่อพระราชาเห็นผลอามลกะก็ประหลาดพระทัย ถามว่าเขาเอามาจากไหน เสวกก็คุกเข่าลงแบมือที่มีผลอามลกะวางอยู่สองสามผล กราบทูลว่า

"พระเจ้าข้า เมื่อสิบปีมาแล้ว ข้าพระบาทยังชีพติดต่อกันมานานด้วยผลอามลกะเช่นนี้ ข้าพระบาทได้ปรนนิบัติพระราชาองค์หนึ่งด้วยความภักดี แต่พระองค์ก็มิได้พระราชทานอะไรให้เลย ข้าพระบาทต้องดำรงชีพแบบฤษี กินแต่ผลอามลกะเพื่อยังชีพไปวันหนึ่ง ๆ เท่านั้น"

พระราชาได้ฟังก็ตรัสว่า "อย่างนี้นี่เล่า เจ้าจึงสมกับชื่อของเจ้าว่า สัตตวศีล" ทรงตื้นตันพระทัยด้วยความสงสาร รำพึงในพระทัยว่า "ช่างน่าอายนักที่พระราชาไม่ได้สอดส่องทุกข์สุขของบ่าวไพร่เช่นนั้น ไม่รู้ว่าใครเดือดร้อนแค่ไหน จะช่วยได้อย่างไร ช่างน่าอายนักที่พวกขุนนางวางน้ำทั้งหลายก็เอาแต่เสพสุขเฉพาะตน แม้จะรู้ว่าคนทุกข์ยากลำเค็ญเป็นใครก็เงียบเฉย หาได้กราบทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทราบไม่" พระราชาคิดดังนั้นแล้วก็เห็นใจเสวกผู้ต่ำต้อยยิ่งนัก อย่างไรก็ดี ด้วยความหิวโหย พระองค์ก็จำต้องหยิบเอาผลอามลกะไปเสวยสองผล หลังจากเสวยเสร็จและดื่มน้ำแล้ว ก็นอนพักผ่อนเอาแรงชั่วระยะหนึ่งพร้อมด้วยเสวกผู้นั้น

ครั้นตื่นขึ้น เสวกก็เอาม้าทรงมาถวาย พระราชาเสด็จขึ้นม้าเดินทางต่อไป มีเสวกวิ่งนำหน้าเพื่อนำทางเสด็จ แม้พระราชาจะเมตตาโปรดให้เขาขึ้นขี่ม้าตัวเดียวกับพระองค์ แต่เขาก็เจียมตนไม่ยอมตามพระประสงค์ ในที่สุดพระราชาก็เสด็จกลับคืนพระนคร และพบกองทหารของพระองค์มารอรับอยู่แล้ว พระราชาโปรดให้ประกาศเกียรติคุณของเสวกผู้ภักดีเป็นเลิศ และประทานทรัพย์ศฤงคารเป็นอันมากแก่เขา พร้อมด้วยที่ดินหมู่บ้านอันเป็นส่วยเลี้ยงชีวิตอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นการตอบแทนบุญคุณที่เขามีต่อพระองค์เป็นอันมาก สัตตวศีลจึงกลายเป็นคนร่ำรวยมั่งคั่งตั้งแต่นั้น และยังคงปรนนิบัติพระราชาอยู่เหมือนเดิม

วันหนึ่งพระราชาจัณฑสิงห์ทรงมอบงานสำคัญให้แก่สัตตวศีลโดยสั่งให้เดินทางไปยังเกาะลังกา เพื่อเจรจาสู่ขอพระราชธิดาของกษัตริย์พระองค์นั้น เสวกหนุ่มออกเดินทางโดยเรือเดินทะเล สัตตวศีลกระทำบวงสรวงแก่ทวยเทพผู้คุ้มครองตน แล้วออกเดินเรือไปกับพราหมณ์คณะหนึ่งซึ่งพระราชาทรงแต่งตั้งให้ร่วมทางไปด้วย เมื่อเรือแล่นไปได้ครึ่งทางก็มีธงผุดขึ้นจากทะเลเป็นที่อัศจรรย์แก่ทุกคนในเรือลำนั้น ธงนี้สูงเด่นจนยอดแตะกล่มเมฆ ประดับด้วยทองคำและเครื่องหมายเหมือนธงทั้งหลายที่พลิ้วสะบัดอยู่ในายลม ในขณะนั้นเองกำแพงเมฆก็ตั้งขึ้นในท้องฟ้า เกิดสายฝนถั่งเทลงมาอย่างหนัก และพายุพัดกระหน่ำรุนแรง จนทำให้เรือถูกบังคับให้แล่นเข้าสู่ธงทองนั้นด้วยอำนาจของลมและฝน และถูกผูกติดกัน มีลักษณาการดังควาญช้างบังคับให้ผูกขาติดกับเสาตะลุงฉะนั้น และทั้งธงทั้งเรือก็ค่อย ๆ จมลงในมหาสาครอันบ้าคลั่ง

บรรดาพราหมณ์ที่อยู่ในเรือต่างก็ตื่นตระหนกตกใจกลัวตาย และตะโกนร้องเรียกให้พระเจ้าจัณฑสิงห์ช่วย เมื่อสัตตวศีลได้ยินเสียงพราหมณ์ร้องก็คิดถึงพระราชาผู้เป็นนาย ด้วยความภักดี จึงถือดาบมือหนึ่ง พันอาภรณ์เข้ากับตนอย่างทะมัดทะแมง กระโจนลงไปในเกลียวคลื่นเพื่อติดตามหมาสาเหตุแห่งภัยพิบัติ โดยดำน้ำลงไปตรงที่ธงผุดขึ้นมา และในทันทีที่เขาจมลงไป เรือลำนั้นก็ถูกกระแสน้ำและลมพัดพาไปไกล ทำให้เรือเคว้งคว้างไปมาครู่หนึ่งแล้ว ก็พาเอาทุกคนจมหายไปในทะเลลึก สู่ปากของอสูรทะเลที่กำลังกระเหี้ยนกระหือรือคอยทีอยู่

ส่วนสัตตวศีลเมื่อจมลงไปในท้องทะเล รู้สึกตัวว่าตกลงมาในนครแห่งหนึ่งอันงดงามโอฬาร ไม่แลเห็นทะเลอยู่ที่ใดเลย เมื่อแลดูรอบ ๆ ก็พบกับภาพอันวิจิตรสุดบรรยาย คือปราสาทราชวังที่หลังคาเป็นทองกระทบแสงอาทิตย์เป็นประกายวูบวาบ ตั้งอยู่บนเสาอันเรียงรายเป็นแถวทำด้วยเพชรมณีระยิบระยับไปทั่ว มีอุทยานแห่งหมู่ไม้และดอกไม้บานสะพรั่งใกล้กับทะเลสาบซึ่งมีน้ำใสกระจ่างราวกับแผ่นแก้ว ที่ทะเลสาบมีบันได้แก้วมณีสีต่าง ๆ ทอดลงสู่ผืนน้ำและในทะเลสาบนั้นเองมีเทวาลัยของพระทุรคาเทวีตั้งโดดเด่นเป็นสง่าราวกับภูผาพระสุเมรุ มีกำแพงหินสีงามและธงทิวเพชรพลอยเรียงรายอยู่โดยรอบ สัตตวศีลเข้าไปสู่ตีรถะของพระเทวี กระทำการบูชาด้วยใจศรัทธา กล่าวโศลกเทวีมาหาตมยันถวายบทหนึ่ง และนั่งพักด้วยความรู้สึกงงงวยราวกับตกอยู่ในความฝัน

ในระหว่างนั้น มีเทพอัปสรตนหนึ่งเปิดทวารเทวาลัยเข้ามา แผ่รัศมีสว่างโชติช่วงตรงหน้าเทวรูปพระเทวี นางมีเนตรยาวเรียวราวกับกลีบบัวอินทีวร(บัวสายสีน้ำเงินชนิดหนึ่ง) มีพักตร์เอิบอิ่มเช่นสมบูรณจันทร์ มียิ้มอันงามละมุนดังดอกไม้ มีสรีระอันแบบางละไมราวกับแท่งเทียนที่หล่อหลอมขึ้นมาจากใยรากพลับพลึง จะเปรียบความงามของนางโดยส่วนรวมก็คล้ายกับสระโบกขรณีที่เคลื่อนไหวได้นั่นเอง นางเดินผ่านฝูงนางบริวารเข้าไปสู่พระวิมาน(ส่วนลึกที่สุดในเทวาลัย เป็นที่สถิตของเทวรูป) ที่สถิตของเทวรูปและที่ที่สถิตของหัวใจสัตตวศีลในขณะเดียวกัน เมื่อนางกระทำการบูชาพระเทวีแล้วก็ออกมาจากพระวิมาน แต่หาได้ออกจากหัวใจของชายหนุ่มไม่ นางเข้าไปสู่ที่ว่างภายนอกวิหาร สัตตวศีลก็ติดตามนางไป พออกมาพ้นเทวาลัยชายหนุ่มก็แลเห็นนครอีกแห่งหนึ่งปรากฏตรงหน้า งามโอ่อ่าคล้ายกับอุทยายอันเป็นที่รวมแห่งความบันเทิงทั้งหลาย เมื่อเข้าไปสู่อุทยานสุตตวศีลก็แลเห็นนางนั่งอยู่บนแท่นซึ่งประดับประดาด้วยเพชรพลอย เขาจึงตามเข้าไปและนั่งลงเคียงข้างนาง นัยน์ตาจับจ้องแต่ใบหน้าของนางด้วยความเสน่หาเป็นล้นพ้น ราวกับบุรุษที่ปรากฏในภาพวาดมีลักษณะแน่วนิ่งฉะนั้น เพียงแต่มีแข้งขาอันสั่นเทิ้มและโลมาอันชูชันเพราะความปรารถนานางอย่างแรงกล้า เมื่อนางแลเห็นว่าเขามองนางด้วยความหลงใหลก็ยิ้มและพยักหน้าให้บริวารของนางถอยออกไป นางผู้บริวารทั้งหลายจึงกล่าวแก่ชายหนุ่มว่า

"ท่านมาสู่ที่นี่ในฐานะอาคันตุกะของเรา ฉะนั้นจงมีใจรื่นเริงต่อทุกสิ่งที่นายหญิงของพวกข้าจะเสนอแก่ท่่านเถิด จงลุกขึ้นไปอาบน้ำให้สะอาดแล้วมาบริโภคอาหาร"

เมื่อชายหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็รู้สึกชื่นมื่นขึ้น ค่อยลุกขึ้นอย่างมีเรี่ยวแรง เดินไปยังสระน้ำที่นางเหล่านั้นชี้ให้ และในขณะที่เขาดำลงไปในสระนั้น ก็โผล่ขึ้นแลดูโดยรอบด้วยความอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะปรากฏว่าเขาโผล่ขึ้นมากลางสระในสวนขวัญของพระราชาจัณฑสิงห์แห่งนครตามรลิปติ และทันทีที่แลเห็นเขาก็ต้องอุทานออกมาว่า

"อะโห นี่มันเรื่องอะไรกัน เดี๋ยวนี้เราอยู่ในอุทยานหลวง แต่เมื่อตะกี้เราอยู่ในนครอันงามโอฬารนี่ ความรื่นรมย์ที่มีอยู่ที่นั่นหายไป กลายเป็นความโศกเศร้าแสนศัลย์ที่นี่เพราะต้องแยกจากนางมา แต่นี่ก็มิใช่ความฝัน เพราะเราเห็นทุกอย่างในสภาพของคนที่ตื่นแล้วแท้ ๆ บัดนี้ความจริงก็แจ่มแจ้งแล้วว่า เราถูกนางในบาดาลแห่งนั้นหลอกเหมือนอ้ายโง่ตนหนึ่งนั่นเอง"

คิดดังนี้แล้ว สัตตวศีลก็ออกเดินท่องเที่ยวไปในสวนอย่างไร้จุดหมาย มีลักษณเหมือนคนบ้า มีความเสียใจอย่างลึกซึ้งที่ต้องพรากจากนางมาโดยไม่มีทางจะได้พบกันอีก เดินพลางร่ำไห้ด้วยใจรันทดผิดหวัง

บรรดาผู้รักษาอุทยานแลเห็นชายหนุ่มเดินกระเซอะกระเซิงอยู่ในสวนมีร่างกายอันเรี่ยราดด้วยเกสรดอกไม้สีเหลืองเต็มไปทั่วเช่นนั้น ก็รีบพากันไปกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ พระราชาจัณฑสิงห์ได้ฟังก็งุนงงในพระทัยยิ่งนัก เสด็จมาด้วยพระองค์เอง แลเห็นเสวกของพระองค์ตกอยู่ในสภาพที่น่าสงสารเช่นนั้นก็ทรงปลอบด้วยความปรานี ตรัสแก่เขาว่า

"เพื่อนรักของข้า นี่มันเรื่องอะไรกันเล่า ช่วยเล่าให้ข้าฟังทีสิ ข้าใช้ให้เจ้าเดินทางไปทำธุระในที่หนึ่ง แต่เจ้ากลับไปอีกที่หนึ่ง ลูกศรของเจ้าพลาดที่หมายเสียแล้วหรือ"

เมื่อสัตตวศีลได้ฟังรับสั่งเช่นนั้น ก็กราบทูลเรื่องราวที่เป็นมาทั้งหมดให้พระราชาฟัง พระราชาได้ฟังก็ฉงนพระทัยยิ่งนัก รำพึงแก่ตนเองว่า

"ช่างประหลาดอะไรอย่างนี้ ชายคนนี้เป็นวีรบุรุษอย่างไม่ต้องสงสัย เขาถูกความรักหลอกเล่นจนหัวปั่น แต่จะว่าไปข้ากลับยินดีด้วยซ้ำเพราะข้าได้โอกาสที่จะปลดเปลื้องหนี้แห่งบุญคุณที่เขามีต่อข้าเสียที"

ดังนั้นพระราชวีระจึงกล่าวแก่เขาว่า "เจ้าจงหยุดเศร้าโศกเสียทีเถิด ข้าจะพาเจ้ากลับไปทางเดิมเพื่อไปสู่นางอสุรีที่เจ้ารักด้วยตัวของข้าเอง" เมื่อปลอบโยนดังนี้แล้วก็รับสั่งให้เขาไปอาบน้ำและกินอาหาร เป็นการพักผ่อนเอาแรงไว้

วันรุ่งขึ้น พระราชาทรงมอบราชอาณาจักรแก่เหล่าเสนาบดีให้ช่วยดูแล แล้วเสด็จลงเรือแล่นใบไปในทะเลพร้อมด้วยสัตตวศีลซึ่งเป็นผู้นำทาง ทันทีที่เรือมาถึงครึ่งทาง สัตตวศีลก็แลเห็นคันธงมหัศจรรย์ผุดขึ้นจากน้ำทะเลพร้อมด้วยผืนธงอันสง่างามเหมือนที่เคยเห็นเมื่อครั้งก่อน จึงกราบทูลพระราชาว่า

"นั่นไงล่ะพระเจ้าข้า เสาธวัชอันยิ่งใหญ่ เครื่องหมายแห่งสมบัติอันหาค่ามิได้ผงาดโดเด่นอยู่ในทะเลอย่างสง่างาม ข้าพระบาทจะกระโดลงตรงนั้น ต่อจากนั้นพระองค์โปรดกระโดดตามข้าพระบาท ดำดิ่งลงไปตามเสาธงนี่แหละ"

ขณะที่สัตตวศีลกราบทูลอยู่นีั้เรือก็แล่นเข้าไปใกล้เสาธงทอง เป็นเวลาเดียวกับที่เสาธงกำลังเริ่มจะจมลง สัตตวศีลรีบกระโดดลงไปเป็นคนแรก พระราชาเป็นคนที่สองที่กระโดดตามลงไป ในไม่ช้าก็ปรากฏว่าทั้งสองคนลงมาถึงนครอันโอฬารพร้อมกัน พระราชาทรงตื่นพระทัยเป็นล้นพ้นต่อภาพที่ปรากฏเฉพาะหน้า หลังจากเสด็จเข้าไปบูชาเทวรูปพระแม่เจ้าปารวตีแล้ว ก็เสด็จกลับมานั่งข้างสัตตวศีล

ระหว่างนั้นเองในท่ามกลางแสงทองระยิบระยับ นางโฉมงามก็ปรากฏร่างแวดล้อมด้วยบริวารจำนวนมาก สัตตวศีลแลเห็นก็รีบกราบทูลละล่ำละลักว่า นั่นแหละคือนางยอดดวงใจของตน พระราชาทอดพระเนตรแล้วรู้สึกว่า ถึงนางจะงามเพียงไร แต่หาได้ผูกมัดพระองค์ให้คลั่งไคล้ได้ไม่ ดวงหทัยของพระองค์มีแต่ความว่างเปล่า หาได้มีเยื่อใยจต่อนางแม้แต่น้อย นางโฉมงามแลเห็นพระราชาผู้สง่างาม ประกอบด้วยลักษณะมหาบุรุษอันเด่นชัดเช่นนั้นก็ประหลาดใจรำพึงแก่ตนเองว่า

"ใครหนอช่างงามสง่าถึงเพียงนี้"

แล้วนางก็กลับเข้าไปในเทวาลัย กระทำนมัสการเทวรูปพระเทวี และอธิษฐาน ฝ่ายพระราชามีความรู้สึกดูหมิ่นต่อนาง ไม่ต้องการจะเห็นนางอีก จึงพาสัตตวศีลเดินเข้าไปพักผ่อนในสวน ในเวลาไม่นานนักนางแทตย์(จากศัพท์ไทตย หมายถึงอสูรพวกหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของพระกัศปเทพบิดรกับชายาองค์หนึ่งคือนางทิติ) โฉมงามกลับออกมาจากพระวิมาน หลังจากที่ได้อธิษฐานขอสามีที่ดีต่อพระเทวีแล้ว นางเรียกบริวารคนหนึ่งเข้ามาและกล่าวว่า "เพื่อนเอ๋ย ไปหาดูสิว่า ชายผู้งามสง่าเป็นมหาบุรุษที่ข้าเห็นเมื่อตะกี้เป็นใคร แล้วเชิญให้เขาเข้ามาเพื่อเราจะได้ต้อนรับเขาให้สมเกียรติ เราจะต้องต้อนรับเขาให้ดีเพราะเขาเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ สมควรจะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษ"

เมื่อนางบริวารได้รับคำสั่งเช่นนั้นก็รีบติดตามจนพบพระราชาอยู่ในสวนกำลังก้มลงกระทำอัญชลีอย่างนอบน้อม และนำสารของผู้เป็นายมากราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาผู้วีระกลับตรัสอย่างไม่แยแสด้วยเสียงอันเหยียดหยามว่า "สวนนี้ก็ให้ความรื่นรมย์แก่ข้าเพียงพอแล้ว ข้าจะปรารถนาความบันเทิงอะไรนอกเหนือไปจากนี้เล่า"

เมื่อนางบริวารนำความกลับมาแจ้งแก่นางอสูรผู้เป็นนาย นางก็คิดในใจว่าพระราชาองค์นี้ไม่ไยดีต่อเรา เพราะถือว่าพระองค์มีเกียรติยศสูงส่งยิ่งกว่าเรา ถ้ากระไรเราควรถวายการต้อนรับอย่างวิเศษสุดแก่พระองค์ดีกว่า ดังนั้นนางแทตย์จึงออกมาหาพระราชาด้วยตนเองที่อุทยาน และคิดว่าพระราชาองค์นี้ถูกส่งมาให้เป็นสวามีของนางด้วยผลบุญที่นางได้บูชาพระทุรคาเทวีนั่นเอง ขณะเมื่องนางยตรกายเข้ามานั้น บรรดารุกขชาติต่างก็ให้เกียรติแก่นางโดยค้อมกิ่งลงต่ำ หมู่มวลปักษินชาติก็ร้องเพลงอย่างไพเราะ และลดาวัลย์ก็กวัดไกวไปมาตามสายลมอ่อนรำเพย ปรายโปรยเกสรกุสุมรสลงสู่ร่างของนางมิขาดสาย เมื่อนางดำเนินเข้ามาใกล้วีรกษัตริย์ ก็ก้มลงถวายความเคารพอย่างนอบน้อม เชิญชวนให้พระองค์ทรงรับไมตรีของนาง

พระราชาได้ฟังก็ทรงชี้ไปที่สุตตวศีล และตรัสแก่นางว่า

"ข้าเดินทางมาที่นี่ก็เพื่อถวายการบูชาแด่องค์พระทุรคาตามที่ชายคนนี้เชิญชวน ข้าก็ได้บูชาพระเทวีแล้วด้วยธวัชอันงาม หลังจากนี้แล้วก็หมดภาระของข้า เจ้ายังมีอะไรจะมาเสนอข้าอีก"

เมื่อนางได้ฟังดังนั้นก็กล่าวว่า "ถ้ากระนั้นก็ทรงมาเถิด ข้าจะพาพระองค์ไปยังนครแห่งที่สองของข้า ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในสามโลกนี้"

เมื่อได้ฟังนางกล่าวจบ พระราชาก็สรวลเสียงกึกก้อง ตรัสว่า

"โอ๊ะโอ๋ เรื่องนั้นน่ะหรือ ชายคนนี้ได้เล่าให้ข้าฟังหมดแล้ว ถึงเรื่องวังอันมหัศจรรย์พร้อมด้วยทะเลสาบที่น่าลงไปอาบของเจ้านั่นแหละ"

นางโฉมงามได้ฟังก็กล่าวว่า "อารยบุตร ขออย่าตรัสอย่างนั้น ข้ามิได้มีเจตนาจะหลอกลวงพระองค์เลย ใครเล่าจะกล้าหลอกลวงบุคคลที่น่านับถืออย่างพระองค์ได้ ข้าเป็นดั่งทาสของท่านทั้งสองอยู่แล้ว จะเกรงอะไรอีก ขอเชิญเสด็จมากับข้าเถิด"

พระราชาได้ฟังก็ทรงตกลง พาสัตตวศีลไปด้วยพระองค์ เสด็จตามนางงามเข้าไปสู่วังชั้นในของนาง เมื่อเปิดประตูเข้าไปสู่วังอันงาม ก็ทอดพระเนตรเห็นสวนขวัญอันงดงามสุดพรรณนา ดารดาษไปด้วยพฤกษชาติซึ่งมีดอกบานตระการตาทุกหนทุกแห่ง นครภายในแห่งนี้มลังเมลืองไปด้วยแสงทองแสงแก้วระยิบระยับไปหมด ราวกับยอดภูผาพระสุเมรุอันเป็นที่ตั้งแห่งเมืองฟ้า นางแทตย์เชิญชวนให้พระราชาประทับบนบรรยงก์รัตนาสน์ที่รจิตไว้อย่างสุดบรรเจิด และถวายการต้อนรับด้วยอรรฆยะ (การต้อนรับผู้เป็นแขกด้วยการมอบเมล็ดข้าว หญ้าทูรวะ ดอกไม้ และน้ำ ให้แก่แขกผู้มาเยือน) และทูลพระราชาว่า

"โอ นโรดม ข้านี้เป็นธิดาของอสุรกาลเนมี(นามอสูรหรือรากษสตนหนึ่ง เป็นลูกของอสูรวิโรจนะ ผู้เป็นหลานของพญายักษ์ หิรัณยกศิปุ ถูกพระนารายณ์ฆ่าด้วยจักรสุทรรศน์) ผู้ทรงกิตติคุณอันประเสริฐแห่งเหล่าอสูรทั้งหลาย แต่พ่อของข้าละโลกไปสู่สวรรค์แล้ว โดยอาญาของพระวิษณุ(หรือพระนารายณ์ เป็นเทพสูงสุดองค์หนึ่งในจำนวนสามองค์ ซึ่งประกอบด้วยเทพอีกสองค์คือ พระศิวะ(อิศวร) และพระพรหม) ผู้เป็นพระจักรี(ผู้ทรงจักร (ชื่อสุทรรศน์)เป็นอาวุธ หมายถึงพระวิษณุ หรือพระนารายณ์) และนครแฝดที่ทรงแลเห็นนี้ ข้าได้รับมรดกมาจากบิดาของข้า เป็นนครอันเลิศที่รังสรรค์ด้วยฝีมือของพระวิศวกรรมัน(หรือวิศวกรรม)(เทพผู้เป็นนายช่างใหญ่แห่งสวรรค์) ผู้ใดอยู่ในปุระนี้จะปรารถนาอะไรก็จะได้ดังใจ เป็นที่ซึ่งความชราและความตายมิอาจมาเยี่ยมกรายเลย มาบัดนี้ข้ามีความนับถือพระองค์ดุจดังพ่อของข้า ตัวข้าและพระนครทั้งสองนี้เป็นของใต้ฝ่าพระบาทแล้ว"

กล่าวแล้วนางก็คุกเข่าลงกราบแทบบัวบาทของพระราชาแสดงการถวายตัว พระราชาจึงตรัสแก่นางว่า "ถ้าเป็นดั่งที่เจ้าพูด ข้าก็ขอมอบเจ้าไว้แก่เพื่อนข้าคือ สัตตวศีลผู้นี้ ผู้ซึ่งข้ารักเหมือนญาติสนิท"

เมื่อพระราชาผู้ทรงสิริดังพระทุรคาเทวีในร่างมนุษย์ตรัสถ้อยคำนี้ นางก็เข้าใจและยอมรับฟังโดยดี ด้วยประการฉะนี้ สัตตวศีลก็ได้บรรลุจุดสุดยอดแห่งความปรารถนาคือ ได้นางผู้เป็นยอดดวงใจ และได้เป็นราชันครองนครทั้งสองด้วยในขณะเดียวกัน พระราชาจึงตรัสแก่เขาว่า

"แน่ะ เจ้าเพื่อนยาก บัดนี้ข้าก็ได้ให้สิ่งที่เจ้าปรารถนาแล้วเป็นเครื่องตอบแทนผลอามลกะที่เจ้าเคยให้ข้ากินผลหนึ่งในสมัยก่อน แต่ข้าก็ยังเป็นหนี้เจ้าอยู่ ข้ายังไม่ได้ให้รางวัลแก่เจ้าเป็นอย่างที่สอง"

เมื่อพระราชาจัณฑสิงห์กล่าวแก่สัตตวศีลผู้ยืนก้มศีรษะอยู่ดังนั้นแล้ว ก็หัสมาตรัสแก่นางแทตยาสุรีว่า

"ทีนี้เจ้าจงแสดงหนทางที่จะนำข้ากลับพระนครเถิด"

นางอสูรได้ฟังดังนั้นก็ถวายกระบี่เล่มหนึ่งแก่พระราชาพร้อมทั้งแนะนำว่า "กระบี่วิเศษนี้ชื่อปราบสกลทิศ ไม่มีใครเอาชนะได้ พระองค์จงเอาติดตัวไปพร้อมด้วยผลไม้นี้ซึ่งมีคุณอันเลิศ ซึ่งเมื่อพระองค์ได้เสวยแล้วจะสามารถเอาชนะความแก่และความตายได้"

พระราชาทรงทราบวิถีที่นางกล่าวเป็นนัยดังนั้นแล้ว ก็กระโจนลงสู่บึงใหญ่ตามที่นางชี้ให้ และสิ่งที่เกิดตามมาก็คือ พระองค์ได้ผุดขึ้นในนครของพระองค์เองราวปาฏิหาริย์ ส่วนสัตตวศีลมิได้ติดตามไป เพราะได้เป็นราชาครองสองพระนคร ณ บาดาล พร้อมด้วยนางอสุรีโฉมงาม มีความสุขอยู่ในแดนทิพย์แห่งนั้นชั่วกาลนาน

"ข้าแต่เทวบุตร" เวตาลกล่าวหลังจากนิทานจบลงแล้วว่า "ข้ายังสงสัยอยู่ว่าใครกันแน่ระหว่างบุรุษทั้งสองนั้นที่กล้าหาญที่สุดในการโจนลงทะเล"

เมื่อเวตาลตั้งปุจฉาดังนี้ พระราชาตริวกรมเสนผู้ทรงเกรงคำสาปของเวตาลก็กล่าวว่า

"ถ้าจะให้ข้าตอบ ข้าก็ต้องบอกว่า สัตตวศีลนั่นแลคือคนที่กล้าหาญที่สุด เพราะเขากระโจนลงสู่สมุทร ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขาไม่รู้ถึงเหตุการณ์ และมิได้มีความหวังใด ๆ เลย ส่วนพระราชานั้นทรงทราบดีอยู่แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมื่อดำลงไปใต้น้ำเพื่อหาอะไรที่นั่น และพระองค์ก็มิได้ตกหลุมรักนางแทตยาสุรี เพราะพระองค์หาได้มีความปรารถนานางแต่ประการใดไม่"

ฝ่ายเวตาลเมื่อได้ยินพระราชาตรัสดังนั้นเป็นการละเมิดกติกา ก็หายแวบไปจากอังสาของพระราชา กลับไปสู่ต้นอโศกตามเดิม พระราชาก็เสด็จกลับไปยังที่นั้นอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะเอาตัวมันมาให้ได้ ทั้งนี้เพราะบุรุษผู้มีความรับผิดชอบต่องานที่ตนทำ ย่อมไม่ละทิ้งไปก่อนที่งานของตนจะสำเร็จลงตามสัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น