Asd

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

นิทานเวตาล

คำนำ

แม้จะมีการเล่านิทานเวตาลสู่กันฟังมาไม่ต่ำกว่าพันปี ทั้งโดยปากต่อปากและลายลักษณ์อักษร แต่มันกลับมีชีวิตชีวาอยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนอยู่เสมอ โดยเฉพาะตัวเวตาลผู้มีบุคลิกโดเด่นด้านความเจ้าเล่ห์แสนกล และช่างพูดข่างเจรจา"เวตาล น่าจะเป็นปีศาจจำนวนไม่กี่ตนในโลกนี้ที่ผู้คนเกลียดและกลัวไม่ลง

ในแวดวงวรรณกรรม เรื่องปรัมปราเรื่องนี้ กลายเป็นตัวอย่างอ้างอิงของวิชาการวรรณกรรมสมัยใหม่แทบทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงงานเขียนแบบเรื่องซ้อนเรื่อง หรือ Metafiction

งานเขียนแบบ Metafiction ตลอดจนทฤษฏีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นผลจากการที่นักวรรณกรรมตะวันตกเบื่อหน่ายกับวรรณกรรมสัจนิยมเหมือนจริง ที่ครอบงำวัฒนธรรมวรรณกรรมตะวันตกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ การค้นพบทฤษฎีเรื่องซ้นเรื่องเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ จึงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นดีใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเขียนสมัยใหม่

สำหรับโลกตะวันออก รูปแบบเรื่องซ้อนเรื่องมีมานานตั้งแต่ผู้คนเริ่มรู้จักการสื่อสารกันด้วย "เรื่องเล่า" ก็ว่าได้ เรื่องรูปแบบนี้เป็นผลผลิตของการสื่อสารแบบมุขปาฐะ จากนิยาย นิทานเรื่องเดี่ยว แก่นเดียว ก็แต่กแยกย่อยออกไปเป็นหลาย ๆ เรื่อง แล้วแต่จะแพร่กระจายออกไปกว้างขวางเพียงไหน โดยที่"แก่นเรื่อง" จะคงเดิม เปลี่ยนไปก็แต่องค์ประกอบแวดล้อม เช่น ชื่อตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ สัญลักษณ์ เท่านั้น ในเชิงวิชาการ เรื่องซ้อนเรื่องจึงถือเป็นพัฒนาขั้นสูงที่สุดของนิทานชาวบ้าน

วรรณคดีอินเดียโบราณ ทั้งที่เขียนโดยภาษาบาลีและสันสกฤต ปรากฎรูปแบบการเขียนชนิดเรื่องซ้อนเรื่องอยู่จำนวนมาก เรื่องเอกส่วนใหญ่คือคัมภีร์ศาสนาหรืออรรถกถาธรรม อันมีแก่นแกนว่าด้วยความดี ความงาม ความจริง การหลุดพ้น ถึงขั้น "สัจจะ" ที่ไม่อาจมีอะไรมาสั่นคลอนได้ นิทานย่อย ๆ จำนวนมากที่เกิดขึ้นภายใต้เรื่องเอกเหล่านี้ จึงมีส่วนเสริมให้แก่นของเรื่องเอกคมชัดกาวววาวและหนักแน่นน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

ในระดับของการเล่าเรื่อง นิทานที่ซ้อนเข้าไปในโครงเรื่องใหญ่จะทำให้เรื่องในโครงเรื่องใหญ่เข้าใจง่ายขึ้น ผู้แต่งจะใช้กลวิธีให้ตัวละครในเรื่องใหญ่เป็นผู้เล่าเรื่อง มีการผูกปมปริศนา ตั้งปัญหา สุดท้ายจะเฉลยปัญหา และชี้ทางเลือก

น่าอัศจรรย์ที่นิทานเวตาลเป็นได้ทั้งรากเหง้า และพัฒนาการขั้นสูงสุดของเรื่องเล่าแนวนี้

นักอ่านชาวไทยคุ้นเคยกับนิทานเวตาลของ น.ม.ส. เป็นอย่างดี แม้ว่าจะทรงแปลไว้เพียง ๑๐ เรื่อง จากต้นฉบับ ๒๕ เรื่อง สาระบันเทิงจากนิทานเวตาลฉบับนี้อาจเห็นได้จากการที่มีผู้จัดรายการโทรทัศน์ นำไปสร้างเป็นละครจนได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อหลายปีก่อน

เวตาลปัญจวิงศติ โดย อาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา เล่มนี้ กล่าวได้ว่าเป็นนิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์ของบรรณพิภพไทย เพราะท่านแปลจากต้นฉบับดั้งเดิมที่พิมพ์ด้วยอักษรเทวนาครี ครบทั้ง ๒๕ เรื่อง

ด้วยเหตุนี้ นอกจากความบันเทิงแล้ว สิ่งที่นิทานเวตาลฉบับสมบูรณ์จะให้แก่ผู้อ่าน จึงลึกไปถึงโลกทัศน์และชีวทัศน์อินเดียดั้งเดิม นับเป็นหนทางย้อนกลับสู่การศึกษา "รากเหง้าแห่งวิถีตะวันออก" ได้เป็นอย่างดี



http://sukumal.brinkster.net/meaploy/vetal/