Asd

วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พุทธศาสนายุค พ.ศ.๕๐๐-๘๐๐ (Buddhism in B.E. 500-800)

หลังจากที่พระเจ้าปุษยมิตรแห่งราชวงศ์สุ งคุได้ทำลายพุทธศาสนาลงอย่างหนัก ทำให้สถานการณ์พุทธศาสนาโดยรวมอ่อนแอลงอย่างมากแต่ศาสนาพราหมณ์เริ่มได้รับ การสนับสนุนฟื้นฟูมากขึ้น ราชวงศ์สุงคะปกครองอยู่ ๑๐๒ ปีจึงสิ้นสุดลง ต่อมาจึงปกครองด้วยราชวงศ์กานวะ ราชวงศ์นี้ส่วนมากเป็นพุทธศาสนิกชนจึงทำให้สถานการณ์พุทธศาสนาดีขึ้นมาก ราชวงศ์นี้มีกษัตริย์ปกครอง ๔ พระองค์ รวมเวลา ๔๕ ปี ในยุคนี้ได้มีพระมหากษัตริย์ที่มีเดชานุภาพยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในอินเดียทาง เหนือโดยสายเลือด พระองค์ไม่ใช่ชาวอินเดียอารยัน แต่เป็นเชื้อสายฝรั่งกรีก ผู้ที่ทำให้พุทธศาสนาแผ่ไพศาลในอินเดียเหนือและเลยไปถึงเอเชียกลาง พระองค์คือพระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์ตามสำเนียงกรีก

๑.พระเจ้ามิลินท์ (King Milinda)

เหรียญตราของพระเจ้ามิลินท์

พระ เจ้ามิลินท์ (Milinda) หรือเมนันเดอร์ (Menander) ได้ขยายอิทธิพลลงมาถึงเมืองตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำคงคา ปรากฏในตำนานฝ่ายบาลีและฝ่ายจีนว่า ตอนแรกพระองค์มิได้เลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้ขัดขวางพุทธศาสนาด้วยพระราโชบายต่าง ๆ อนึ่ง เนื่องจากพระองค์เป็นผู้แตกฉานในวิชาไตรเพทและศาสนาปรัชญาต่าง ๆ รวมทั้งพุทธศาสนาด้วย จึงได้เที่ยวประกาศโต้วาทีกับเหล่าสมณะพราหมณ์ ก็สามารถเอาชนะสมณะพราหมณ์เหล่านั้นรวมทั้งพระภิกษุในพุทธศาสนา ขนาดภิกษุสงฆ์พากันอพยพหนีออกจากนครสาคละ (ปัจจุบันอยู่ในเขตปากีสถาน) จนหมดสิ้น เมืองสาคละว่างภิกษุสงฆ์อยู่ถึง ๑๓ ปี จนกระทั้งคณะสงฆ์ต้องเลือกสรรค์ ส่งพระภิกษุหนุ่มผู้เจนจบพระไตรปิฎกและลัทธินอกพระศาสนาองค์หนึ่งชื่อ พระนาคเสนขึ้น ข้อความที่อภิปรายปุจฉาวิสัชนากันนั้นต่อมามีผู้รววบรวมขึ้นเรียกว่า มิลินทปัญหา (Milindapanha) คัมภีร์มีทั้งในฉบับสันสกฤตและบาลี ในฉบับสันสกฤต ให้ชื่อว่า "นาคเสนภิกษุสูตร" ได้มีผู้แปลถ่ายออกสู่ภาษาจีนประมาณพันปีเศษมาแล้ว ส่วนภาษาบาลีนั้นพระพุทธโฆษาจารย์ คันธารจนาจารย์ ชาวมคธ เป็นผู้แต่งคำนิทาน และคำนิคมประกอบเข้าไว้ในมิลินทปัญหาเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๙ ส่วนเนื้อธรรมอันเป็นตัวปัญหามิได้กล่าวไว้ว่าผู้ใดแต่ง อย่างไรก็ดีในฉบับสันสกฤตได้บอกชาติภูมิของพระนาคเสนว่าเป็นแคว้นกัศมีระ ในฉบับบาลีกล่าวว่า

พระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสน

ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์บิดาชื่อโสณุตตระอาศัยอยู่ ณ กชังคลคาม ข้างภูเขาหิมาลัย เป็นข้อความตรงกัน (ภูเขาหิมาลัยตั้งต้นจากแคว้น กัศมีระ (Kashmir) ของอินเดียผ่านเนปาล ธิเบต ภูฐาน สิกขิมจดชายแดนพม่า) ในยุคนั้นพุทธศาสนานิกายสรวาส ดิกวาทิน กำลังเจริญรุ่งเรืองอยู่ พระนาคเสนอาจจะสังกันนิกายนี้ และคัมภีร์ฝ่ายจีนกล่าว่า พระนาคเสนได้รจนาคัมภีร์ตรีกายศาสตร์ด้วยผลของการอภิปราย นับเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงต่อพุทธศาสนา เพราะพระนาคเสนชนะ ส่วนพระเจ้ามิลินท์ยอมจำนนเกิดพระราชศรัทธาปสาทะในพุทธศาสนาเพราะทรงแจ่ม แจ้งในพุทธธรรมโดยตลอดมา วาระสุดท้ายของพระองค์ทรงสวรรคตที่ในกระโจมที่พัก และมีการพิพาทกันระหว่างเจ้าเมืองต่างๆ ของอินเดีย และมีการแจกพระอัฐิของพระเจ้ามิลินท์แก่เมืองต่าง ๆ คล้ายกับพระศาสดา หลังจากการสวรรคตของพระเจ้ามิลินท์แล้ว กษัตริย์กรีกที่ปกครององค์ต่อมาอ่อนแออาณาจักรจึงแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อย พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์นี้คือพระเจ้าเฮอมีอุส (Hermaeus) ก่อนที่อาณาจักรจะแตกสลายพร้อมกับการขยายอำนาจของพวกสกะ (Sakas) จากเอเชียกลางเข้าครอบงำอาณาจักรของพระเจ้ามิลินท์เดิม เมื่อทราบประวัติพระเจ้ามิลินท์แล้ว ควรที่จะได้ทราบประวัติของพระนาคเสน พอสมควรดังนี้


๒.พระนาคเสน (Nagasena)

ท่านนับว่าเป็นผู้ทำให้พระเจ้ามิลินท์กลับมานับถือพุทธศาสนา และสนับสนุนเป็นอย่างดี ในมิลินทปัญหากล่าวว่า พระนาคเสนเกิดที่เมืองกชังคละ แถบภูเขาหิมาลัย บิดาเป็นพราหมณ์ชื่อว่าโสณุตตระ ในวัยเด็กอายุ ๗ ขวบได้ศึกษาไตรเพทและศาสตร์อื่น จนเจนจบ จึงถามบิดาว่ามีศาสตร์อื่นที่จะต้องเรียนบ้างไหม บิดาตอบว่ามีเท่านี้ ต่อมาวันหนึ่งได้พบพระโรหนะมาบิณฑบาตที่บ้านบิดา เกิดความเลื่อมใสจึงให้บิดานิมนต์มาที่บ้านถวายภัตตาหารและคิดว่าพระรูปนี้ต้องมีศิลปวิทยามาก จึงขอศึกษากับพระเถระ พระเถระกล่าวว่า ไม่อาจสอนผู้ที่ไม่บวชได้ จึงของบิดาบวชที่ถ้ำรักขิต ได้ศึกษาพุทธศาสนากับพระโรหนเถระ
ต่อมาเมื่ออายุ ๒๐ ปีก็ได้รับการอุปสมบท วันหนึ่งเกิดตำหนิอุปัชฌาย์ในใจว่าอุปัชฌาย์ของเราช่างโง่จริง ให้เราศึกษาพระอภิธรรมก่อนเรียนสูตรอื่น ๆ พระโรหณะผู้อุปัชฌาย์ทราบกระแสจิตจึงกล่าวว่า พระนาคเสนคิดอย่างนี้หาถูกต้องไม่ พระนาคเสนทราบว่าพระอุปัชฌาย์รู้วาระจิตของตน จึงตกใจและขอขมา แต่พระเถระกล่าวว่า เราจะให้อภัยได้ง่าย ๆ ไม่
พระนาคเสนต้องไปทำภารกิจอย่างหนึ่งที่สำคัญคือต้องไปโปรดพระเจ้ามิลินท์ที่ เมืองสาคละ ให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยก่อนจึงจะอภัยให้ และแล้วพระโรหนะก็ส่งไปศึกษาเพิ่มเติมกับพระอัสสคุตตะ ที่วัตตนิยเสนาสนะวิหารเมืองสาครพักอยู่ ๗ วัน พระเถระจึงยอมรับเป็นศิษย์ ต่อมาได้แสดงธรรมเทศนาให้เศรษฐีท่านหนึ่งฟังจนทำให้เขาบรรลุโสดาบัน และเมื่อมาไตร่ตรองคำสอนที่ตนสั่งสอนอุบาสกก็บรรลุโสดาบันตาม ต่อมาไม่นานจึงเดินทางจากสาคละไปสู่ปาฎลีบุตร พักที่อโศการามแล้วศึกษาธรรมกับพระธรรมรักขิตจนจบภายใน ๖ เดือนพระนาคเสนเดินทางไปบำเพ็ญเพียรที่รักขิตคูหาเป็นเวลานาน ในที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหันต์ คณะสงฆ์ทั้งหลายจึงอนุโมทนาแล้วประกาศให้ท่านไปโต้วาทะกับพระยามิลินท์ พระนาคเสนจึงเดินทางไปนครสาคละ แล้วพบพระเจ้ามิลินท์ที่นั้น เมื่อได้ตอบโต้ปัญหากับพระเจ้ามิลินท์แล้ว ทำให้พระองค์เกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาขึ้นมา และเปล่งว่าจาถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต


๓.กำเนิดพระพุทธรูป (Creation of Buddha image)

ทฤษฎีการกำเนิดพระพุทธรูป ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่มีประเด็นที่น่าพิจารณาอยู่ ๓ ประเด็นคือ

พระพุทธรูปแบบคันธาระ ศิลปะกรีกโรมัน

๑.เชื่อว่าพระพุทธรูปเกิดมาในสมัยที่พุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพ อยู่ในหนังสือของพระถังซัมจั๋งซึ่งเดินทางเข้าอินเดียได้กล่าวถึงพระเจ้าอุเทนเมืองโกสัมพี สร้างพระพุทธรูปไม้จันทน์บูชาพระพุทธองค์ และพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถีก็สร้างพระพุทธปฏิมาขึ้นเช่นกัน แต่หลักฐานทางโบราณคดียังไม่มีการขุดพบ จึงยังไม่มีสิ่งยืนยันที่เด่นชัดหรือมีน้ำหนักพอ นอกจากนั้นยุคสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก่อนพุทธปรินิพพานสองร้อยปีเศษ ก็ไม่ปรากฏว่าพระองค์สร้างพระพุทธรูปแต่อย่างใดเป็นแต่แกะสลักรอยพระพุทธบาทแทนเท่านั้น

๒.เกิดในสมัยพระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์ซึ่งเป็นกษัตริย์กรีกปกครองอินเดียโดยมีเมืองหลวงที่สาคละ ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กล่าวว่าเริ่มสร้างสมัยนี้ แต่มาแพร่หลายสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราช ในหนังสือประวัติศาสตร์ พุทธศาสนาของเจ้าคุณพระราชธรรมนิเทศ (ระบบฐิตญาโณ) ก็กล่าวว่าสร้างในสมัยพระเจ้าคุณพระเจ้ามิลินท์ เช่นกัน ทฤษฎินี้มีผู้ยอมรับมากที่สุด

๓. เกิดในสมัยพระเจ้านิษกะมหาราช ปกครองอินเดียเหนือโดยมีศูนย์กลางที่เมืองโปุรุษปุระ หรือ เปชวาร์ หนังสือกำเนิดพระพุทธรูปหลายสมัยขอบรรจบเทียมทัตกล่าวว่าพระพุทธรูปแบบคัน ธารราฐเกิดในสมัยพระเจ้ากนิษกะนี้ ก่อนหน้ายังไม่มีการสร้างแต่อย่างใด พระเจ้ากนิษกะทรงรับสั่งให้ช่างกรีก สร้างพระพุทธรูปขึ้นตามแนวพุทธลักษณะศิลปะผสมกรีก-โรมัน
อย่างไรก็ตามการสร้างพระพุทธรูปส่วนมากแล้ว เชื่อกันว่าเริ่มจากสมัยพระเจ้ามิลินท์เป็นต้นมา กล่าวคือเมื่อชนชาติกรีกเข้ารุกรานอินเดีย เมื่อชนชาติกรีกที่เข้ามาตั้งแต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้ารุกรานอินเดียได้ แล้ว ก็ได้ตั้งรกรากถาวรที่บากเตรีย คันธาระ สาคระและหลายส่วนของอาฟกานิสถาน ปากีสถานและอินเดียเหนือเริ่มมาเลื่อมใสในพุทธศาสนา คำว่า คันธาระ (Gandhara) มาจากคำว่า คันธารี คติของพวกกรีกไม่รังเกียจสร้างรูปเคารพและก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพุทธมามกะ ก็ได้สร้างรูปเคารพของตนอยู่มากมายหลายองค์ด้วยกัน เช่น เทพเจ้ายูปีเตอร์หรือ ซิวส์ ฮิรา เฮอร์มีส อิรีสอพอลโล อาร์เตมิส เอเธนา โปซีดอน อาโปรดตี ฯลฯ เทพเจ้าเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพระเจ้าประจำธรรมชาติ และพวกกรีกสร้างเป็นเทวรูปดุจมนุษย์มีสัดส่วนเป็นสันงดงามจนจัดเป็น สัญลักษณ์อันหนึ่งแห่งศิลปกรรมของชาติกรีกโบราณ
ครั้นเมื่อเปลี่ยนใจมาเลื่อมใสพุทธศาสนา นิสัยความเคยชินที่ได้กราบไหว้บูชาเทวรูป ทำให้พวกกรีกเกิดมโนภาพคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาบ้าง เพื่อให้เป็นทัสนานุตตริยะยามนึกถึงพระบรมศาสดา ไม่เกิดความว้าเหว่เปลี่ยวใจ ฉะนั้นจึงได้เกิดคติสร้างพระพุทธรูปขึ้นในหมู่ชาวกรีกขึ้นก่อน ภายหลังพุทธมามกะชนชาติอินเดียได้พบเห็นพระพุทธรูปเข้าก็เกิดความปสาทะจึงได้หันมานิยมสร้าง พระพุทธรูปตามคติของชาวกรีกขึ้น แต่ได้ดันแปลงเป็นแบบอย่างศิลปกรรมแห่งชนชาติของตน แม้พวกพราหมณ์พลอยเกิดสร้างเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ขึ้นกราบไหว้บูชา คติรังเกียจสร้างรูปเคารพจึงเป็นอันจืดจางไปจากชาติชาวอินเดียโดยพฤตินัย ในสมัยพระเจ้ามิลินทะจึงนับว่าเป็น ยุคแรกแห่งการสร้างพระพุทธรูป ลักษณะพุทธรูปของช่างชาวกรีกก็สร้างให้เหมือนมนุษย์จริง ลักษณะที่เห็นว่างดงามดวงพระพักตร์คล้ายคลึงกับเทวรูป จนบางครั้งทำเป็นพระมัสสุ (หนวด) บนพระโอษฐ์ก็มี เบื้องบนพระเศียรทำเป็นพระเกตุมาลา (ขมวดผม) เพื่อให้เห็นแตกต่างจากรูปพระสาวก เส้นพระเกศาก็ทำเป็นลักษณะม้วนเกล้า ดังเช่นพระเกศาของพระกษัตริย์ ผ้ากาสาวพัสดุ์ทำเป็นรอยกลีบย่นเห็นชัดเจนดุจผ้าจริง ๆ และมักจะมีประภามณฑลรายรอบพระเศียร แต่ไม่มีลวดลาย พระพุทธปฏิมากรดังกล่าวนี้ ช่างกรีกคิดสร้างสรรค์เป็นปางต่าง ๆ โดยอาศัยพระพุทธจริยาที่ทรงบำเพ็ญเป็นบรรทัดฐาน เช่น ปางตรัสรู้ก็ทำเป็นขัดสมาธิวางพระหัตถ์ซ้อนกันภายใต้ร่มไม้โพธิพฤกษ์ ปางแสดงพระธรรมจักรทำเป็นรูปประทับบนบัลลังก์ และจีบพระดรรชนี เป็นวงกลมดุจวงจักรดังนี้ เป็นต้น อย่างไรก็ดีพุทธศิลป์ดังกล่าวนี้ มาแพร่หลายรุ่งเรืองอย่างกว้างขวางก็ในสมัยต่อมาคือสมัยพวกอินโดไซรัส หรือ พวกง้วยสีมีอำนาจในอินเดียภาคเหนือเรียกว่า "พุทธศิลป์แบบคันธาระ (Gandhara Arts)" ทั้งนี้เพราะเกิดขึ้นแถวแคว้นคันธาระนั่นเอง

๔. กำเนิดและวิวัฒนาการของมหายาน

ความจริงเค้าของการแตกแยกออกเป็น ๒ นิกาย เริ่มมีมาตั้งแต่หลังพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา เพราะพระปุราณะไม่ยอมรับผลการสังคายนา โดยพระมหากัสสปเถระที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา และได้แยกตัวออกมาทำสังคายนาต่างหาก แต่นักปราชญทั้งหลายเชื่อว่าพุทธศาสนา ได้เกิดการแบ่งแยกนิกายต่าง ๆ ถึง ๑๘ นิกายหรือมากกว่านั้นในพุทธศตวรรษที่ ๒ ส่วนมากเป็นนิกายเล็ก ๆ ไม่ค่อยมีบทบาทนัก นิกายที่ได้รับความนับถือและมีอิทธิพลมากที่สุดในระยะ ๕ ทศวรรษแรกได้แก่ เถรวาท ซึ่งยึดถือตามมติปฐมสังคายนาเป็นหลักสำคัญ และนิกายนี้เองยังได้แตกแยกออกเป็นนิกายเล็ก ๆ อีก ๑๒ นิกาย
ดังนั้นการศึกษาหลักธรรมที่สำคัญที่สุดจึงสามารถค้นหาได้จากคัมภีร์เภท ธรรมมติศาสตร์ในฝ่ายสันสกฤตและกถาวัตถุของฝ่ายบาลี ซึ่งเป็นหลักธรรมของฝ่ายสาวกยานหรือนิกายเถรวาท ส่วนนิกายต่าง ๆ ที่แตกแยกออกจากนิกายเถรวาท เราไม่สามารถหาหลักฐานได้อย่างสมบูรณ์เพียงพอ นิกายอื่น ๆ ที่พอจะค้นคว้าหาหลักธรรมได้อย่างละเอียดพอสมควรคือ นิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งส่วนใหญ่คณาจารย์จีนได้แปลจากสันสกฤตและบาลีเป็นภาษาจีนและธิเบต หลักธรรมของนิกายสรวาสติวาทิน เราสามารถได้จากนิกายมหายานเพราะได้รวมหลักธรรมที่สำคัญของนิกายสรวาทินติ วาทินอยู่ด้วย นิกายนอกจากที่กล่าวมานั้น ปรากฏว่ามีหลักฐานหลงเหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันน้อยมาก แม้แต่นิกายมหาสังฆิกะ ซึ่งนับเป็นนิกายหลักของพุทธศาสนาในศตวรรษต้น ๆ ก็มีหลักฐานตกมาถึงปัจจุบันน้อยมากจนไม่สามารถยึดถือเป็นหลักสำคัญได้ แต่นิกายมหาสังฆิกะและนิกายที่แตกฉานแยกออกไป มีบทบาทสำคัญมากในการกำเนิดพุทธศาสนานิกายมหายานขึ้น ในสมัยต่อมาลัทธิมหายานเป็นลัทธิอิสระ และได้เป็นที่รวมหลักธรรมสำคัญ ๆ ของทุกๆ นิกายในพุทธศาสนา จึงนับได้ว่านิกายมหายานเป็นขุมกำลังที่สำคัญมากของพุทธศาสนา

เมื่อย้อนหลังไปดูเหตุการณ์ที่เป็นบ่อเกิดของมหายานนั้น เราก็พอจะทราบความเป็นมาของพุทธศาสนาในยุคต้นพอสมควร คือในระหว่างสมัยที่พวกกุษาณะกำลังแผ่อิทธิพลอยู่ในอินเดียภาคเหนือ และพวกอันธระกำลังเสวยอำนาจ ณ อินเดียภาคทักษิณ (ใต้) ราวพุทธศตวรรษที่ ๖-๗ ในสมัยดังกล่าว ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในพุทธศาสนา นั้นคือการถือกำเนิดของลัทธินิกายใหม่ นิกายนี้เรียกตัวเองว่า "มหายาน" การปรากฏขึ้นของมหายาน นับว่าเป็นวิวัฒนาการการปฏิรูปประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ปัจจุบันนิกายนี้สามารถครองใจประชาชนหลายร้อยล้านคนในจีน ญี่ปุ่น ธิเบต มองโกเลีย เวียดนาม เกาหลี ดังที่เราทราบกันในปัจจุบัน

สาเหตุที่ทำให้เกิดนิกายมหายานนั้นมีหลายประเด็น แต่พบสรุปย่อ ๆ ดังต่อไปนี้

๔.๑ มหายานเกิดจากบางนิกายใน ๑๘ นิกาย
ต่างนิกาย ต่างมีอุดมคติทัศนะทางหลักธรรม และวัตรปฏิบัติที่ผิดแผกแตกต่างกันออกไปมากบ้างน้อยบ้าง และต่างนิกายต่างก็มีศูนย์กลางของนิกาย นิกายทั้ง ๑๘ มีดังต่อไปนี้ ๑. นิกายสถวีรวาท ๒. นิกายมหาสังฆิกวาท ๓.นิกายเอกัพโยหาริกาวาท ๔.นิกายโลกุตตรวาทิน ๕.นิกายโคกุลิกวาท ๖. นิกายพหุสสุติวาท ๗. นิกายปัญญัติวาท ๘. นิกายมหิสาสิกวาท ๙.นิกายวัชชีบุตร ๑๐.นิกายสรวาสติวาทิน ๑๑. นิกายธรรมคุปตะ ๑๒. นิกายกัสสปิกวาท ๑๓. นิกายเสาตรนติกะ ๑๔. นิกายเจติวาท ๑๕. นิกายสมิติยวาท ๑๖. นิกายเหมวันตะ ๑๗. นิกายสุตตวาท ๑๘. นิกายอันธกะ
เหล่านี้ต่อมาแตกเพิ่มออกเป็น ๒๒ นิกาย คือ ๑๙. นิกายปรเสลิยะและอุตตรเสลิยะ ๒๐. นิกายอุตตรปถะ ๒๑. นิกายวิภัชชวาทิน ๒๒. นิกายเวตุลลลกะ ต่อมาบางนิกายย่อยก็ได้พัฒนาการมาเป็นมหายานโดยเฉพาะนิกายมหาสังฆิกะ และบางส่วนก็ยังคงเป็นเถรวาทหรือหินยานเช่นเดิม

๔.๒ มหายานเกิดจากพระบุคลิกภาพของพระพุทธองค์
ในหลักธรรมของนิกายมหาสังฆิกะ จะเห็นได้ว่าทัศนะต่อพระบุคลิกภาพอันยิ่งใหญ่ของพระบรมศาสดาในส่วนโลกุตตร ภาพ แตกต่างจากนิกายเถรวาท ขณะที่ฝ่ายเถรวาทถือว่าพระวรกายเปรียบเหมือนกับสามัญชนทั่วไปย่อมเสื่อมไป เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ย่อมแตกดับในที่สุด แต่ที่ไม่ดับคือพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ แต่มหาสังฆิกะเห็นว่าพระบุคลิกภาพและชนม์ชีพจะแตกดับลงในอนุปาทิเสสนิพพาน นั้น ยังไม่ได้เสียแรงที่พระองค์เป็นอภิบุรุษที่สร้างบารมีมานับอสงไขย จะมาดับสูญโดยไม่เหลืออะไรไม่ได้ พวกเขาถือว่าภาวะของพระพุทธองค์ทั้งนามและรูปเป็นโลกุตตระ พระชนม์ชีพยังยั่งยืนไม่มีขอบเขต สิ่งที่แตกดับเป็นเพียงมายาธรรมเท่านั้น ความคิดเช่นนี้เองที่ก่อให้เกิดลัทธิมหายาน พวกเขาเห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีของพระพุทธองค์เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระ โพธิสัตว์ ผู้ที่ซาบซึ้งจึงนำเอาโพธิจริยาทั้ง ๑๐ ทัศนั้นมาประกาศเป็นพิเศษและตั้งอุดมคติที่จะให้มุ่งสำเร็จสัพพัญญุตญาณ มีโอกาสสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์และไม่พอใจในการ บรรลุพระอรหันต์ เพราะถือว่าคับแคบเฉพาะตน

๔.๓ มหายานเกิดจากแรงดันของศาสนาพราหมณ์
ในเมื่อพระองค์ตรัสรู้ และอยู่ระหว่าง การเผยแพร่พุทธศาสนานั้นหลักธรรมของพระองค์สามารถพิชิตใจของปวงชนได้ เนื่องจากคำสอนที่ประกอบด้วยเหตุผลที่เป็นความจริง ดังนั้นพุทธศาสนาจึงแพร่หลายไปในหมู่ชนทุกชั้นอย่างรวดเร็ว เร็วจนลัทธิอื่น ๆ คาดไม่ถึง ลัทธิเหล่านั้นถึงกับเกิดความเสื่อมโดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ คณาจารย์ลัทธิพราหมณ์พยายามล้มพุทธศาสนาแต่ไม่สำเร็จ จนมาถึงยุคพระเจ้าอโศกมหาราชพระองค์ทำนุบำรุงพุทธศาสนาจนเจริญอย่างสุดขีด สร้างความเจ็บแค้นในใจแก่พวกพราหมณ์เป็นอย่างมาก จนโอกาสมาถึงเมื่อยุคของพระเจ้าอโศกมหาราชผ่านพ้นไป พราหมณ์ชื่อสุงคะยึดอำนาจได้ จึงเริ่มทำลายพุทธศาสนาอย่างขนานใหญ่ ส่วนศาสนาพราหมณ์นั้นก็เริ่มปรับปรุงตัวอย่างขนานใหญ่แต่งมหากาพย์ขึ้นมา ๒ เรื่องคือมหภารตะและรามายณะหรือรามเกียรติเป็นที่นิยมชมชอบมากที่สุด พราหมณ์ยังเลียนแบบฝ่ายพุทธที่มีไตรสรณคมน์ ๓ ประการ จึงสร้างตรีมูรติขึ้นบ้าง คือรวมพระเจ้า ๓ องค์ เข้าไป คือพระพรหม พระศิวะและนารายณ์เป็นที่พึ่งสูงสุด ฝ่ายพุทธมีสังฆาราม เป็นที่อยู่อาศัย ฝ่ายพราหมณ์ก็สร้างสังฆารามขึ้นมาบ้าง ฝ่ายพุทธจาริกแสวงบุญตามสังเวชนียสถาน ฝ่ายพราหมณ์ก็สร้างแหล่งจาริกแสวงบุญเช่นกัน การปรับปรุงของฝ่ายพราหมณ์ครั้งนี้ นับว่าได้ผลมาก ทำให้อิทธิพลขยายไปทั่วชมพูทวีป เมื่อสถานการณ์เช่นนี้ คณาจารย์ฝ่ายพุทธไม่สามารถนิ่งดูดายได้จึงปฏิรูปการเผยแพร่พุทธศาสนาเพื่อแข่งกันศาสนาพราหมณ์ โดยปฏิรูป ๒ แนวคือ ก.แนวแห่งบุคลาธิษฐาน ข.ปฏิรูปตามแนวแห่งธรรมาธิษฐาน

๔.๔ มหายานเกิดจากพุทธบริษัท
เนื่องจากการปฏิรูปลัทธิธรรมดังกล่าว แม้จะเกิดจากพระเถระจาก ๑๘ นิกายก็จริงอยู่ พระเถระเหล่านี้หนักไปในทางการศึกษาปรัชญา ส่วนผู้ที่ปฏิรูปทั้งทางด้านธรรมาธิษฐานและปุคลาธิษฐานคือพุทธบริษัทฝ่าย คฤหัสถ์โดยเฉพาะหนุ่มสาว คณะพุทธบริษัทเหล่านี้พยายามเผยแพร่ศาสนาตามสังคมด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดและสะดวกกว่าพระสงฆ์ เพราะย่อมเคร่งครัดสมณสารูป สามารถเผยแพร่ธรรมได้ทุกกาละเทศะ และคนเหล่านี้ก็ปรารถนาโพธิญาณเช่นกัน


๕.แนวคิดมหายานที่แตกต่างจากเถรวาท

๑. เถรวาทถือว่าการบรรลุพระอรหันต์เป็นสิ่งสูงสุดของจุดหมาย แต่มหายานถือว่าสภาวะการเข้าถึงความเป็นพระโพธิสัตว์สำคัญกว่าพระอรหันต์

๒. เถรวาทเน้นให้ชาวพุทธพึ่งตนเองเป็นสำคัญ พระพุทธองค์เป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น ส่วนมหายานได้อนุญาตให้อ้อนวอนพระพุทธองค์และพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ได้ บางนิกายมหายานถือว่าเพียงระลึกพระโพธิสัตว์ก็สามารถพ้นทุกข์ได้

๓. เถรวาทเป็นอเทวนิยมคือไม่นับถือพระเจ้าเป็นผู้สร้าง เชื่อในกฎแห่งกรรม ส่วนมหายานพัฒนาเข้าใกล้ศาสนาพราหมณ์และเทวนิยมมากขึ้นโดยถือว่าพระอาทิพุทธ เป็นพุทธะที่สูงสุด ทรงดลบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปแม้แต่พระพุทธองค์ก็เป็นภาคหนึ่งของพระอาทิพุทธ

๔. เถรวาทรักษาความเดิมของคำสอนทุกประการไม่นิยมเปลี่ยนแปลงคำสอน แม้ภาษาก็ใช้ภาษาเดิมจารึกคือบาลี ส่วนมหายานปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามคำสอนไปมาก และแต่งคัมภีร์จับใส่พระโอษฐ์อยู่เสมอภาษาเบื้องต้นใช้สันสกฤต ก่อนจะใช้ภาษาถิ่นของตนในลำดับต่อมา

๕. เถรวาทมุ่งช่วยตนเองให้พ้นสังสารวัฏฏ์ก่อนช่วยผู้อื่น แต่มหายานเน้นช่วยผู้อื่นก่อน ส่วนตนนั้นจะตามไปภายหลัง จึงเรียกยานของตนว่ามหายาน เรียกเถรวาทว่าหินยานแปลว่ายานเล็ก หรือยานเลว

๖. เถรวาทไม่มุ่งเน้นการฉันมังสวิรัติ คืออาหารเว้นจากเนื้อสัตว์ ยกเว้นเนื้อที่มีพระพุทธองค์ห้ามไว้ เพราะถือว่าทำตนให้เลี้ยงง่าย แต่มหายานถือว่าการทานมังสวิรัติเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง พวกเขาถือว่าที่ผู้ช่วยเหลือสัตว์จะไม่มีเนื้อของเขาในท้องของตนเอง

๗. เถรวาทถือว่าพระศากยมุนีพุทธ พระโอรสพระเจ้าสุทโธธนะเป็นองค์สูงสุด เป็นผู้ก่อนตั้งศาสนาพุทธ แต่มหายานได้ยกฐานะพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ให้เทียมเด่นกับพระองค์ และบางพระองค์ก็ดีเด่นยิ่งกว่าเสียอีกพระพุทธเจ้าที่มหายานยกย่องขึ้น เช่น พระอมิตาภพุทธะ พระมัญชุศรี พระอาทิพุทธะ พระไวโรจนะ เป็นต้น

๘. ตามปกติแล้ว คนส่วนมากต้องการความอุดมสมบูรณ์ในทางกามสุข ทิพยสุข เป็นต้น คนที่ต้องการพ้นจากทุกข์จำนวนน้อยเท่านั้นมหายานจึงมีสุขาวดีพุทธเกษตรเพิ่ม ขึ้นมา ซึ่งเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมากเป็นแดนบรมสุข คนที่ไปเกิดมีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธเจ้าและอาศัยบารมีของพระพุทธเจ้าทำให้ สามารถบรรลุพระอรหันต์ง่ายเข้า

๙. มหายานก้าวหน้าถึงขนาดสอนอภิปรัชญาตรรกศาสตร์ จนเกิดระบบปรัชญาสำคัญขึ้น ๓ สาขา คือ สุญญตวาท จิตนิยม จิตอมตวาท ถือว่าเป็นผลงานที่เด่นมากของมหายาน จนเกิดคำขวัญว่า มหายานเพื่อมหาชน

๑๐. พระพุทธเจ้าในทัศนะของมหายานเป็นทิพยภาวะอันประเสริฐไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด มหายานจึงถือว่า คนเรายังอาจเข้าเฝ้าสดับสุรเสียงของพระพุทธเจ้าได้อยู่ด้วยเหตุนี้ มหายานจึงมี ๓ กาย คือ
๑. สัมโภคกาย คือ พระกายที่เป็นทิพยภาวะ ประทับอยู่ ณ แดนพุทธเกษตร
๒. นิรมานกาย คือ พระกายที่พระองค์เนรมิตรขึ้นทำนองอวตารลงมา อาการมีทรงพระชวร ประสูติทางพระวรกายนั้นเป็นสิ่งมายาทั้งสิ้น
๓. ธรรมกาย คือสุญญตภาวะ หรือ พระนิพพานนั้นเอง

๖.พระเจ้ากนิษกะมหาราช (King Kanishka)

พ.ศ.๖๒๐ เมื่อกษัตริย์วงศ์กรีก-อินเดียของพระเจ้ามิลินท์เสื่อมลงโดยกษัตริย์วงศ์กรี กองค์สุดท้ายที่ปกครองคันธาระและอินเดียเหนือ นามว่า เฮกมีอุส (Hermaeus) ต่อมาอินเดียก็เริ่มปั่นป่วนอีกครั้ง ชนชาติในทวีปเอเซียกลางคือพวกสกะและพวกตาต ก็ยกทัพข้ามแม่น้ำสินธุหลายครั้งและเกิดการรบพุ่งหลายครั้งหลายครา พุทธศานาที่ได้รับการอุปถัมภ์ก็อ่อนแอลง
หลังจากนั้นพวกสกะซึ่งเป็นเผ่าเร่ร่อนจากเอเซียกลางก็เข้าโจมตีอินเดีย สามารถยึดครองได้สำเร็จ แล้วสถาปนาอาณาจักรใหม่เรียกว่า อาณาจักรกุษาณ (Kusana) พระมหากษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์นี้คือ พระเจ้ากัทพิเสส (King Kadphises) หรือกุชุลกะสะ ชนเผ่านี้นักปราชญ์หลายท่าน สันนิษฐานว่าเป็นพวกเชื้อสายมองโกลผสมกรีก บางตำนานเรียกว่าพวกยูเอจิ (Yuehchi) บางตำนานเรียกพวกสกะ (Sakas) เดิมอาศัยอยู่เอเชียกลางและแถบเตอรกีสถานของจีน (ปัจจุบันเรียกว่า ซินเกียงของจีน)

เหรียญตรารูปพระพุทธเจ้า สมัยพระเจ้ากนิษกะ โปรดสังเกตอักษรที่จารึกในเหรียญ ที่คล้ายกับภาษาอังกฤษปัจจุบัน

พระ เจ้ากัทพิเสส เป็นผู้นำเผ่าสกะที่เข้มแข็งเข้ารุกรานอินเดีย โดยเฉพาะคันธาระ ปัญจาป ตักสิลา โดยเฉพาะในส่วนเหนือ เมื่อมาอยู่ในอินเดียได้คบหากับชาวอินเดีย จึงเกิดความเลื่อมใสในพุทธศาสนาเห็นได้จากการพบเหรียญตราของพระองค์ที่ค้นพบ ณ เมืองตักกศิลาโดยจารึกว่า "กุชุล กสฺส กุสาณ ยวุคส ธรฺมทิทศ" ซึ่งแปลว่า ของพระเจ้ากุชุละ กสะราชาแห่งกุษาณะผู้ดำรงมั่นอยู่ในธรรม จนถึงสมัยพระเจ้ากณิษกะพระนัดดาได้ครองราชย์แทน ราว พ.ศ.๖๒๑ พระองค์มีความเลื่มใสในพุทธศาสนามากจนได้รับขนานนามว่า "พระเจ้าอโศกองค์ที่ ๒" และทรงแผ่อาณาจักรกว้างไกลครอบคลุม คันธาระ แคชเมียร์ สินธุ และมัธยมประเทศ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอิหร่าน อัฟกานิสาน ปากีสาน เตอร์กเมนิสถาน และบางส่วนของอินเดีย) ในสมัยนี้พุทธศาสนามหายานแผ่ไปสู่เอเชียกลางและจีนอย่างรวดเร็ว วรรณคดีภาษาสันสกฤตได้เจริญรุ่งเรืองแทนภาษาบาลี พระภิกษุที่มีความรู้ในยุคนี้คือ ท่านปารศวะ ท่านอัศวโฆษ ท่านวสุมิตร
ในด้านการแกะสลักพุทธศิลป์คันธาระ ซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระเจ้ามิลินท์ ก็มีความเจริญอย่างขีดสุดในสมัยพระองค์ พระองค์ทรงสร้างวัดวาอาราม เจดีย์วิหารอย่างมากมาย พระเฮี่ยนจังพระสงฆ์ชาวจีนผู้จาริกสู่อินเดียเมื่อราวพ.ศ.๑๑๐๐ เมื่อจาริกถึงเมืองปุรุษปุระ เมืองหลวงของพระองค์จึงกล่าวว่าพระเจ้ากนิษกะ ทรงสร้างวิหารหลังหนึ่ง ทรงให้นามว่า กนิษกะมหาวิหาร แม้ว่าพระวิหารจะทรุดโทรมลงแล้ว แต่พระวิหารมีศิลปะที่งดงามยากที่จะหาที่ใดเหมือน และยังมีพระภิกษุอาศัยอยู่บ้าง ทั้งหมดเป็นพระนิกายหินยานหรือเถรวาท


๗.สังคายนาครั้งที่ ๔ (The Fourth Buddhist Synod)

พ.ศ.๖๔๓ สืบเนื่องมาจากพระองค์ศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า จึงอาราธนาพระสงฆ์บรรยายธรรมในพระราชวัง แต่พระที่บรรยายมีมากมายหลายนิกาย แต่ละองค์ก็แสดงนิกายที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดความสับสนยิ่งและโดยการแนะนำของพระปารัศวะ ในนิกายสรวาสติวาทิน พระเจ้ากนิษกะจึงโปรดทำให้สังคายนาขึ้นที่ชาลันธระ แคว้นกัศมีระ ประชุมสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระปารัศวะเป็นประธาน (แต่หนังสือบางเล่มกล่าวว่า พระวสุมิตรเป็นประธาน) เพื่อป้องกันการสูญหายของพระธรรมวินัย พระองค์รับสั่งให้จารึกลงแผ่นทองแดงบรรจุในหีบศิลา แล้วสร้างสถูปใหญ่รักษาไว้อย่างมั่งคง (เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันเราไม่มีโอกาศได้เห็นจารึกที่กล่าวมาเพราะการ ทำลายล้างของมุสลิมในแคชเมียร์) หลังจากนั้นพระองค์สั่งพระธรรมทูคออกเผยแพร่สู่เอเชียกลาง จนพุทธศาสนาเจริญอย่างรวดเร็ว

บทสรุปสังคายนาครั้งที่ ๔ (ฝ่ายมหายาน)

๑. ทำที่วัดกุณฑลวันวิหาร แคว้นกัศมีร์ (บางแห่งว่าที่วัดกุวนะ เมืองชาลันธร)
๒. มีพระปารศวะเป็นประธาน (บางเล่มกล่าวว่าพระวสุมิตร)
๓. พระอัศวโฆษ เป็นรองประธาน
๔. พระเจ้ากนิษกะเป็นองค์อุปถัมภ์
๕. พระอรหันต์ ๕๐๐ รูปเข้าร่วมประชุม
๖. เพื่อกำจัดความขัดแย้งภายในคณะสงฆ์ ๑๘ นิกาย
๗. ทำเมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานได้ราว ๖๔๓ ปี (บางแห่งว่า ๖๙๖ ปี)
๘. ใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระไตรปิฎก
๙. รับสั่งให้จารึกลงในแผ่นทองแตงแล้วบรรจุลงในพระเจดีย์
๑๐. เป็นการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณะอักษรเป็นครั้งแรก

เมื่อพระเจ้ากนิษกะสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าหุวิชกะได้ปกครองต่อมา พุทธศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น ต่อมาพระองค์ได้บูรณะเพิ่มเติมพระเจดีย์ที่พุทธคยาให้ดูใหญ่โตสวยงามมากขึ้น กษัตริย์ที่ปกครองต่อจากพระเจ้าหุวชกะคือ พระเจ้าวาสุเทวะ พุทธศาสนาก็ยังเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมาในอินเดียตอนเหนือ , ตอนกลาง เอเซียกลาง และจีน หลังจากราชวงศ์กุษาณะ ของพระเจ้ากนิษกะเสื่อมลง พุทธศาสนาก็พลอยอับรัศมีลง ศาสนาพราหมณ์ก็ได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกและเจริญอย่างรวดเร็ว ราชวงศ์คุปตะก็เจริญขึ้นแทน ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคทองของอินเดีย เพราะวรรณคดี ศิลปกรรม ปรัชญา ศาสนาเจริญอย่างมากโดยเฉพาะศาสนาฮินดู กษัตริย์หลายพระองค์ในราชวงศ์นี้เป็นฮินดู แต่ก็อุปถัมภ์พุทธศาสนาอยู่โดยเฉพาะฝ่ายมหายาน กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังคือ พระเจ้าจันทรคุปต์ พระเจ้าสมุทรคุปต์ พระเจ้าวิษณุคุปต์ และพระเจ้าสกันธคุปต์ เมืองหลวงของราชวงค์นี้อยู่ที่รัฐพิหารในปัจจุบัน


๘.พระนาครชุน (Nagarajuna)

พระนาครชุน ตามแนวคิดธิเบต

ท่านผู้นี้มีชีวิตอยู่ราวพ.ศ.๗๐๙ ถึง ๗๓๙ ปี กล่าวกันว่าท่านเป็นสหายและอายุรุ่นเดียวกันกับพระเจ้ายัชญศรี กษัตริย์แห่งศตวาหนะ เป็นนักปรัชญาทางพุทธศาสนา เป็นผู้ก่อตั้งพุทธปรัชญานิกายมาธยมิกขึ้น ซึ่งเรียกว่านิกายมาธยมิกขึ้น ซึ่ง เรียกว่านิกายศูนยวาท ท่านเกิดที่อินเดียใต้ ในสกุลพราหมณ์แต่ในรายงานของพระถังซัมจั๋งกล่าว่า ท่านเกิดที่ทิวารภะ เมืองโกศลภาคใต้ ในสมัยเจ้าศตวาหนะ แห่งราชวงศ์อานธระ เมื่อโตขึ้นเป็นคนเฉลียวฉลาด สามารถอ่านพระไตรปิฎกจบภายใน ๙๐ วัน แต่ก็ยังไม่พอใจ ต่อมาเดินทางไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทากับท่านราหุลภัทรจนชำนาญ ต่อมาได้รับหนังสือมหายานศาสตร์เล่มหนึ่งจากพระผู้เฒ่าแถบภูเขาหิมาลัย ผลงานของท่านที่เด่นที่สุดคือ มัธยมิกการิกา หรือมัธยมิกศาสตร์ ประกอบด้วยการิกา ๔๐๐ การิกาและ สุหฤล เลขะ หรือแปลว่าจดหมายถึงเพื่อนคือ พระเจ้ายัชญศรี เคาตมีบุตร

ปัจจุบันในรัฐอันธรประเทศภาคใต้ มีเมืองหนึ่งชื่อว่า นาครชุน โกณฑะ (Nagarajunakonda) ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกฤษณะ ตำบลปานนาด มณฑลกุนตุร ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งเมืองวิชัยนคร (Vijayanagar) เมืองหลวงของจักรพรรดิวงศ์อิกษวากุแห่งอันธารประเทศ ซึ่งพระนาครชุนได้ไปอาศัยเป็นเวลานาน ในยุคที่นาครชุนโกณฑะเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด คือในสมัยศรีวีรบุรุษทัตตะแห่งราชวงศ์อิกษวากุ โดยมีเมืองวิชัยบุรีเป็นเมืองหลวง ยังมีพุทธสถานวัดวาอารามที่ได้รับการบูรณะและดูแลเป็นอย่างดี ในบั้นปลายแห่งชีวิตท่านนาครชุน ใช้ชีวิตอยู่ที่ภูที่วัดเขาศรีบรรพต บนยอดเขาเมืองนาครชุนโกณฑะนี้เอง

นอกจากท่านที่กล่าวมายังมีอีกหลายรูปที่มีชื่อเสียงคือ พระสถวีระพระพุทธปาลิตทั้งสองรูปเป็นผู้ประมวลหลักปรัชญาศูนยวาท ที่พระนาครชุนบอกไว้ และเป็นผู้ก่อตั้งนิกายตรรกศาสตร์สองนิกายคือ นิกายปราสังคกะและนิกายสวาตันตระ และพระภาววิเวก พระอารยเทวะ พระศานติเทวะ พระศานตรักษิตะ และพระกมลศีล เป็นต้น


๙.พระอัศวโฆษ (Ashvagosa)

ในยุคพระเจ้ากนิษกะนี้ได้มีนักปราชญ์ผู้เรืองนามท่านหนึ่งนามว่าพระอัศวโฆษ เป็นนักกวี นักโต้วาที นักประพันธ์และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ลัทธิมหายานสมัยพระเจ้ากนิษกะ
ท่านเป็นชาวเมืองสาเกต (Saket) ใกล้เมืองอโยธยา (Ayodhya) ปัจจุบัน มารดาชื่อสุวรรณกษี ท่านมีความชำนาญในการใช้ภาษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาสันสกฤต เพราะว่าท่านเป็นผู้ได้รับสมัญญาว่าปฐมกวี และธีรบุรุษ นักปราชญ์บางท่านเชื่อว่าท่านกาลีทาส นักกวีคนสำคัญชาวฮินดู ก็ได้รับความรู้ความชำนาญทางบทกวีจากท่านอัศวโฆษนี้เอง ผลงานทางบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงคือ พุทธจริต เป็นมหากาพย์บรรยายชีวประวัติของพระพุทธองค์อย่างไพเราะด้วยภาษาสันสกฤต มี ๒๘ ปริจเฉท และเรื่ือง เสานทรานันทะ ซึ่งบรรยายเรื่องทรงให้พระนันทะ พระอนุชาเกิดจากพระนางประชาบดีโคตมี ทรงบรรพชา เพราะพระอนุชายังอาลัยอาวรณ์กับคู่รัก และสารีปุตระปกรณ์ ซึ่งต้นฉบับภาษาสันกฤตถูกค้นพบที่ตรูฟาน (Turfan) ในเอเชียกลาง นอกจากนั้นท่านยังได้แต่งบทเพลงที่ชื่อว่า คาณทีสโตตรคาถา มี ๒๙ คาถา เป็นต้น


๑๐.พระอสังคะ (ASanga)

ท่านมีชีวิตอยู่ราว พ.ศ.๗๐๐ ปี เป็นผู้ก่อตั้งยุคที่เรียกว่า ยุคคลาสิกแห่งพุทธปรัชญา ตระกูลนี้มีพี่น้องร่วมกัน ๓ คน คือ อสังคะ วสุพันธุ และววัญจิวัตสะ ท่านเกิดที่เมืองปุรุษปุระ หรือเปชวาร์ประเทศปากีสถานปัจจุบัน ในตระกูลพราหมณ์ เกาศิกโคตร มีมารดาชื่อปสันนศีลา ท่านมีบิดาร่วมกับท่านวสุพันธุและท่านวิรัญจิวัตสะแต่คนละมารดา บางตำนานกล่าวว่าบิดาท่านเป็นกษัตริย์ และได้รับการศึกษาจากศาสนาพราหมณ์เป็นอย่างดี และได้รับการอุปสมบทพร้อมกันทั้งสองรูป ต่อมาได้ศึกษาวิภาษาศาสตร์ที่แคว้นกัษมีร์
ท่านเป็นพระสังกัดนิกายสรวาสติวาท ท่านใช้ชีวิตส่วนมากที่เมืองอโยธยา เป็นอาจารย์องค์สำคัญของนิกายโยคาจาร และเป็นลูกศิษย์ของพระเมตไตรยนาถ ผู้ก่อตั้งนิกายโยคาจาร และมรณภาพที่นั้น เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี ผลงานของท่าน คือ มหายานสัมปริครหะ ประกรณอารยวาจา โยคาจารภูมิศาสตร์และมหายานสูตราลังการ ๒ เล่ม


๑๑.พระวสุพันธุ (Vasubandhu)

ท่านมีชีวิตอยู่ราว พ.ศ.๗๐๐ ปี เป็นน้องชายของพระอสังคะเป็นบุตรสกุลพราหมณ์ เมืองปุรุษปุระ (เปชวาร์) ในวันเด็กได้ศึกษาคัมภีร์พระเวทมาเป็นอย่างดี ต่อมาจึงได้อุปสมบทตามพี่ชาย แล้วย้ายตามมาเข้าสังกัดนิกายโยคาจาร พระวสุพันธุพำนักในอารามที่เมืองอโยธยาอยู่พอสมควร หนังสือเล่มสำคัญที่ท่านแต่งคือ อภิธรรมโกศ เป็นคลังความรู้แห่งพุทธปรัชญามี ๖๐๐ การิกา และปรมัตสัปตติ เพื่อโต้แย้งหนังสือสางขยสัปตติของครูลัทธิสางขยะชื่อว่าวินธยาวาสี นอกจากนั้นยังมีอรรถกถาสัทธรรมปุณฑิริกสูตรอรรถกถา มหาปรินิพพานสูตร อรรถกถาวัชรัจเฉทิกา ปรัชญาปาริตาและวิชญาปติ มาตราสิทธิ เป็นต้น คำว่าวสุพันธุ น่าจะมี ๒ ท่านคือ รูปแรกเกิดราว พ.ศ.๗๐๐ ซึ่งเป็นองค์ที่กล่าวถึง ส่วนอีกรูปเกิดราว พ.ศ.๑๐๔๕ ที่เปชวาร์เป็นบุตรของพราหมณ์เกาศิกะ มารดาชื่อพิลินทิ เป็นบุตรคนที่ ๒ ในบรรดาบุตร ๓ คน ท่านวสุพันธุท่านนี้เป็นผู้แต่งอภิธรรมโกศศาสตร์ ซึ่งเป็นคลังความรู้แห่งพุทธปรัชญา ต่อมาท่านได้เป็นอาจารย์ของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ และพระเจ้าพาลาทิตย์ผู้เป็นพระโอรสอีกด้วย


๑๒.พระทินนาคะ (Dinnaga)

ท่านนี้เกิดในสกุลพราหมณ์ ที่สิงหวักตระ เมืองกาญจีปุรัม อาณาจักร ปัณฑวะหรือทราวิท อินเดียภาคใต้ เมื่ออุปสมบทแล้วมีชื่อเสียงโด่งดังจนได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งนิยายศาสตร์สมัยกลาง" เพราะท่านเป็นผู้ก่อตั้งตรรกวิทยาทางพุทธศาสนาขึ้น เมื่ออุปสมบทใหม่ ๆ ท่านบวชในนิกายวาตสีปุตริยะ ของหินยาน ต่อมาจึงมานับถือลัทธิมหายาน ท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของพระวสุพันธุ ท่านท่องเที่ยวประกาศลัทธิมหายานทั่วรัฐโอริสสามหาราษฎร์ และส่วนอื่น ๆ กล่าวกันว่าท่านเดินทางไปมหาวิทยาลัยนาลันทาและโต้วาทีชนะพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่าสุทุรชยะ และต่อมาท่านก็มรณภาพในป่าลึก แคว้นโอริสสา หนังสือสำคัญที่เป็นผลงานชิ้นเยี่ยมคือประมาณสมุจจัยว่าด้วยการให้เหตุผล เชิงตรรกวิทยา นยายประเวศ เหตุจักรฑมรุ เป็นต้น


๑๓.พระธรรมกีรติ (Dhammakirti)

พระธรรมกีรติ เกิดที่บ้านจุฑามณี หรือตริมาลัย รัฐโจละ อินเดียใต้ บิดาเป็นพราหมณ์นามว่าโรรุนันทะ (Rorunanda) เป็นลูกศิษย์ของพระทินนาคะและเป็นนักตรรกวิทยาที่หาตัวจับยากในยุคนั้น ท่านศึกษาตรรกวิทยาจากพระอิศวรเสน ผู้เป็นศิษย์ของพระทินนาค ต่อมาได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาและฝากตัวเป็นศิษย์ของพระธรรมปาละ ผลงานการเขียนของท่านที่สำคัญเช่น ประมาณวาริตา ประมาณวินิจจัย นยายพินทุ สัมพันธปรึกษาเหตุพินทุ วาทนยายะ สมานันตรสิทธิ หนังสือเหล่านี้บรรยายถึงทฤษฎีความรู้ทางพุทธศาสนาและแสดงถึงปัญญาชั้นสูง


๑๔.พระสถิรมติ (Sthirmati)

พระสถวีระตามประวัติกล่าว่า ท่านเกิดที่หมู่บ้านทันทการันยะอินเดียภาคใต้ ในครอบครัวชั้นต่ำ เมื่อยังเป็นเด็กท่านได้ถามบิดาบ่อย ๆ ว่าอาจารย์ของผมอยู่ที่ไหน เมื่อบิดากล่าวว่าอาจารย์ของลูกคือใคร ท่านตอบว่าท่านวสุพันธุที่แคว้นมคธคืออาจารย์ ต่อมาเมื่ออายุ ๗ ขวบก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักพระวสุพันธุ ได้ศึกษาพระไตรปิฎกนิกายเถรวาท ตำราบางเล่มกล่าวว่าท่านวสุพันุกลับชาติมาเกิดเป็นท่านสถิรมติ ต่อมาด้วยการเรียนที่จริงจังหลังจากอุปสมบทท่านจึงเป็นผู้ชำนาญในพระอภิธรรมปิฏก งานแต่งหนังสือท่านมีไม่มากโดยมากจะเป็นการเขียนฎีกา เช่น แต่งฎีกาให้พระวสุพันธุหลายเรื่อง เช่น ฎีกาคัมภีร์อภิธรรมโกศ เป็นต้น


๑๕.พระจันทรมนตรี (Chandramantri)

เป็นศิษย์ของท่านสถิรมติข้างต้น เกิดในวรรณะกษัตริย์ในอินเดียภาคตะวันออก ท่านได้ไปจำพรรษาที่มหาวิทยาลัยทาเป็นเวลาหลายปีได้รจนาปกรณ์อรรถาธิบายปัญจ วิทยาสถานะ แต่งคัมภีร์ทศภูมิ ฎีกาคัมภีร์อวตังสกะ, ฎีกาลังกาวตาระ และฎีกาคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา, อรรถกถาคัมภีร์วินัยและคัมภีร์ตรีกายาวตารศาสตร์ รวมแล้วผลงานของท่านรวมกันมีมากกว่า ๕๐๐ ปกรณ์ทีเดียว นอกจากท่านจันทรมนตรี แล้วยังมีอีกท่าน หนึ่ง คือ ท่านรัตนเกียรติ (Ratankirti) ก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน ผลงานที่เด่นคือฎกาคัมภีร์อภิธรรมโกศ เป็นต้น


๑๖.พระคุณประภา (Gunaprabha)

พระคุณประภา

พระอาจารย์คุณประภา เดิมเกิดในวรรณะพราหมณ์เป็นชาวเมืองมถุรา ตอนเหนือของอินเดีย เพราะเกิดในวรรณะพราหมณ์ในวัยเด็กจึงได้ศึกษาคัมภีร์พระเวทจนช่ำชองเป็น อย่างดี เมื่อมาเลื่อมใสในพุทธศาสนาแล้วก็เข้ารับการอุปสมบทเป็นภิกษุ แล้วได้ศึกษาหลายลัทธิหลายสาขา เช่น ลัทธิในกายของท่านวสุพันธุจนฉลาดช่ำชอง กล่าวกันว่า ท่านสามารถสวดสาธยายโศลกในพระวินัยปิฎกได้ถึงแสนโศลกทีเดียว ท่านมีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดจึงมีพระภิกษุสามเณรทั่วชมพูทวีปมาศึกษากับ ท่านไม่น้อยกว่าพันรูปเสมอ หนังสือที่ท่านแต่งคือ อรรถกถาวินัย ปิฎกของนิกายสรวาสติวาท ต่อมาท่านก็มรณภาพที่เมืองมถุรา บ้านเกิดของท่าน




๑๗.พระพุทธปาลิตะ (Buddhaplita)

ท่านพุทธปาลิตะ เป็นชายอินเดียภาคใต้ เกิดที่หัมสะกริทะ (Hamsakrida) ในตระกูลวรรณพราหมณ์ที่ตัมปาละ เมื่อโตขึ้นได้อุปสมบทในสำนักของท่านธรรมปาละ ที่นาลันทา และศึกษาปรัชญาของท่านนาครชุนที่นั่น ต่อมาจึงเดินทางกลับสู่วัดเดิมที่อินเดียภาคใต้ ผลงานที่ท่านแต่งเช่นฎีกามาธยมิกศาสตร์เพื่ออธิบาย คัมภีร์มาธมิกของท่านนาครชุนให้กระจ่างขึ้น ในยุคนั้นคณาจารย์ฝ่ายศูนยวาทได้แบ่งออกเป็น ๒ สาขา ซึ่งสืบต่อมาจากท่านสังฆรักษิตโดยท่านได้รับการยกย่องให้เป็นประธานของสาขาที่ ๑ ของนิกายนี้


๑๘.พระภาววิเวก (Bhavavivek)

ท่านภาววิเวก เป็นชาวอินเดียภาคใต้เช่นกัน เกิดในตระกูลวรรณะกษัตริย์มัลยรา พ.ศ.๑๐๐๐ เมื่อโตแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ได้ไปศึกษาธรรมกับสำนักท่านสังฆรักษิตในอินเดียตอนกลาง เมื่อศึกษาจนแตกฉานแล้วจึงได้กลับไปเผยแพร่ที่อินเดียภาคใต้ ผลงานของท่านที่เด่นคือปรัชญาปทีปศาสตร์ และท่านได้เป็นประธานวัดในอินเดียใต้ถึง ๕๐ วัด ก็มีพระภิกษุสามเณรมาศึกษากับท่านเป็นจำนวนพัน เหมือนท่านพุทธปาลิตะเขียนไว้ ท่านกลับไม่เห็นด้วยกับพระพุทธปาลิตะหลายประเด็น จึงได้แต่งฎีกาแก้ คือ ปรัชญาปทีปศาสตร์ (ชญาณทีปะ) ขึ้น ต่อมาท่านได้รับการยกย่องให้เป็นอาจารย์สาขาที่ ๒ เช่นเดียวกับท่านพุทธปาลิตะ


๑๙.พระสันติเทวะ (Santideva)

ท่านสันติเทวะตามประวัติกล่าวกันว่าเป็นโอรสของกษัตริย์กุศลวรมัน (Kushalavarman) และพระราชินีวัชรโยกินี ๖(Vajravogini) เมืองเสาราษตระทางเหนือของพุทธคยา สมัยเด็กท่านมีนามว่า สันติวรมัน (Santivarman) พระบิดาตั้งไว้ในตำแหน่งองค์รัชทายาทเพื่อสืบต่อราชบัลลังก์ แต่เกิดเบื่อหน่ายในชีวิตฆาราวาสวิสัย จึงอุปสมบทเป็นภิกษุในสำนักท่านวิชัยเทพ องค์อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทา และศึกษาที่นั่นเป็นเวลานานกล่าวกันว่า ท่านเป็นผู้ชำนาญในญาณสมาบัติจนสามารถเข้าสมาบัติไปสอบถามข้อธรรมะและปัญหา ที่สงสัยกับพระมัญชุศรีที่สวรรค์ได้ ผลงานการแต่งที่เด่นคือ คัมภีร์โพธิจริยาวตารศาสตร์ ท่านเป็นคณาจารย์ฝ่ายมหายานที่มีชื่อเสียงพอสมควรในยุค พ.ศ.๗๐๐


๒๐.พุทธศิลป์มถุรา (Mathura Art)

พระพุทธรูปสมัยมถุรา

พุทธ ศิลป์ถุราได้ก่อตัวขึ้นมาใน พ.ศ.๖๐๐ หรือพุทธศตวรรษที่ ๖ มถุราเป็นชื่อเมืองหนึ่งทางตอนเหนือของอินเดีย ใกล้เมืองเดลลีเมืองหลวงตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา เป็นเมืองหลวงของแคว้นสุรเสนะ เดิมพุทธปฏิมากรรมหินทรายที่เป็นอินเดียแท้ ได้เริ่มขึ้นในสมัยมถุรานี้ พุทธศิลป์สมัยคันธาระเป็นศิลปะแบบกรีก-โรมัน ต่อมาช่างสกุลตันธาระก็ได้เผยแพร่เทคนิคและวิธีการแกะสลัก ให้ชาวพื้นเมืองอินเดียพร้อมทั้งคติการสร้างพระพุทธรูปก็เปลี่ยนจากเดิม ที่ไม่กล้าสร้างรูปพระศาสดาเพราะความเคารพ มีเพียงแต่สร้างสัญลักษณ์แทน เช่น รูปดอกบัว รูปธรรมจักร เป็นต้น มาเป็นสร้างรูปเคารพแบบถาวร ความรู้และทัศนคติได้ถ่ายทอดสู่ชาวอินเดียแล้ว การสร้างพระพุทธรูปแบบมถุราจึงได้เริ่มขึ้น ช่างชาวอินเดียได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบมาเป็นอินเดียเอง พระเกศาทำเป็นก้นหอย จีวรเป็นริ้วบางแนบพระองค์ พระพักตร์เป็นคนอินเดีย แทนที่จะเป็นฝรั่งแบบคันธาระ ทำพระรัศมีวงกลมรอบพระวรกายมีริ้วสวยงาม ขณะที่สมัยคันธาระพระรัศมีเป็นแบนเรียบธรรมดาไม่มีลวดลาย พระพุทธรูปสมัยมถุรานี้ นิยมทำเป็นปางประทับยืนมากที่สุด ประหัตถ์ขวายกขึ้นในท่าปางประทานอภัย สังฆาฏิพาดเหนือพระอังสะด้านซ้ายเพียงด้านเดียว กรอบหน้าไม่สูงจนเกินไป พระนาสิกไม่โด่งเหมือนสมัยคันธาระ ปางที่นิยมทำรองลงมาคือปางปรินิพพาน เช่น พระพุทธรูปปางปรินิพานที่เมืองกุสินารา ก็สร้างโดยนายช่างชาวเมืองมถุรา ชื่อว่าทินนานับเป็นพุทธศิลป์เก่าแก่อีกองค์ที่ยังคงถูกรักษาจนถึงปัจจุบัน พุทธศิลป์สมัยมถุรานี้นับว่าเป็นพุทธศิลป์ที่งดงามแบบอินเดียแท้


๒๑ . พุทธศิลป์สมัยอมราวดี (Amaravati Arts)

พระพุทธรูปสมัยอมราวดี

พ.ศ.๗๐๐ เป็นต้นมา ได้เกิดพุทธศิลป์ที่เกิดขึ้นในอินเดียภาคตะวันออกเฉียงใต้ ในรัฐอันธรประเทศปัจจุบัน รัฐนี้มีเมืองไฮเดอราบัด เป็นเมืองหลวง อาณาจักรอมราวดี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำกฤษณะ อำเภอกันตูร์ รัฐอันธรประเทศ อมราวดีเขียนเป็นภาษาสันสกฤตหรือบาลีว่าอมราวตี (Amaravati) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโบราณ เชื่อกันว่าพุทธศาสนาเข้าสู่เขตนี้สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งพระธรรมทูตไปเผยแพร่พุทธศาสนาได้เจริญ สืบต่อมาตามลำดับโดยไม่ขาดสาย เมืองอมราวดีตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำกฤษณะ พุทธศิลป์ยุคนี้มีลักษณะพระเกศาทำเป็นรูปก้นหอย พระพักตร์คล้ายใบหน้าคนอินเดียใต้ ห่มจีวรเฉียงเป็นริ้วชาย จีวรเป็นขอบหนาไม่แนบพระสรีระเหมือนสมัยมถุรา ด้านซ้ายจีวรวกขึ้นมาพาดข้อพระหัตถ์

ถ้าเป็นพระพุทธรูปยืนจะเอียงพระโสณีเล็กน้อย พุทธศิลป์สมัยอมราวดีนี้ได้มีอิทธิพลต่อการสร้างพระพุทธรูปหลาย ๆ ประเทศ เช่นมอญ พม่า เขมร ศรีวิชัย สุมาตรา หรือแม้กระทั่งในไทยเราเอง อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปยุคนี้ฝีมือยังนับว่าหยาบ ไม่พิถีพิถันมากนัก อาจจะเป็นเพราะช่างต้องการตัดรายละเอียดออกไป ให้ง่ายต่อการแกะสลัก กลายมาเป็นศิลปะเฉพาะของอมราวดี

นอกจากนั้นที่เมืองอมราวดีนี้ยังมีพุทธสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่งเช่นที่ นาครชุนโกณฑะ ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากเมืองอมราวดี ดินแดนที่พุทธศาสนามีความเจริญมายาวนาน แม้ปัจจุบันยังได้รับการดูแลไว้เป็นอย่างดี พุทธศิลปยุคนี้กินเวลาตั้งแต่ พ.ศ.๗๐๐ จนถึงพ.ศ. ๑๐๐๐ โดยประมาณต่อจากนั้นมาก็ไม่มีการพัฒนาเพิ่มเติมอีก


สรุปราชวงศ์กุษาณะ

๑. พระเจ้ากุชุละกัทพิเสส เริ่มพ.ศ.๕๕๘-๖๐๘ รวม ๕๐ ปี
๒. พระเจ้าเวมะกัทพิเสส เริ่มพ.ศ.๖๐๘-๖๒๑ รวม ๑๓ ปี
๓. พระเจ้ากนิษกะมหาราช เริ่มพ.ศ. ๖๒๑-๖๔๔ รวม ๒๓ ปี
๔. พระเจ้าวาสิฎฐกะ เริ่มพ.ศ. ๖๔๔-๖๖๗ รวม ๒๓ ปี
๕. พระเจ้าหุวิชกะ เริ่มพ.ศ. ๖๖๗-๖๙๐ รวม ๒๓ ปี
๖. พระเจ้ากนิษกะที่ ๒ เริ่มพ.ศ. ๖๙๐-๗๐๒ รวม ๑๒ ปี
๗. พระเจ้าวาสุเทวะที่ ๑ เริ่มพ.ศ. ๗๐๒-๗๑๙ รวม ๑๗ ปี
๘. พระเจ้าพระเจ้ากนิษกะที่ ๓ เริ่มพ.ศ.๗๑๙ - (ไม่อาจระบุเวลา)
๙. พระเจ้าวาสุเทวะที่ ๒ (ไม่อาจระบุเวลา)

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ31 ธันวาคม 2553 เวลา 23:00

    การศึกษาเปรียบเทียบความยุติธรรมในปรัชญาของเพลโตกับพุทธปรัชญาเถรวาท

    ตอบลบ