พบแหล่งโบราณคดีใหญ่สมัยราชวงศ์ถังและเปอร์เซียที่บ้านทุ่งตึก จ.พังงา เชื่อเป็นเมืองท่าโบราณชื่อ "ตักโกลา" อายุกว่า 1,300 ปี กรมศิลปากรเผยพบวัตถุโบราณล้ำค่าเพียบ ทั้งแหวนทองคำ ลูกปัดสารพัดสี พระหัตถ์ของพระโพธิสัตว์ พระพุทธรูปปางสมาธิ เตรียมส่งกระทรวงวิทยาศาสตร์หาอายุให้แน่ชัด
นายวีรสิทธิ์ ชูแสงทอง ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 15 จังหวัดภูเก็ต กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เปิดเผยว่า จากการดำเนินการสำรวจขุดค้นแหล่งโบราณคดีที่บ้านทุ่งตึก หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เหมืองทอง" ในพื้นที่ 100 ไร่ บนเกาะคอเขา ด้านทิศตะวันออกติดกับพื้นที่ป่าชายเลน หมู่ 4 ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา พบซากโบราณสถานขนาดเล็กจำนวน 7 หลัง ตั้งเรียงรายกัน ภายในขุดพบกระเบื้องดินเผามุงหลังคาจำนวนมาก บริเวณด้านนอกพบบ่อน้ำโบราณ 1 บ่อ คาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนโบราณชื่อ “ตักโกลา” ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุภูมิศาสตร์ปโตเลมี และคัมภีร์มหานิเทศ ราวพุทธศตวรรษที่ 7-16 ซึ่งเคยเป็นเมืองท่าการค้าสมัยโบราณอายุกว่า 1,300 ปี
ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 15 กล่าวต่อว่า สำหรับโบราณวัตถุที่ขุดพบจากโบราณสถานทั้ง 7 หลัง ประกอบด้วยภาชนะดินเผาพื้นเมืองเป็นเนื้อดินประดับด้วยลวดลายต่างๆ เช่น ลายประทับรูปทรงเรขาคณิต รูปสี่เหลี่ยม รูปหยักแบบฟันปลา ลายตาราง ฯลฯ นอกจากนั้นยังพบพวยกา ภาชนะใส่น้ำโบราณ ก่อนที่จะพัฒนาเป็นกาน้ำรูปทรงต่างๆ ในปัจจุบัน ภาชนะดินเผาของจีนสมัยราชวงศ์ถัง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือเมื่อ 1,300 ปีมาแล้ว ซึ่งนักประวัติศาสตร์ระบุว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่ชาวจีนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ดังกล่าว และมีการค้าขายส่งออกเครื่องถ้วยจีนกับต่างประเทศ
"การค้นพบดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าบริเวณบ้านทุ่งตึกเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการนำเข้าเครื่องถ้วยจีน เพื่อส่งขายยังประเทศอื่นๆ ต่อไป ที่สำคัญการค้นพบแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ ยังค้นพบภาชนะดินเผาเปอร์เซียเคลือบสีฟ้า ซึ่งน่าเสียดายว่าไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่จะบอกถึงรูปทรงได้ แต่จากการศึกษาทราบว่าภาชนะดังกล่าวเป็นของชาวเปอร์เซียที่แพร่หลายในยุคเดียวกับเครื่องเผาสมัยราชวงศ์ถัง นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมเป็นชิ้นส่วนพระหัตถ์ขวาถือลูกประคำของพระโพธิสัตว์ เทวรูปในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระคเนศวร์ พระพุทธรูปปางสมาธิและพระพิมพ์ดินเผาของไทย แสดงถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีต กระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมากด้วย” นายวีระสิทธิ์ กล่าว
นายวีรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ยังพบเครื่องประดับที่มีค่าอาทิ แหวนทองคำขนาดเล็ก ลูกปัดคาร์เนเลี่ยนลักษณะเป็นแก้วสารพัดสีทั้งสีน้ำเงิน เขียว แดง ขาว ดำและลูกปัดที่มีลวดลายต่างๆ โดยเฉพาะลูกปัดที่มีตาชั้นเดียว ลูกปัดแก้วใสเคลือบทับทองอยู่ด้านในที่หายากมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากประเทศอินเดียหรือตะวันออกกลาง ซึ่งจากการค้นพบแหล่งโบราณคดีอายุกว่า 1,300 ปีนี้ อธิบายได้ว่าเมืองนี้เป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมระบบการค้าทางทะเลระหว่างดินแดนแถบตะวันตก อาทิ อาหรับ อินเดีย รวมถึงทวีปยุโรปกับดินแดนแถบตะวันออก ที่มีจีนเป็นตลาดการค้าใหญ่
”การขุดค้นพบครั้งนี้ถือว่าเป็นการพบครั้งสำคัญของประเทศไทย ไม่เพียงแต่เป็นเมืองท่าการค้าขายสมัยโบราณ อายุมากกว่าหนึ่งพันปีก่อนที่จะมาเป็นสยามประเทศและประเทศไทยปัจจุบัน และยังค้นพบโบราณวัตถุที่มีค่าจำนวนมหาศาลด้วย หลักฐานที่ขุดพบครั้งนี้จะต้องนำไปพิสูจน์เพื่อกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงและศึกษาชุมชนโบราณของประเทศต่อไป” นายวีระสิทธิ์ กล่าว
แหล่งข้อมูล: หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ฉบับวันที่ 07 กรกฎาคม 2547
ลูกปัดตักโกลา ปริศนาสุวรรณภูมิ [30 ม.ค. 52 - 16:01]
เสน่หาลูกปัดไทยเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกแหล่งค้นพบลูกปัดของไทยมีอยู่ทุกภาค โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้
เสน่ห์ของลูกปัดทำให้คนใฝ่ฝันครอบครอง ใช้เป็นเครื่องประดับอันล้ำค่า ซื้อหากันในราคาสูง ราคาซื้อขายลูกปัดที่พบในประเทศไทยปัจจุบัน ราคาแพงที่สุดคือลูกปัดสุริยเทพ เม็ดหนึ่งราคาเลข 6 หลัก
และต่ำที่สุดคือลูกปัดอินโดแปซิฟิกตวงขายกันเป็นฝาขวด ฝาขวดละ 300-400 บาท
หากย้อนอดีตไปหาที่มาของลูกปัด จะเห็นว่าเงาประวัติศาสตร์ของลูกปัด เผยปริศนาบางอย่างให้เห็นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางการค้า เมืองในประวัติศาสตร์ และความสัมพันธ์ของคนระหว่างทวีป
เรื่องราวของลูกปัด นับจากวันนี้ไปถึงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2552 สามารถเข้าไปหาความรู้ได้จากนิทรรศการชั่วคราว ปริศนาแห่งลูกปัด ณ มิวเซียมสยาม สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ
เปิดให้ชมตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ในวันอังคาร-อาทิตย์
สถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ คือ กระทรวงพาณิชย์ แห่งเดิม ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 4 ถนนสนามไชย แขวงบรมราชวัง เขตพระนคร เปิดให้ชมฟรีตลอดรายการ
บาง ส่วนเสี้ยวความรู้จากนิทรรศการ บอกว่าลูกปัดทั่วโลกมีชื่อเรียกตามวัสดุที่นำมาสร้างสรรค์คือ ลูกปัดเมล็ดพันธุ์พืช ลูกปัดเปลือกหอย ลูกปัดดินเผา ลูกปัดปะการัง ลูกปัดหิน ลูกปัดแก้ว ลูกปัดแก้วน้ำเคลือบ
บางอย่างเรียกตามสีที่ทำ เช่น ลูกปัดแก้วสีเดียว ลูกปัดอำพันทอง ลูกปัดแก้วหลายสี ลูกปัดแก้วลายแถบ และลูกปัดแก้วมีตา เป็นต้น
เผ่าพันธุ์ใดนำลูกปัดมาใช้เป็นชาติแรกนั้น คงยากที่จะฟันธงได้ เพราะจากหลักฐานที่โบราณคดีที่ขุดค้น ปรากฏว่าพบลูกปัดกระจายอยู่ทั่วโลก
ถึงกระนั้นก็มีนักวิชาการคาดว่า มนุษย์เริ่มใช้ลูกปัดมาเมื่อประมาณ 45,000 ปี
ลูกปัดรุ่นแรกๆ ทำจากวัสดุใกล้ตัว คือ เปลือกไข่ กระดูกสัตว์ และปะการัง ฯลฯ
มนุษย์ นำลูกปัดมาใช้ทำอะไรบ้าง คำตอบคือ นำมาประดับเรือนกาย นำมาใช้เป็นเครื่องรางของขลัง และนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และนำใช้เป็นสินค้า
เพราะมนุษย์นำลูกปัดมาใช้เป็นสินค้านี้เอง ทำ ให้ลูกปัดท้องถิ่นต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนกันไปมา จนกลายเป็นสินค้าสำคัญ เมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกปัดก็กลายเป็นโบราณวัตถุอย่างหนึ่งที่ช่วยบอกร่องรอยการค้า และร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของเมืองท่าต่างๆ ที่มีการค้าขายกับประเทศอื่นๆ
ลูกปัดมีการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง เมื่อประมาณ 2,500 ปี มานี้เอง
หลังจากมนุษย์สามารถเดินเรือไปมาหาสู่กันได้ ลูกปัดชนิดต่างๆ และห้วงนี้เอง จากทวีปยุโรปไหลเข้ามาสู่สุวรรณภูมิ
คำ ว่าสุวรรณภูมิเป็นชื่อเรียกขานดินแดนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ อาจครอบคลุมไปทั้งพม่า ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ส่วนจุดใด จะเป็นจุดศูนย์กลางของสุวรรณภูมินั้น ปัจจุบันยังเป็นที่ทักท้วงและถกเถียงในเชิงวิชาการกันอย่างออกรส
แต่ละประเทศก็อ้างว่าประเทศของตนมีหลักฐาน และน่าจะเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรด้วยกันทั้งนั้น และลูกปัดก็เป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง
ลูกปัดขุดค้นเจอในแดนที่เจ้าของแผ่นดินเรียกตัวเองว่า สุวรรณภูมิ อย่างดินแดนพม่าในปัจจุบัน
ย้อนไปเมื่อพุทธศตวรรษที่ 4-10 ชาวพยูตั้งอาญาจักรชื่อศรีเกษตร อาณาจักรนี้ร่วมสมัยกับทวาราวดีในดินแดนของประเทศไทย มีการค้นพบว่ามีลูกปัดแล้ว
ไทย ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่บอกว่า คือดินแดนสุวรรณภูมิ แหล่งขุดค้นพบลูกปัด ในภาคกลาง เช่น บ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี เมืองอู่ทอง เขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี
และยังมีในเขตเมืองเก่าแก่ในจังหวัดลพบุรี ราชบุรี และนครปฐมเป็นต้น
ยัง มีขุดค้นพบในพื้นที่ภาคใต้เช่นที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ภูเขาทอง จังหวัดระนอง ท่าชนะ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตรัง และคลองท่อม จังหวัดกระบี่
บริเวณที่ขุดพบลูกปัดในภาคใต้ทั้ง 6 จังหวัด เกิดปัญหาเรื่องที่ตั้งของเมืองเมืองหนึ่งชื่อ ตักโกลา ว่าอยู่ในเขตจังหวัดใดกันแน่
ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล เปิดประเด็นแบบไม่สรุปเอาไว้ในหนังสือ ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ก่อน พ.ศ. 2000 ว่า คำว่า...ตักโกละ มีผู้กล่าวว่าคือเมืองตะกั่วป่าบนฝั่งตะวันตกของคอคอดกระ หรือใต้ลงไปกว่านั้น
แต่นายวีตลี่ นักโบราณคดีมีชื่อ...ได้หาเหตุผลมาบอกว่าอยู่บริเวณจังหวัดตรัง
เมื่อดูประวัติศาสตร์ของจังหวัดตรังก็พบว่ามีผู้สันนิษฐานว่าเมืองตรัง เป็นที่ตั้งของเมืองศูนย์กลางการค้าฝั่งทะเลตะวันตกชื่อเมืองตะโกลา
แต่เมื่อไปดูประวัติศาสตร์ของจังหวัดพังงา ก็ระบุว่าเคยเป็นเมืองท่าสินค้ามาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล จดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์ของชาวต่างชาติเอ่ยถึงเมืองนี้ว่า ตักโกลา
ซึ่งนักวิชาการสันนิษฐานว่าคือตะกั่วป่า เพราะพบโบราณวัตถุมีอายุในสมัยพุทธศตวรรษที่ 14-15
แต่ในหนังสือแผนที่ประวัติศาสตร์ (สยาม) ประเทศไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่า ราว พ.ศ. 500 เอกสารอินเดีย-ศรีลังกา เรียก ผืนดินแผ่นใหญ่อุษาคเนย์ว่า สุวรรณภูมิ ส่วนหมู่เกาะ เช่น สุมาตรา เรียกสุวรรณทวีป
บริเวณ ภาคใต้เป็นส่วนคาบสมุทรของสุวรรณภูมิ บรรดาพราหมณ์ พ่อค้าจากดินเดียเดินเรือเลียบชายฝั่งมาแลกเปลี่ยนสิ่งของ ทำให้มีเมืองท่าหรือสถานีการค้าทางทะเลสำคัญ มีชื่อในเอกสารโบราณว่าตะโกลา
และชี้ว่าตักโกลา “ปัจจุบัน คือบริเวณควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แล้วขนสินค้าตามลำน้ำและผ่านช่องเขาไปชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณนครศรีธรรมราช -สุราษฎร์ธานี
ถัดลงไปทางใต้ก็มีเช่นเดียวกันที่ไทรบุรี แล้วขนสินค้าผ่านช่องเขาไปยะลา-ปัตตานี
แท้ จริงแล้ว ตักโกลา ตั้งอยู่ที่ในเขตจังหวัดใดนั้น ก่อนจะตอบคงต้องย้อนคิดไปถึงเมืองสมัยก่อนที่ไม่มีอาณาเขตเหมือนปัจจุบัน แล้วคำตอบอาจอยู่ที่แต่ละจังหวัดรวมกันคือเมืองตักโกลาก็อาจเป็นได้
สำหรับลูกปัดที่พบในภาคใต้มีลูกปัดคาร์เนเลียน ลูกปัดหินอะเกต และมีลูกปัดแก้วสีสันต่างๆ และที่สำคัญมีหลักฐานว่า มีการผลิตขึ้นเองอีกด้วย
ลูก ปัดภาคใต้จุดที่พบมากที่สุดคือที่อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ มีทั้งลูกปัดหินอินโดแฟซิฟิก ลูกปัดลายแถบ ลูกปัดอำพันทอง ลูกปัดแก้วรูปหิน ลูกปัดแก้วโมเสก และลูกปัดนกแสงตะวัน
นาย แพทย์บัญชา พงษ์พานิช บอกความหมายและนัยของลูกปัดว่า แต่เดิมมาเป็นเครื่องประดับ ต่อมาเพิ่มความหมายโดยใส่ตราเข้าไปเป็นสัญลักษณ์หรือรูปต่างๆ
ต่อมามนุษย์มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี จึงนำโลหะมีค่าต่างๆ มาสร้างสรรค์เป็นลูกปัดรูปร่างต่างๆ
“ลูกปัดมิเพียงบอกแต่ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาเท่านั้น แต่ยังบอกความเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของมนุษยชาติอีกด้วย” นายแพทย์ บัญชาสรุป.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น