Asd

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2552

Suvarnabhumi (สุวรรณภูมิ)

"...เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ ชุ่มฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์ มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู..." ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชส่วนใหญ่จะทราบดีว่า นี่คือคำขวัญเมืองนครศรีธรรมราช จากคำขวัญที่ว่าเมืองประวัติศาสตร์นั้น นครศรีธรรมราชมีอะไรบ้างที่แสดงถึงความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เรามีพระธาตุทองคำอยู่หนึ่งองค์ มีกำแพงเมืองเหลืออยู่นิดหนึ่ง นอกนั้นมีโบราณสถานและโบราณวัตถุกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆของจังหวัด ซึ่งบางแห่งอยู่ไกลจากสายตาของแขกผู้มาเยือน ทำให้มอง
อดีตของนครศรีธรรมราชได้ไม่ชัดเจนนัก หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแทบจะไม่มี
เหลืออยู่เพื่อให้อนุชนรุ่นหลังพอที่จะค้นคว้าได้เลย
ขอแสดงความชื่นชมพี่น้องชาวจังหวัดสงขลาและจังหวัดพัทลุง ที่ยังมีจวนเจ้าเมืองไว้อวดแขกผู้มาเยือน ทั้งๆที่เมืองเหล่านี้คือเมืองที่อยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช แต่นครศรีธรรมราชไม่มีสิ่งนี้ อาจจะเป็นเพราะชาวนครศรีธรรมราชเองได้ช่วยกันทำลายอดีตของตนเอง โดยร่วมมือกับผู้มีอำนาจบางคนเพราะความไม่รู้ตัวจึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ และเนื่องด้วยประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จึงขาดผู้สนใจที่จะร่วมกันจัดทำ ไม่เหมือนกับประวัติศาสตร์ระดับชาติที่มีผู้สนใจ ร่วมกันจัดทำอย่างมากมายนครศรีธรรมราชเป็นเมืองเก่าแก่ (นานไปจะเป็นเมืองเก่าเก็บถ้าไม่มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม )ที่สุดเมืองหนึ่งในคาบสมุทรมลายู หลักฐานที่พอจะสืบค้นถึงอดีตของเมืองนี้ได้มาจาก ตำนาจาก จดหมายเหตุของชนต่างชาติ จากศิลาจารึก จากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา และจากประวัติศาสตร์ของชาติไทยบางยุคบางสมัย จึงทำให้ประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราช ขาดตอนเป็นห้วงๆตามหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ต่อเนื่องเป็นโยงใยอย่างสายน้ำ เนื้อหาบางตอนจึงดูเหมือนกระโดดไปกระโดดมาชวนให้เกิดข้อกังขาไม่น้อย กษัตริย์ที่ครองนครศรีธรรมราชในตำนานนี้ก็หาได้เรียงลำดับอย่างถูกต้องแต่อย่างใดก็หาไม่ และกษัตริย์บางพระองค์ก็เหมือนกับมีชีวิตอยู่ในนิยาย และก็เช่นเดียวกันเกี่ยวกับศักราชและปี พ.ศ.ต่างๆที่ปรากฏในตำนานนี้ ขออย่าได้ถือเป็นสรณะ ขอเพียงแต่เป็นเค้าเงื่อนในการสืบค้นเท่านั้น สำหรับความจริงและความเชื่อถือเกี่ยวกับตำนานเล่มนี้ ผู้เรียบเรียงไม่รับรองเพราะเป็นการค้นคว้าอดีตของนครศรีธรรมราชมาเสนอเท่านั้น ส่วนท่านผู้อ่านจะคิดอย่างไร ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของท่านเอง ผู้เรียบเรียงจึงตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า " ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก "

เมืองนครศรีธรรมราชในอดีตเป็นเมืองที่ใหญ่มาก มีเมืองใน 12 นักษัตร ขึ้นตรงอยู่กับเมืองนครศรีธรรมราชและในบรรดาเมืองต่างๆ 12 เมืองนี้ก็มี เมืองตะกั่วป่ารวมอยู่ด้วย การที่จะเริ่มเขียนประวัติศาสตร์ทางใต้ ซึ่งหลาย เมืองในภาคใต้จะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในอดีตกาลทั้งนี้รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านเรา จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึง เมืองสุวรรณภูมิในอดีต และในที่นี้ก็จักต้องกล่าวถึงเมือง ตะโกลา ก่อนเสมอเช่นกัน

ประวัติศาสตร์ นครศรีธรรมราชและสุวรรณภูมิได้มีชื่อปรากฏเป็นหลักฐานขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๗–๑๐ เริ่มต้นจากปรากฏเนื้อความกล่าวพาดพิงถึงดินแดนแห่งนี้ ในเอกสารโบราณของอินเดียในคัมภีร์มหานิเทศ ซึ่งแต่งในราวพุทธศตวรรษที่๗ ได้กล่าวถึงเมืองชายทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งมีความตอนหนึ่งว่า “……เมื่อแสวงหาโภคทรัพย์ ย่อมแล่นเรือไปในมหาสมุทร ไปคุมพะ(ติคุมพะ) ไปตักโกละ ไปตักศิลา ไปกาลมุข ไปมรณปาระ ไปเวสุงคะ ไปเวรบถ ไปชวา ไปกะมะลิง ไปวังกะ (วังคะ) ไปเวฬวัททนะ (เวฬุพันธนะ) ไปสุวรรณกูฎ ไปสุวัณณภูมิ ไปตัมพปาณนิ ……
ในบรรดาเมืองเหล่านี้ ปรากฏว่ามีชื่อเมืองที่เกี่ยวข้องในดินแดนสุวรรณภูมิอยู่ ๓ เมืองคือ

  1. เมืองตักโกละ (เมืองตะกั่วป่า) นับเป็นเมืองชายทะเลที่เปิดทำการค้าขายกับชนต่างชาติ มานานในอดีต ชาวโรมันในสมัยราชวงศ์ปโตเลมีแห่งอาณาจักรอเล็กชานเดรียในอิยิปต์ เคยแล่นเรือมาทำการค้าขายกับเมืองนี้ ได้เรียกชื่อเมืองนี้เพี้ยนไปเป็น ตักโกละ (Takola) ซึ่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๘๐๐ ชาวโรมันได้เคยแล่นเรือมาทำการค้าขายในดินแดนแถบนี้ โดยได้พบซากหัวเรือ โลหะโบราณและตะเกียงชาวโรมันในลำน้ำสายหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงมาจากเมืองตะกั่วป่า ทำให้พออนุมานได้ว่า เมืองตะกั่วป่าเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่เปิดประตูไปสู่สุวรรณภูมิในอดีต
  2. กะมะลิง (ตะมะลิง) เป็นชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ชาวอินเดียรู้จักในามของเมืองนครศรีธรรมราชท่านศาสตราจารย์ ปรณะวิตานะ(Paranavitana) นักปราชญ์ชาวลังกามีความเห็นว่า คำว่า ตมะลิ(Tamali) บวกกับคำว่า คัม(Gam) เป็นคำว่า ตมลิงคัม(Tamalingam) หรือ ตมลิงคม(Tamlingama) ซึ่งเป็นคำในภาษาสิงหล ตรงกับคำว่า ตามพรลิงค์ในภาษาสันสกฤต อันเป็นชื่อของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองท่าที่มีความสำคัญในอดีต โดยเฉพาะเป็นการเรียกชื่อของชาวอินเดีย
  3. สุวัณณภูมิ คำว่าสุวรรณภูมิเป็นชื่อดินแดนที่เป็นที่รู้จักดีของชาวอินเดียในอดีต ซึ่งเดินเรือมาทำการค้าขาย กล่าวกันว่าเป็นดินแดนแห่งทองคำ คงจะเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำมาหากินคล่องหาทรัพย์สมบัติได้ง่าย เลยเรียกว่าสุวรรณภูมิ ในหนังสือชินกาลมาลินีซึ่งแต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระชาวเชียงราย ได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิซึ่งมีชาวอินเดียแล่นเรือมาแสวงหาทองคำเหมือนกัน ในหนังสือทศชาติตอนพระมหาชนกได้กล่าวถึงเมืองสุวรรณภูมิใจความว่าได้นำเรือไปทำการค้าขายที่สุวรรณภูมิเช่นกัน แต่เรือได้อับปางกลางทะเลเสียก่อนมีพระมหาชนกองค์เดียวที่รอดชีวิต ซึ่งดินแดนสุวรรณภูมินี้ทำให้พอทราบเค้าเงื่อนได้ว่า ชนชาวอินเดียนิยมแล่นเรือมาทำการค้าขายแสวงหาโชคลาภมานานแล้วแห่งหนึ่งในหลายๆแห่ง เมื่อราว พ.ศ.๖๐๐ มาก่อน

คัดมาจากหนังสือ "..ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ประวัติศาสตร์ในสายหมอก.." ที่ผู้เรียบเรียงเขียนในคำปรารภ เกี่ยวกับประวัติสาศตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น