ประวัติศาสตร์ของตะโกลา
ประวัติศาสตร์ของตะโกลา Takola นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนับแต่โบราณมาแล้ว ในสมัยโบราณ วรรณคดี อินเดียได้กล่าวถึงเมือง ท่าสำหรับลงเรือมาทางตะวันออก คือ เมืองท่า ตาม์รลิป์ติ เมืองท่า อมราวดี เมืองท่า คอนจีเวรัม.เมืองท่าเหล่านี้ ตั้งเรียงกันอยู่ทางตะวันออก ของประเทศอินเดีย ทั้งนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าจะลึกเข้าไปในตัวประเทศ ก็ย่อมเดินทางมาสู่ท่าเรือเหล่านี้ ท่าใดท่าหนึ่งที่สะดวกที่สุด แล้วลงเรือที่นั้นมายัง"สุวรรณภูมิ"อันมีเมืองท่า Takola "ตะโกลา" เป็นเมืองท่าสำคัญและจะต้องถึง Takola "ตะโกลา" ก่อน บัดนั้นบัดนี้เป็นที่ยุติกันแล้วใน วงนักโบราณคดี ว่าได้แก่ "ตะกั่วป่า" (Takuapa)
แหลมมลายู หรือแหลมทองทั้งหมดนี้มีนามอีกอย่างหนึ่งว่า "สุวรรณภูมิ" ในภาษากรีก ตาม บันทึกภูมิประเทศปโตเลมี เรียกว่า "ไครเซ เคอโซนีส (Chryse Chersonesus) ซึ่งแปลว่า "แผ่นดินทอง" เหมือนกัน "แผ่นดินทอง" ของปโตเลมีนั้น เขากำหนดเขตไว้ในบันทึกของเขาว่า ทางตะวันตก ตั้งแต่ Takola ลงไปจนสุดแหลมแล้วอ้อมขึ้นมาถึงเมือง BALONKA ตะวันออก คำว่า "เมืองทอง"นี้เรียกกันมาพันกว่าปีแล้ว เมื่อสอบสวนวรรณคดี อินเดียในสมัยโบราณจนเป็นที่พอใจแล้วได้ยืนยันว่าเมื่อรวมแหลมทั้งหมดเข้าด้วยกันกับเกาะสุมาตรา เกาะชวาแล้ว วรรณคดีอินเดียโบราณเรียกว่า "สุวรรณทวีป"
ดินแดนที่เรียกว่า "สุวรรณทวีป" นี้ปรากฎจากร่องรอยของโบราณสถานและโบราณวัตถุ แสดงว่า ได้มีชนชาติต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ ชาวอินเดีย ชาวจีน ชาวอาหรับ ชาวเปอร์เซีย ชาวกรีก กระทั้งชาวโฟนิเซีย
สำหรับชนชาติโฟนิเซีย ซึ่งเป็นชาติที่เก่าแก่ที่สุด ดร.ริยินาล เลอ-เม กล่าวไว้ว่า "มีเหตุผลพอที่จะเชื่อได้ว่า ชนชาวจีนเองได้มายังแหลมมลายูตั้งแต่ ยุคแรกๆโน้น เพื่อการหาดีบุก และยังเป็นไปได้ว่า แม้ชาว โฟนิเซีย ก็ ได้มาสู่ที่นี้เหมือนกันแม้จะมีหลักฐานแต่เพียงการได้พบเหรียญโลหะผสมจำนวนมาก เป็นเหรียญแบนๆ ด้านหนึ่งเกลี้ยง ด้านหนึ่งมีตราสี่เหลี่ยม เป็น ร่องลึกลงไป ซึ่งไม่เพียงแต่ขุดพบที่แถบแหลมมลายูของไทยเท่านั้น ยังขุดพบทั่วไปในหมู่เกาะ บอร์เนียว และหมู่เกาะอินโดนีเซียส่วน ฮอลันดาด้วย. เหรียญโบราณเก่าแก่ มีตราสี่เหลี่ยม เหล่านี้ เป็นเหรียญของ อาณาจักรลิเดีย (LYDIA) ตั้งแต่หกศตวรรษ ก่อนคริสต ศักราช นับรวมเข้า ในพวกเหรียญ โฟนิเซีย "
เมื่อดูจากเศษกระเบื้องต่างๆ ที่เกลื่อนกลาดอยู่ที่ริมทะเลของเมือง "ตะกั่วป่า"(Takuapa) ปัจจุบัน หรือ "ตะโกลา" (Takola) ในอดีต ก็แสดงให้เห็นว่า ชาวจีนได้นำ เอาเครื่องกระเบื้องของตนขนเข้ามาขายยังถิ่นนี้ตั้งแต่ 1,600 ปีมาแล้ว และชาวเปอร์เซีย ก็นำเครื่องกระเบื้องของตนเข้ามาขายด้วยตั้งแต่ 1,200 ปีมาแล้วเหมือนกัน ชาวกรีกได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 5 คือ ไม่น้อยกว่า 1,500 ปีมาแล้ว สำหรับชาวอาหรับ นั้นเรามีหลักฐานแน่นอน จากจดหมายเหตุของพวกอาหรับเอง ซึ่งแสดงให้เราทราบว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับดินแดนส่วนนี้ตั้งแต่ สมัย 1,100 ปี มาแล้วเหมือนกัน
แต่เรื่องราวที่จะกล่าวถึงเฉพาะการค้าขาย และการทำธุรกิจในสมัยโบราณของชาวอินเดียและเป็นประเด็นของการทำการค้าขายทางน้ำถือเอาเมืองท่าที่สำคัญของดินแดน" สุวรรณภูมิ" คือเมืองท่า Takola "ตะโกลา" เป็นหลัก
ตะโกลาในวรรณคดีของอิน
ในวรรณคดีของอินเดียฝ่ายบาลี โดยเฉพาะคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ได้มีการกล่าวถึง เรื่องการเดินเรือไปยังสุวรรณภูมิ เหมือนกัน เช่น สังขชาดก เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ กลัวว่าเงิน สำหรับ ให้ทานในโรงทานของตนจะขาดมือ จึงลงเรือไปค้าขายทาง "สุวรรณภูมิ"หรือ ในมหาชาดก เล่าเรื่อง พระโพธิสัตว์ พระมหาชนก ขออนุญาตพระมารดาไปค้าขาย ยังสุวรรณภูมิเพื่อหาทรัพย์สินมากู้ราชบัลลังก์แล้วเรือแตกกลางทะเลจนนางเมขลาต้องช่วย
จะเห็นได้ว่าวรรณคดีของอินเดียฝ่ายบาลี เหล่านี้ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นโดยชัดเจนว่า ในสมัยที่แต่งคัมภีร์ชาดกนั้น ได้มีการเดินเรือมาค้าขายยังสุวรรณภูมิแล้ว และคำภีร์ชาดกนั้นแต่งกันตั้งแต่ราวสมัย ไม่น้อยกว่า สาม ศตวรรษ ก่อนคริสตศักราช นั้นคือไม่น้อยกว่า 2,300 ปีมาแล้ว
เมื่อกล่าวตามหลักแห่ง วิชาโบราณคดี คือถือเท่าที่หลักฐานพยาน ปรากฏอยู่เป็นวัตถุแล้ว เราอาจกล่าวได้ โดยการคำนวณจากจดหมายเหตุจีน หรือชิ้นวัตถุ เช่น เศษกระเบื้องสินค้า หรือแม้ แต่ รูปปฎิมากรรมต่าง ๆ ที่ตกอยู่เป็นเครื่องบอกเวลา ก็กล่าวได้แต่เพียงว่า เมื่อสัก 2,000 ปีมาแล้ว จึงเป็นอันยุติในชั้นนี้ ว่า ชาวอินเดีย ได้เข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิ ในลักษณะของพ่อค้า และหา ดินแดนเมืองขึ้น นอกมาตุภูมิตั้งแต่ สมัยเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว
ในศตวรรษที่ 4 แห่งคริสตวรรษ(ราว พ.ศ. 900) งานออกแสวงหาดินแดน เพื่อตั้งบ้านเมือง ของชาวอินเดียได้เป็นไปอย่างเป็นปึกแผ่นทั่วดินแดนของสุวรรณภูมิ รวมทั้งทางอินโดจีน
นอกจาก TAKOLA"ตะโกลา"ตามชายฝั่งทางใต้ มีจุดสำคัญอีกจุดหนึ่งที่ชาวอินเดีย มาถึงและตั้งบ้านเมือง จุดนี้ได้แก่ เกดาห์ ในรัฐไทรบุรีบนยอด เขาเกดาห์(Kedah - Peak) มีโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ถึง พ.ศ.1100 และเป็นแบบเดียวกันที่ตะกั่วป่า (TAKOLA)
จาก เกดาห์นี้ก็มีทางเดินข้ามแหลม ไปยังฝั่งทะเลทางตะวันออก แต่เนืองจากความกว้าง ของแผ่นดินตรงนี้มีมาก จึงไม่ใช่วิสัยที่ ชาวอินเดีย จะใช้เป็นทาง คมนาคม ขนส่งและขนถ่ายสินค้าข้ามแหลม เหมือนที่ TAKOLA "ตะโกลา" หรือ ตะกั่วป่า (TAKUAPA) ปัจจุบันซึ่งใช้เป็นทางลำเลียงสินค้าข้ามแหลม ได้สะดวกและง่ายกว่า
ต่อไปนี้จะได้พิจารณากันถึงข้อที่ว่า ชาวอินเดียได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับ ( TAKOLA) ตะกั่วป่า และใช้เส้นทาง ตะกั่วป่า ไปยังอ่าวบ้านดอน ในการขนส่งสินค้า ไปยังฝั่งตะวันออก ของสุวรรณภูมิ เหตุใดชาวอินเดียจึงใช้เส้นทาง ตะกั่วป่า - รอบอ่าวบ้านดอน เป็นเส้นทางสำคัญสำหรับข้ามแหลม ทั้งที่ยังมีเส้นทางอื่นๆ อยู่อีกไม่น้อย เราจะทราบในเมื่อได้ศึกษาเรื่องราว ของ TAKOLA" ตะโกลา"จนเป็นที่เข้าใจ แล้วนั้นเอง ทำไม่ชาวอินเดียจึงไม่แล่นเรืออ้อมแหลม สิงคโปร์ โดยผ่าน ช่องมะละกา ก็เนื่องจากช่องมะละกาเต็มไปด้วยโจรสลัด เรือชาวอินเดีย และชาวเปอร์เซียเล็ก และมีคนเรือน้อยเกินไป ไม่สามารถที่จะสู้ โจรสลัดได้จึงนิยมข้ามแหลม ซึ่ง เป็นการปลอดภัยกว่า ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ก็คือว่าการขนถ่ายสินค้าข้ามแหลมที่ ตะกั่วป่า เป็นการรวดเร็วกว่า ทั้งไม่ต้องรับอันตรายจากมรสุม โดยไม่จำเป็น แม้ว่า ในศตวรรษ ที่ 4 แห่ง คริสตศักราชจะได้มีเรือจีนซึ่งใหญ่โตแข็งแรง และมีลูกเรือมากพอจะสู้กับโจรสลัดได้ ก็หาทำให้ การใช้เส้นทางข้ามแหลม ตรงตะกั่วป่า ไปยังอ่าวบ้านดอน ชะงักลงแต่อย่างใดไม่
ในตอนเริ่มต้นที่พ่อค้าชาวอินเดียและเปอร์เซีย รู้จักใช้ช่องมะละกาเป็นทางเดินเรือข้ามแหลม ก็นับว่าปลอดภัยอยู่บ้าง ครั้งการเดินเรือของพวกพ่อค้าเจริญขึ้นเพียงใดก็ยิ่งเป็นการเร้าสัญชาตญาน แห่งความเป็นนักยื้นแย่ง ของพวกสลัดมลายู ให้แรงกล้าขึ้นเพียงนั้น ข้อนี้ทำให้เกิดโจรสลัดขึ้นมาก ทั้งจากฝั่งสุมาตรา และฝั่งมะละกาเอง ปรากฎตามคำของ ฟาเหียนนักจาริกจีนว่า ในศตวรรษที่ 5 นั้นช่องมะละกาเงียบกริบไม่มีเรือพ่อค้าใดผ่าน เหตุการณ์อันนี้ ก็ทำให้เกิดความจำเป็นที่ต้องใช้ คมนาคม ขนส่งสินค้าข้ามแหลม จากตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอนและเหตุการณ์อันนี้เองที่ทำให้การเดินเรือไปถึง หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของชาวอินเดียได้เพลามือลง จนถึงกับเชื่อกันว่าเส้นทาง ข้ามแหลมตรงตะกั่วป่า ถึงอ่าวบ้านดอนนี้ ได้ประโยชน์ แม้แก่ผู้เดินทางจากอินเดียไปยังชะวาเพราะความจำเป็นในข้อที่ว่าไม่มีเรือกล้า ผ่านช่องมะละกา ในระยะกาลที่โจรสลัดลุกลามถึงที่สุด
อาจมีผู้คิดว่าเส้นทางตะกั่วป่าถึงอ่าวบ้านดอน ไม่จำเป็นต้องเป็นเส้นทางสำคัญดังกล่าวเพราะยังมีเส้นทางอื่นๆ ที่อาจใช้ข้ามแหลมได้อย่างเดียวกันคือเส้นทาง เกดาห์- กลันตัน เส้นทางข้าม คอคอดกระที่กระบุรี เส้นทางเมอกุย ถึงประจวบคีรีขันธุ์ ข้อนี้ได้มีการศึกษา และพิจารณากันแล้ว และพบความจริงว่าเส้นทางเกดาห์-กลันตัน นั้นกว้างเกินกว่าที่จะทำการลำเลียงขนถ่ายสินค้าได้สะดวก คงสะดวกเฉพาะคนที่จะข้ามเป็นส่วนใหญ่เส้นทางที่คอคอดกระถึงชุมพรนั้นเล่าก็ไม่อาจใช้ โดยเหตุผลหลายประการ คือที่ฝั่งกระ ไม่มีที่ทอดสมอ ที่กำบังลมเหมือนที่ตะกั่วป่า ซึ่งธรรมชาติ อำนวยที่สุด และชาวอินเดียเหล่านี้มิไช่มาเพียงการเดินทาง หรือขนถ่ายสินค้าในการแลกเปลี่ยน สินค้าอย่างเดียว แต่มาเพื่อตั้งภูมิลำเนาด้วย ที่คอคอดกระทั้งฝั่งตะวันตกและฝ่ายตะวันออกไม่มี ที่เหมาะแก่การทำนาอันเป็นกสิกรรมประจำชาวอินเดียเหล่านั้น
ฉะนั้นที่เส้นทางสายคอคอดกระนี้ จึงไม่มีร่องรอยอะไรที่เหลืออยู่ อันเป็นเครื่องแสดงว่าชาวอินเดียได้เคยใช้เส้นทางนี้ หรือตั้งภูมิลำเนาแถบนี้ ไม่มีโบราณวัตถุตกอยู่ ไม่มีโบราณสถาน หรือ ศิลปกรรมอื่นๆของชาวอินเดีย ปรากฎอยู่ เส้นทางเมอกุยถึงประจวบ ก็เป็นอย่างเดียวกัน มิหนำซ้ำ ยังอยู่เหนือเกินไปสำหรับชาวอินเดีย ผู้ประสงค์จะไปยังทะเลใต้ฉะนั้น จึงไม่มีร่องรอย ทางโบราณ คดี อันใดที่เส้นทางนี้ เช่นเดียวกับที่เส้นทางคอคอดกระแม้ว่า ในระยะหลัง คือในศตวรรษที่ 17 พวกมิชชั่นนารี จะได้ใช้เส้นทางนี้เพื่อไปยังอยุธยาบ้างก็ไม่เป็นเหตุผลอันใดที่แสดงว่าได้มีการใช้เส้นทางสายนี้โดยพวกอินเดียโบราณ พวกมิชชั้นนารี เหล่านั้นเป็นพวกเดินทางผ่าน แต่พวกอินเดีย เป็นพวกที่ต้องการตั้งภูมิลำเนาด้วย ดินแดนแถบนี้ ไม่อำนวยแก่การทำกสิกรรมเลย พื้นที่ทำ กสิกรรมเป็นปัจจัยสำคัญของพวกที่ออกแสวงมาดินแดนใหม่
ตะโกลาในเล้นทางสายไหม
ทางตะกั่วป่ามีที่ทอดสมอหลบมรสุมได้อย่างดี ทุกฤดูกาล ดร.ควอริตช์ เวลส์ กล่าวว่าเรือที่มาจากอินเดียใต้เมื่อเดินทางมาถึงหมู่เกาะอันดามัน จะต้องอ้อม หนึ่งเพื่อหลบภัยจากการแย่งของคนป่า บนหมู่เกาะเหล่านั้น อันมีเรือเล็กๆมีลูกศรเป็นอาวุธกล้าออกมารังแกเรือใหญ่ๆในเวลาคลื่นลมสงบ เมื่ออ้อมไปทางใต้ ไปตามช่องระหว่างหมู่เกาะอันดามัน กับหมู่เกาะนิโคบาร์แล้วเรือจะแล่นตรง ไปยัง ตะกั่วป่า อย่างเหมาะเจาะที่สุด
สำหรับทางฝั่งตะวันออกนั้น ก็มีอ่าวบ้านดอน ซึ่งประกอบด้วยเกาะและฝั่งอ่าวที่ อาจจะบัง มรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเรือ อาจทอดสมอได้อย่างสบายทุกฤดูกาล และที่สำคัญยิ่งไปกว่านี้ก็คือ อ่าวบ้านดอนมีแม่น้ำตาปี ลึกเข้าไป ทางตะกั่วป่า ก็มีแม่น้ำตะกั่วป่าเข้ามาทำให้มีการขนถ่ายสินค้า บนบก ตอนที่เชื่อมกันเหลือน้อยมาก ในสมัยโบรานแม่น้ำเหล่านี้ ยังลึกจนทำให้นักสำรวจเชื่อว่า การขนถ่ายสินค้าบนบกที่จะต้อง ทำระหว่างปลายแม้น้ำทั้งสองนั้นมีประมาณ สัก 5-6 ไมล์ เท่านั้น
เมื่อพิจารณากันในด้านภูมิประเทศ สำหรับทำกสิกรรม ก็จะเห็นได้ว่าแม้ทางฝั่ง ตะกั่วป่า จะไม่มีที่ดินอันเหมาะเจาะไม่มีที่ดินอันเหมาะสม เมื่อข้ามฝั่งมาทาง ตะวันออก ก็พบว่าที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ และเป็นชนิดที่ชาวอินเดียรู้จักมาแล้วเป็นอย่างดี ตั้งแต่ยังอยู่ ในอินเดีย คือแบบราบ อันเกิดจากการตื้นเขินของสองฝั่งแม่น้ำอันใหญ่โตพอที่จะหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนมากมาย ได้ ดร.ควอริตช์ เวลส์ ได้เขียนว่า เพียงแต่ชาวอินเดียขึ้นฝั่งที่ ตะกั่วป่า เดินมุ่งมาทางตะวันออก พอสัก ว่าถึงสันแผ่นดิน (Watershed) เมื่อจวนถึงหมู่บ้านสก ยืนบนที่สูง แล้วมองไปยังทิศตะวันออก ข้างหน้าชาวอินเดียเหล่านั้นจะตื่นเต้นและร้องอุทานว่า "ดินแดนที่ฝันเห็น" (Land of Promise)นั้น เราได้มาถึงแล้ว อาจมีผู้คิดว่า แม่น้ำตะกั่วป่าเล็กเกินไปกว่าที่จะสนองความสะดวกในการขนถ่ายสินค้าข้ามแหลมดังกล่าวนั้นได้ ข้อนี้จะต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน ว่าความเปลี่ยนแปลง ของแม่น้ำนั้นมีมาก อย่างไม่น่าชื่อ เมื่อสมัยก่อน เรือสำเภาจีน ขนาดสมุทรเข้ามาได้ บัดนี้ แม้แต่เรือ เล็ก ๆ นั่งกัน 3-4 คน ก็ยังขึ้นลงลำบากเสียแล้วในทำนองเดียวกันแม่น้ำทางฝ่ายอ่าวบ้านดอนเริ่มตั้งแต่หมู่บ้านสก เป็นต้นทางที่อาจจะเริ่ม ใช้เรือเล็ก ๆล่องลงไป ตามลำน้ำคีรีรัฐ ซึ่งตอนล่างจะยิ่งกว้างขึ้นจนกระทั้งไปบรรจบ กับแม่น้ำตาปี
เมื่อพิจารณาถึงคลองตะกั่วป่าแล้วจากสภาพของข้อเท็จจริง นั้น คือซากเรือเดินทะเลขนาดใหญ่หลายลำจมลึก อยู่ใต้โคลนก้นคลอง ตอนปลายคลอง ในปัจจุบันนี้เรือลำเล็กก็ล่องไปมาไม่ได้ เว้นแต่ฤดูฝน คลองตะกั่วป่าในปัจจุบันมีอายุตั้ง สองพันปีขึ้นไป การตื้นเขินมีได้ด้วยอำนาจของกาลเวลา และการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของธรรมชาติ รวมทั้งการทำเหมืองที่ปล่อยน้ำโคลน ลงไป ในคลองของมนุษย์เองด้วย ซึ่งทำให้ผู้ เหลือบตาดูอย่างผิวเผิน หรือเพียงนักท่องเที่ยวผ่านไปทาง รถยนต์หรือนักท่องเที่ยว ไปยังหมู่เกาะสิมิลัน ในทะเลอันดามัน ซึ่งเคยเป็นที่ทอดสมอเรือ กำบังลมมรสุม ของชาวอินเดียสมัยโบราณ
ความไม่คิดว่าเป็นแม่น้ำใหญ่ และจะไม่สามารถเชื่อว่าเป็นแม่น้ำใหญ่ที่ถูกใช้ในการขนถ่ายสินค้า ของชาวอินเดียในสมัยโบราณ พันกว่าปีมาแล้ว ที่ ตะกั่วป่า (TAKUAPA) หรือ ตะโกลา TAKOLA ในอดีต เป็นเหมือนปากประตูของดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนที่เปิดรับชาวอินเดีย เข้ามาตั้งบ้านเมืองจนดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนเต็มไปด้วยซากโบราณสถาน
ฉะนั้นเราควรศึกษาเรื่องราวของ "ตะโกลา " TAKOLA ให้ละเอียดต่อไปอีกสักหน่อย ดร. ควอรัตช์ เวลส์ นักศึกษาโบราณคดีชาวอังกฤษได้มาสำรวจเส้นทางข้ามแหลม สายตะกั่วป่า ถึงอ่าวบ้านดอน เมื่อ พ.ศ. 2478โดยความมุ่งหมายที่จะค้นหารอยทางที่ชาวอินเดีย ได้ผ่านมาทางนี้ และเลยข้ามทะเล ไปทางอินโดจีนทางหนึ่งและอีกทางหนึ่งข้ามทะเล ลงทางใต้ไปยังประเทศ อินโดนีเซีย ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า อารยธรรม อินเดียและการทำมาค้าขาย ทำธุรกิจ ของ ชาวอินเดียโบราณ ได้ ย่างเหยียบลงที่แผ่นดิน "ตะโกลา" TAKOLA ในอดีต หรือ ตะกั่วป่า TAKUAPA ในปัจจุบัน เป็นแห่งแรก ข้ามแหลมมาทาง ตะวันออกถึงอ่าวบ้านดอน แล้ว จึง กระจายไปทั่วเอเชียอาคเนย์
อย่างน่าสนใจเพียงไร ถ้าไม่มีเหตุการณ์ อันนี้แล้ว เชื่อว่าดินแดนรอบอ่าวบ้านดอนโดยเฉพาะ ที่ไชยา คงไม่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ อยู่อย่างมากมาย และทั้งอินเดียกว่า เก่ากว่าที่พบทางถิ่น อื่น ๆ ที่เป็นปลายสายออกไป ฉะนั้นเราจะได้พิจารณาร่องรอยของชาวอินเดียที่มาทำการค้าขาย ทำ ธุรกิจ พร้อมทั้งนำเอา อารยธรรม อินเดีย มาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ เริ่มต้นที่ "ตะโกลา" TAKOLA
ในส่วนของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ท่านที่สนใจหาอ่านได้จาก หนังสือของท่าน "พุทธทาสภิกขุ" เรื่อง "หนังสือแนวสังเขป ของโบราณคดี รอบอ่าวบ้านดอน" ซึ่งเนื้อหาสาระ และประวัติศาสตร์ของ เมือง ตะกั่วป่า (TAKUAPA) ปัจจุบัน หรือ ตะโกลา (TAKOLA) ในอดีต อยู่ในหนังสือเล่มนี้ผู้จัดทำ Web Site ได้ค้นคว้าแล้วนำเสนอ ให้ท่านผู้สนใจ ในประวัติศาสตร์ ของเมืองตะกั่วป่า ได้อ่านพอสังเขป และผู้จัดทำ Web Site จึงได้ตั้งชื่อ DOMAIN NAME ของผู้จัดทำ Web Site ใช้ชื่อว่า TAKOLA.COM ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเมือง ตะกั่วป่าและเป็นบ้านเกิดของผู้จัดทำ Web Site เอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น