Asd

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา (Buddhist University)

ปลาย พ.ศ.๙๐๐ การศึกษาทางพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งในฝ่ายเถรวาทและนิกายมหายาน ได้เกิดมหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาขึ้นถึง ๗ แห่งคือ ๑.นาลันทา ๒.วลภี ๓.วิกรมศิลา ๔.โอทันตบุรี ๕.ชคัททละ ๖.โสมบุรี ๗.ตักกศิลา ดังมีรายละเอียดอย่างย่อ ๆ คือ
แผนที่ตั้งมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา
Buddhist University Location

๑. นาลันทา (Nalanda)

ซากมหาวิทยาลัยนาลันทา

ความจริงนาลันทาก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยในยุคนั้นยังเป็นวัดเพียงสองวัด ในสมัยคุปตะ จึงขยายเป็นวัดหลาย ๆ วัดรวมกันและมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี จนกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยในที่สุด ในช่วงที่พระถัมซัมจั๋งเข้าศึกษามีพระนักศึกษา ๑๐,๐๐๐ รูป พระอาจารย์ ๑,๕๐๐ รูป ในบรรดามหาวิทยาลัยทั้งห้าแห่ง มหาวิทยาลัยนาลันทายิ่งใหญ่สุดและมาเฟื่องฟูสูงสุด
ในสมัยพระเจ้าหรรษวรรธนะ พระองค์ทรงอุปถัมภ์อย่างเต็มที่ พระคณาจารย์นาลันทาที่มีชื่อเสียง คราวที่พระถังซัมจั๋งมาเยือนคือ พระอาจารย์ศีลภัทร (Shilabhadra) พระเทพเสน (Kevasena) พระปรัชญาประภา (Prajnaprabha) พระเทพสิงห์ (Devasingh) พระสาครมติ (Sakaramati) พระสิงหประภา (Singhprabha) พระสิงหจันทร์ (Singhchandra) พระวิทยาภัทร (Vidhyabhadra) ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนาลันทาเท่านั้นที่ยังคงเจอซากปรักหักพังค่อนข้างสมบูรณ์กว่าทุกแห่ง

๒. วลภี (Valabhi)

เป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายหินยาน ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของอินเดีย คือ ใกล้เมืองภวนคร หรือเมืองสุราษฎร์โบราณ แคว้นคุชราดในปัจจุบัน เจ้าหญิงทัดดาเป็นปนัดดาของพระเจ้าธรุวเสนาได้สร้างวิหารหลังแรกของวิหารวลภีขึ้นเรียกว่า "วิหารมณฑล" ต่อมาพระนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีที่มหาวิหารวลภี ภายหลังวิหารหลายแห่งก็ถูกสร้างเพิ่มเติม เช่นวิหารยักษาสุระ โคหกวิหาร และวัดมิมมา นอกจากนั้นวัดโดยรอลวลภีก็ถูกสร้างขึ้น ๑๒ วัดคือ ๑.ภตารกวิหาร ๒.โคหกวิหาร ๓.อภยันตริกวิหาร ๔.กักกวิหาร ๕.พุทธทาสวิหาร ๖.วิมลคุปตวิหาร ๑๒.ยธวกวิหาร
จุดประสงค์ของการสร้างวัดถูกเขียนไว้ในจารึกของวัดว่าเพื่อ ๑. เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ผู้มาจากทิศต่าง ๆ ทั้ง ๑๘ นิกาย ๒.เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ๓. เพื่อเป็นที่เก็บและรักษาตำรา
ในบันทึกของพระถังซัมจั๋งเรียกวลภีว่า ฟา-ลา-ปี ท่านกล่าวว่า "ถัดจากแคว้นกัจฉะไป ๑,๐๐๐ ลี้ก็ถึงแคว้นวลภี แคว้นนี้มีอาราม ๑๐๐ แห่ง พระภิกษุสงฆ์ ๖,๐๐๐ รูป ล้วนสังกัดลัทธิสัมมติยะแห่งนิกายหินยาน ที่นี่พระเจ้าอโศกได้สร้างสถูปไว้เป็นอนุสรณ์ พระราชาเป็นวรรณกษัตริย์เป็นชามาดา (ลูกเขย) ของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ทรงนามว่า ธรุวัฏฏะทรงเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ทุกปีจะนิมนต์พระสงฆ์ทั่วแคว้นมาถวายภัตตาหาร เสนาสนะ สบง จีวร เภสัช เป็นต้น" พระเถระที่มีชื่อเสียงในมหาวิทยาลัยวลภีคือ พระสิถิรมติ (Sthiramati) และ พระคุณมติ (Gunamati) ซึ่งท่านทั้งสองเป็นศิษย์รุ่นต่อมาของพระวสุพันธุ ส่วนอารามที่มีชื่อเสียงที่มหาวิทยาลัยวลภี เมืองวลภี คือ ๑.พุทธทาสวิหาร สร้างโดยพระอาจารย์ภทันตะพุทธทาส ๒.อัพยันตริกาวิหาร สร้างโดยอุบาสิกามิมมา ๓.กากะวิหาร สร้างโดยพ่อค้าชื่อว่า กากะ ๔.โคหกะวิหาร สร้างโดยเศรษฐีโคหกะ ๕. วิมาลาคุปตะวิหาร สร้างโดยพระเถระชื่อว่าวิมาลาคุปตะ ๖. สถิรวิหาร สร้างโดยพระเถระสถิระ เป็นต้น
วลภีมาเจริญรุ่งเรือง อย่างมากในสมัยพระเจ้าไมตรกะ ราว พ.ศ.๑๐๙๘ พระองค์อุปถัมภ์เต็มความสามารถจนใหญ่โตเหมือนนาลันทา เป็นป้อมปราการอันสำคัญของพุทธศาสนาหินยานหรือเถรวาท ท่านสถิรมติพระเถระชื่อดังจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ได้สร้างวิหารหลังหนึ่งที่วลภีเช่นกัน มหาวิทยาลัยวลภีนอกจากจะศึกษาทางด้านพุทธศาสนาทุกนิกายแล้ว ยังศึกษาทางโลกเช่น จริยศาสตร์ แพทยศาสตร์อีกด้วย เนื่องจากชัยภูมิอยู่ใกล้ปากีสถาน และอิหร่าน เมื่อกองทัพมุสลิมรุกรานราว พ.ศ. ๑๔๐๐ วลภีจึงทำลายลงอย่างยับเยิน พระสงฆ์และพุทธบริษัทที่รอดตายต่างอพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์แคว้นมคธ พ.ศ.๒๔๐๔ นายพันเอกทอด (Colonel Tod) นายทหารชาวอังกฤษได้เป็นผู้ค้นพบซากโบราณมหาวิทยาลัยนี้ ปัจจุบันซากโบราณสถานยังพอหลงเหลืออยู่ในเมืองวลภีนคร เมืองอาเมดาบาด รัฐคุชราต

๓.วิกรมศิลา (Vikramasila)

ตั้งอยู่เชิงเขาฝั่งขวาของแม่น้ำคงคารัฐเบงกอลปัจจุบัน สร้างโดย พระเจ้าธรรมปาละ กษัตริย์ราชวงศ์ปาละราว พ.ศ.๑๓๐๘ และได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์หลายพระองค์ มีพระภิกษุธิเบตชื่อทีปังกร ศรีญาณผู้จบจากมหาวิทยาลัยโอทันตบุรีมาเป็นอธิการบดีในช่วงที่มหาวิทยาลัยรุ่งโรจน์มีนักศึกษาถึง ๓,๐๐๐ คน อาจารย์ ๘๐๐ รูป มีบัณฑิต ๑๐๘ ท่านและมหาบัณฑิต ๘ ท่านแต่ที่ปรากฎนามมี ๗ คือ พระมหาปราชญ์รัตนกรสันติ พระศานติภัทร พระไมตรีปา ท่านโฑมทีปาท่านสถวีภัทร ท่านสมฤตยากรสิทธะ ท่านทีปังกรศรีญาณ เมื่อ พ.ศ.๑๗๗๘ พระลามะชาวธิเบตนามว่าธรรมสวามิน (Lama Dharmasvamin) ได้เดินทางไปอินเดียเป็นเวลา ๓ ปีเศษ ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ของวิกรมศิลาว่า "วิกรมศิลายังมีอยู่จริงในสมัยของท่านธรรมสวามี (คนละคน) และบัณฑิตชาวเมืองกัศมีร์นามว่าศักยาศรีภัทระได้มาเยี่ยมเมื่อพ.ศ. ๑๖๙๖ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว เพราะทหารมุสลิมชาวตุรกีได้ทำลายมันลงอย่างย่อยยับและรื้อศิลารากฐาน ทิ้งลงแม่น้ำคงคาทั้งหมด" พระลามะซัมปา (Lama Sumpa) กล่าวว่า วิกรมศิลามีกำแพงล้อมรอบทุกทิศทาง มีประตู ๖ แห่ง แต่ละแห่งมีบัณฑิตที่มีชื่อเสียงเฝ้าดูแลอยู่ทุกประตู โดยมีรายนามดังนี้
๑.พระอาจารย์รัตนกรสันติ (Ratnakarasanti) ดูแลประตูทิศตะวันออก
๒.พระอาจารย์วาคีสวารกีรติ (Vagisvarakirti) ดูแลทิศตะวันตก
๓.พระอาจารย์นาโรปะ (Naropa) ดูแลประตูทางทิศเหนือ
๔.พระอาจารย์ปรัชญากรมติ (Prajnakaramati) ดูแลประตูทิศใต้
๕.พระอาจารย์รัตนวัชระ (Ratnavajra) ดูแลประตูสำคัญที่หนึ่ง
๖.พระอาจารย์ชญาณศรีมิตร (Jnanasrimitra) ดูแลประตูสำคัญที่หนึ่ง

นอกนั้น ภายนอกกำแพงรายรอบไปด้วยวัดถึง ๑๐๗ วัด ภายนอกกำแพงมีสถาบันอีก ๕๘ แห่ง มีนักปราชญ์ถึง ๑๐๘ คน ในยุคสมัยพระเจ้ารามปาละปกครองมคธและเบงกอล วิกรมศิลามีท่านอภัยการคุปตะเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยนี้เป็นที่มั่นสำคัญของพุทธศาสนานิกายตันตระจนถึงวาระสุดท้ายที่กองทัพมุสลิมเติร์กนำโดย อิคทียาร์ อุดดิน โมฮัมหมัด (Ikhtiyar-Ud-din-Mohammad) บุกมาถึงราว พ.ศ.๑๗๔๓ พวกเขาทำลายล้างและนำหินและอิฐทิ้งลงแม่น้ำคงคา วิกรมศิลาจึงหายสาบสูญจากความทรงจำของผู้คนตั้งแต่นั้นมา

๔.โอทันตบุรี (Odantapuri)

ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ปัจจุบันเรียกว่าพิหารชารีฟ เดิมเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่ง บรรจุพระสงฆ์ถึง ๑,๐๐๐ รูป ต่อมาวัดโอทันตบุรีก็กลายมาเป็นมหาวิทยลัย ดังเช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งอยู่ที่แคว้นมคธและเบงกอล มหาวิทยาลัยนี้สร้างโดย พระเจ้าโคปาสะ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปาละ ราวพ.ศ. ๑๒๐๓ ต่อมาก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นมหาวิทยาลัย โดยการอุปถัมภ์อย่างมุ่งมั่นของกษัตริย์ราชวงศ์ปาละเกือบทุกพะรองค์ ต่อมามินฮาส (Minhas) นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียที่มาร่วมในเหตุการณ์ในครั้งนั้นกล่าวว่า "เมื่ออิคทิยาร์ ได้รุกรบมาถึงมคธได้เข้าทำลายโบสถ์ ผู้อาศัยเกือบทั้งหมดเป็นพราหมณ์โกนหัวโล้น ทหารม้าได้ฆ่าฟันพวกเขาตายเป็นจำนวนมาก ภายในมีหนังสือเป็นจำนวนมาก พวกทหารม้าได้บังคับให้พวกเขาอ่านแต่ไม่มีใครอ่านได้ เพราะผู้มีการศึกษาได้ถูกฆ่าตายเกือบหมด และหนังสือเหล่านั้นก็ถูกทำลายด้วย" จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ทหารม้ามุสลิมตุรกีคงสำคัญผิดเห็นพระสงฆ์เป็นพราหมณ ์และหนังสือส่วนมากคงเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา และคงจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่มีการศึกษาไม่สามารถอ่านและเข้าใจได้ ในสมัียนี้ภาษาบาลีได้ลดอิทธิพลจนแทบหายไปหมด พร้อมกับการจากไปของพุทธศาสนาแบบหินยาน (เถรวาท) คัมภีร์ทางพุทธศาสนาเกือบทั้งหมด จึงจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ต่อมามหาวิทยาลัยมาถูกทำลายลงต่อจากวลภี โดยกองทหารมุสลิมนำโดยภักติยาร์ ขิลจิ พ.ศ.๑๗๘๖ ในชั้นต้นโอทันตบุรี หลังจากทำลายลงแล้วได้ถูกทำเป็นค่ายทหารและทหารเติร์กมาสร้างมัสยิดทับในภายหลัง

๕.ชคัททละ (Jagaddala)

มหาวิทยาลัยนี้ก็ตั้งอยู่รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย สถาปนาขึ้นโดย พระเจ้ารามปาละ แห่งราชวงค์ปาละ ณ เมืองวาเรนทระ แต่ปีที่สร้างหลักฐานหลายแห่งกล่าวขัดแย้งกันบ้างว่า พ.ศ.๙๕๐ บ้างว่า พ.ศ. ๑๕๕๐ พ.ศ.๑๖๓๕ บ้าง แต่ข้อมูลฝ่ายหลังมีความน่าเชื่อถือมากกว่าในหนังสือกวีนิพนธ์ช่อรามจริต นักกวีนามว่าสนธยากรนันทิ ประจำราชสำนักพระเจ้ารามปาละได้แต่งขึ้นได้กล่าวว่า "เมืองวาเรนทระเป็นเมืองที่มีช้างตระกูลมันทระอยู่มาก โดยมีสำนักอบรมที่มหาวิหารชคัททละและวัดนี้มีรูปพะรโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และที่มีชื่อเสียงอีกองค์คือ เทพธิดาตารา" ในคำบอกเล่าของท่านศักยศรีภัทระ พระภิกษุชาวกัศมีร์ผู้ท่องเที่ยวไปในแคว้นมคธกล่าว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยโอทันตบุรี และวิกรมศิลาถูกทำลายแต่ชคัททละยังสมบูรณ์ดีมิได้ถูกทำลายไปด้วย ท่านได้มาพักและศึกษาที่นี่เป็นเวลา ๓ ปีกับ ท่านสุภการคุปตะ (Subhakaragupta) นอกนั้นยังมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงคือ ท่านวิภูติจันทรา (Vibhuticantra) ท่านทานศีล (Danasila) และท่านโมกษะการคุปตะ (Moksakaragupta) ต่อมาท่านทั้งสาม คือ ท่านศักยศรีภัทระ (Sakyasribhadra) ท่านวิภูติจันทราและท่านทานศีลก็ได้หลบหนีจากชคัททละไปสู่เนปาล และธิเบตหลังจากที่ทหารเติร์กมุสลิมยึดอำนาจในมคธและเบงกอลได้แล้ว รวมเวลาที่รุ่งเรืองราว ๑๕๐ ปี มหาวิทยาลัยนี้จึงถูกทำลายลง

ซากพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่โสมบุรี ราชศาฮี บังคลาเทศ

๖.โสมบุรี (Somapura)

ตั้งอยู่ในแคว้นปุณยวรรธนะ เบงกอล ก่อตั้งโดยพระเจ้าเทวปาละ (Devapala) กษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ในราชวงศ์ปาละราว พ.ศ. ๑๒๔๘ แต่ตำนานหนังสือประวัติศาสตร์ของรัฐเบงกอลกล่าวว่า พระเจ้าเทวปาละขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. ๑๓๕๓ ซึ่งห่างกันถึง ๑๐๕ ปี ดังนั้นการสร้างจึงต้องเป็นศักราชที่พระองค์ครองราชย์ ในระยะแรกพระองค์สร้างมหาวิหารชื่อว่าธรรมปาละเป็นวิหารที่ใหญ่โต กล่าวกันว่าสามารถใช้เป็นที่อาศัยของพระสงฆ์
ต่อมาในสมัยพระถังซัมจั๋งเดินทางมาที่นี่ ท่านกล่าวว่า ที่นี่เป็นชุมชนของชาวพุทธ แต่ศาสนิกของเชนกลับมีจำนวนมากกว่า แต่มาในสมัยราชวงศ์ปาละจำนวนพุทธศาสนิกชนจึงเพิ่มขึ้น มีอิทธพลครอบครุมศาสนาอื่นๆ มหาวิทยาลัยโสมบุรีถูกทำลายโดยพระเจ้าชาตะวรมัน แห่งเบงกอลตะวันออก ได้บุกเข้าทำลายธรรมปาละวิหารและสถานที่อื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยในขณะที่หลาย ๆ รูปได้หลบหนีเอาตัวรอดจากการทำลาย แต่ท่านกรุณาศรีมิตร (Karunasrimitra) พระเถระผู้ใหญ่กลับไม่ยอมหลบหนีไปไหน ยังคงกอดพระพุทธปฎิมาที่พระบาทไว้แน่น อันบ่งบอกถึงความศรัทธาที่แรงกล้าต่อพุทธศาสนาที่ยอมตาย โดยไม่ยอมหนีไปไหน จนกระทั่งไฟลุกลามเผาพลาญร่างกายของท่านพร้อมกับสถานที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เมื่อไฟและทหารผ่านพ้นไปแล้ว พระวิปุละศรีมิตร (Vipula-srimitra) พร้อมพระสงฆ์ที่เหลือรอดก็เข้ามาบูรณะอีกครั้ง พร้อมสร้างรูปเทพธิดาตาราไว้บูชา
ส่วนในศิลาจารึกในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าว่า ภิกษุชื่อว่าทศพลภัคเป็นผู้นำในการสร้างมหาวิหารโสมปุระเพื่อประกาศคุณของพระรัตนตรัย และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเริ่มประมาณ ๔๐๐ ปีคือราวพุทธศตวรรษ ๑๔-๑๘ จนกระทั่งได้ถูกทำลายอีกครังโดยกองทัพมุสลิมเติร์ก มหาวิทยาลัยนี้จึงจมอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโบกครา เมืองทินาชปูร์ ราชศาฮี ประเทศบังคลาเทศ ซากปรักหักพังของมหาวิทยาลัยยังมีให้เห็นแม้ในปัจจุบัน

ธัมมราชิกสถูป ตักกศิลา ปากีสถาน

๗.ตักกศิลา (Takshasila or Taxila)

เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งมายาวนานที่สุดกว่าทุกมหาวิทยาลัยที่กล่าวมา ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล มหาวิทยาลัยตักกศิลาไม่ใช่มหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เพราะตั้งมาก่อนพุทธกาล แนวการสอนจึงเป็นพระเวทของพราหมณ์เป็นหลัก แต่วิชาที่สอนมีหลายสาขา คือ การปกครอง อักษรศาสตร์ ยุทธศาสตร์แพทยศาสตร์ นาฎศิลป์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น
มีนักศึกษาที่มีชื่อเสียงในสมัยพุทธกาลคือ ๑. พระเจ้าปเสนทิโกศล ๒.หมอชีวกโกมารภัจจ๓.พันธุลเสนาบด๔. มหาโจรองคุลิมาล
ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยกทัพตีอินเดีย พ.ศ. ๒๐๐ พระเจ้าอัมพิราช พระราชาเมืองตักกศิลายอมอ่อนน้อมและจัดทหารเข้าโจมตีปัญจาปช่วยทัพกรีกของอเล็กซานเดอร์ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนาได้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พระองค์เองได้สร้างวัดอย่างมากที่เมืองนี้ สถูปหลายแห่งตกมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่นธมมราชิกสถูป คุณาละสถูป เป็นต้น
ตักกสิลาถูกทำลายหลายครั้ง เช่นพวกหูนะพวกฮั่นเข้าบุกทำลาย และที่สำคัญที่สุดถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมเนื่องจากกตักศิลาเป็นเมืองหน้าด่านของอินเดีย จึงเป็นการง่ายต่อการถูกทำลาย
ในสมัยพระถังซัมจั๋งเดินทางเข้ามาในอินเดีย ท่านได้ผ่านเมืองตักกศิลานี้ และได้เขียนไว้ว่า "ราชอาณจักรตักกศิลามีอาณาเขตราว ๒,๐๐๐ ลี้โดยรอบ ส่วนเมืองหลวงอาณาเขตราว ๑๐ ลี้ พระราชวงศ์ได้สูญสิ้นไปเพราะเกิดมีการต่อสู้หลายครั้งแต่ก่อนเมืองนี้ตกเป็นเมืองขึ้นของแคว้นกปิศะ แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นเมืองขึ้นของแคว้นกัศมีร์ (แคชเมียร์) เขตนี้มีชื่อเสียงในเรื่องความอุดมสมบูรณ์และผลิตข้าวพันธุ์ดี ประชาชนที่นี่โดยมากกล้าหาญพวกเขาเคารพในพระรัตนตรัย แม้ว่าจะมีสังฆารามจำนวนมาก แต่มีนได้ทรุดโทรมพังพินาศ รกร้าง มีพระจำนวนน้อย ทั้งหมดศึกษาในนิกายมหายาน
ไกลออกไปจากเมืองนี้ราว ๓๐ ลี้ ระหว่างภูเขาทั้งสองมีสถูปของพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้สูงประมาณ ๑๐๐ ฟิตมรการเปล่งรัศมีเรืองรอง ณ ที่นี่ เมื่อพระตาคตเสวยพระชาติเป็นพระราชาพระนามว่าจันทรประภาได้สละพระเศียรของพระองค์เป็นทาน ๑,๐๐๐ ครั้งเพื่อต้องการบรรลุพระโพธิญาณ ที่ข้างสถูปนี้มีพระอารามที่พระกุมารลัพธ์ คณาจารย์ฝ่ายลัทธิเสาตรานติกได้รจนาหลายคัมถีร์ไว้"

เมื่อครั้ง พ.ศ.๒๔๐๐ ท่านเซอร์ คันนิ่งแฮมได้มาขุดค้นที่นี่พบซากโบราณวัตถุมากมายปะปนกันทั้งศิลปะกรีก อินเดีย และอิสลาม ทั้งนี้เพราะเมืองนี้ถูกบุกรุกจากหลายราชวงศ์หลายวัฒนธรรม ศิลปะวัตถุถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งที่อังกฤษ ปากีสถาน และอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในเขนรัฐปัญจาปของปากีสถาน ใกล้เมืองราวัลปินดีราว ๓๐ กิโลเมตร และไม่ไกลจากเมืองอิสลามาบาด เมืองหลวงของปากีสาน

พ.ศ. ๙๙๗ พระเจ้าสกันทคุปต์ปกครองอาณาจักรคุปตะ แคว้นมคธ ต่อจากพระเจ้ากุมารคุปตะ จนถึงพ.ศ. ๑๐๒๐ หลังจากพระเจ้าสกันทคุปตะสวรรคตแล้วไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ปกครองต่อจนถึง พ.ศ. ๑๐๘๓ ก็สิ้นสุดราชวงศ์นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น