Asd

วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

พุทธศาสนา ยุค พ.ศ.๑๓๐๐-๑๗๐๐ (Buddhism in B.E. 1300-1700)

ภายหลังจากที่พระเจ้าหรรษวรรธนะได้สวรรคตแล้ว อินเดียก็เริ่มแตกแยกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยอีกครั้ง จนมาถึงสมัยที่พระเจ้าโคปาละ (Gopala) สถาปนาราชวงศ์ปาละขึ้นที่มคธและเบงกอล ราชวงศ์นี้นับเป็นราชวงศ์ที่ค้ำชูพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ในช่วงนี้ได้มีเหตุการณ์ที่สำคัญ ๆ หลายอย่างเกิดขึ้นคือ
๑.มุสลิมเริ่มรุกอินเดีย (Muslim invader)

หลัง จากศาสดา นบี โมฮัมหมัด กำเนิดขึ้นในโลกราว พ.ศ.๑๑๑๓ และเริ่มก่อตั้งศาสนาอิสลามที่ซาอุดิอารเบีย เมื่อ พ.ศ. ๑๑๕๓ แล้วสาวกรุ่นหลังก็ใช้นโยบายการเผยแพร่ศาสนา ด้วยวิธีการที่รุนแรง ราว พ.ศ. ๑๒๐๐ กองทัพมุสลิมก็เริ่มรุกทั่วเอเชียกลาง ต่อจากนั้นรุกเข้าสู่แอฟริกาเหนือ และเมื่อยึดแอฟริกาเหนือได้แล้ว ก็ยาตราทัพเข้าสู่ยุโรปยึดได้สเปน อิตาลี และบางส่วนของยุโรป แต่ต่อมาก็ถูกโต้กลับจากยุโรป เมื่อแนวรบด้านยุโรปถูกต้านทานอย่างหนาแน่น กองทัพมุสลิมก็เริ่มรุกทางเอเชียตะวันออก ยึดได้เมโสโปเตเมีย (อีรัก) เปอร์เซีย (อีหร่าน) และยึดได้อินเดียส่วนเหนือคือคันธาระ สินธุ์ ตักกศิลา ปัญจาป สถานที่ทางศาสนาที่กองทัพอิสลามยึดได้ ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ถูกทำลายอย่างราบคาบ แต่กองทัพมุสลิมก็ไม่อาจรุกเข้าสู่อินเดียตอนกลางได้เพราะถูกต้านทานอย่าง เข้มแข็ง จากกษัตริย์อินเดีย และช่วยนั้นผู้ปกครองของอินเดียก็ยังสามัคคีกัน กองทัพมุสลิมจึงถูกตรึงไว้ได้เกือบ ๕๐๐ ปี

กษัตริย์ ราชวงศ์ปาละนับเป็นราชวงศ์สุดท้ายที่ให้การคุ้มครองพุทธศาสนาในอินเดียตะวัน ออก พุทธศาสนายืนหยัดอยู่ในแถบนี้จนถึง พ.ศ. ๑๗๐๐ เศษ ราชวงศ์นี้สถาปนาขึ้นโดยพระเจ้าโคปาละ (Gopala) สืบต่อมาจนถึงพระเจ้าเทวปาละ ธรรมปาละ รามปาละ และมหิปาละ โดยเฉพาะพระเจ้าธรรมปาละ ได้สร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์อีกแห่งที่แม่น้ำคงคา ชื่อว่าวิกรมศิลานอกนั้นกษัตริย์หลายพระองค์ในราชวงศ์นี้ก็สร้างมหาวิทยาลัย ทางพุทธศาสนาหลายแห่งเช่น ชคัททละ โอทันตบุรี โสมบุรี

๒.พุทธศิลป์สมัยโจฬะ (Chola Arts)

พ.ศ.๑๓๐๐ พุทธศิลป์ในรัฐภาคใต้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้น ยุคนี้มีอาณาจักรที่เข้มแข็ง เกิดขึ้นในภาคใต้ของอินเดียคือ
๑.รัฐปัลลวะ เมืองหลวงคือกาญจีบุรัม
๒.รัฐโจฬะ เมืองหลวงคือตัญชาวุร์
๓.รัฐปาณฑยะ เมืองหลวงชื่อมธุไร
๔.รัฐเจระ เมืองหลวงคือ เกราล่า

หลวงพ่อพุทธมงคล ศิลปะโจฬะ อินเดียใต้

โดยเฉพาะที่รัฐโจฬะอันมีเมืองหลวงที่ตัญชาวุร์มีศิลปะเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ความจริงพุทธศาสนาเข้าสู่อินเดียใต้ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณฑูตมาเผยแพร่แล้ว ในยุคนั้นยังไม่มีคติในการสร้างพระพุทธรูป เป็นแต่สร้างสัญลักษณ์แทน คือ ดอกบัวแทนพระศาสดา ต่อมาราว พ.ศ. ๖๐๐ งานพุทธศิลป์จึงได้เริ่มขึ้น แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก

พ. ศ.๑๓๐๘ กษัตริย์โจฬะนับถือศาสนาฮินดู ได้โจมตีอาณาจักรปัลลวะและยึดได้สำเร็จแล้วข้ามไปรุกรานถึงเกาะลังกา สงครามระหว่างโจฬะและลังกายึดเยื้อเป็นเวลานาน คราวใดที่โจฬะชนะ ศิลปกรรมฮินดูจะหลั่งไหลเข้าเกาะลังกา แต่ถ้าลังกาชนะช่างจากโจฬะต้องสร้างสรรค์พุทธศิลป์ให้ลังกา การแพ้ชนะเกิดขึ้นหลายครั้งหลายครา ศิลปะโจฬะก็เริ่มแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแม้กษัตริย์โจฬะยุคนี้จะนับถือฮินดู แต่พุทธศาสนาก็ไม่กระทบทกระเทือนมากนัก นิกายที่แพร่หลายคือเถรวาท ส่วนมหายานก็เป็นที่นิยมเช่นกัน ศิลปะสมัยโจฬะนับว่าแตกต่างจากสกุลอื่น ๆ มาก เพราะเป็นศิลปะแบบทมิฬโดยตรง ศิลปินจะแสดงความรู้สึกเรื่ืองเชื้อชาติไว้ในงานปฏิมากรรมอย่างชัดเจน จะเห็นได้ในศิลปะทุกแขนง จุดเด่นของพุทธศิลป์ยุคนี้คือพระพุทธสรีระมีวรกายล่ำสันกลมแน่น พระอุระ(อก) นูนเป็นพิเศษ แสดงความกล้าหาญบึกบึนตั้งแต่ปลายพระรัศมีจดปลายพระบาท พระพักตร์กลมอูม พระเนตร พระนาสิก (จมูก) ค่อนข้างใหญ่ พระโอษฐ์ (ปาก) หนา ถ้าเป็นรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์จะเห็นความเคลื่อนไหว การแสดงฤทธิ์ อิทธิปาฏิหาริย์ต่าง ๆ ถ้าเป็นพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์จะเห็นความสงบและเคร่งขรึม อาณาจักรโจฬะภาคใต้ยืนยงมาจนถึง พ.ศ.๒๐๐๐ ปี จึงล้มสลาย พุทธศิลป์โจฬะยังมีอิทธิพลต่อประเทศใกล้เคียงอีกด้วย เช่น พม่า ลังกา ไทยเป็นต้น

๓.พุทธาวตาร (Buddha Incarnation)

ศังกราจารย์ผู้แต่งคัมภีร์ปุราณะ

ใน ยุค พ.ศ.๑๓๐๐ ได้มีพราหมณ์ชื่อว่าศังกราจารย์ (Sankaracharya) เป็นนักปราชญ์และนักศาสนาของฮินดูคนสำคัญ ได้ประกาศศาสนาฮินดูอย่างเอาจริงเอาจัง สังกัดนิกายไศวะ เกิดที่เกราลา (Kerala) ตอนใต้ของอินเดียเป็นศิษย์ของโควินทะ ซึ่งเป็นศิษย์ของเคาฑาปาทะ เคาฑปาทะเป็นคนแรกที่ได้ประยุกต์คำสอนของพุทธศาสนามหายานมาใช้ปรัชญาฮินดู ของศังกราจารย์ได้แนวคิดมาจากพุทธศาสนา มหายานนิกายมาธยมิกของท่านนาครชุนผู้มีชีวิตในช่วง พ.ศ.๖๙๓-๗๙๓ เป็นผู้มีความรู้ในศาสนาทั้งหลายในอินเดียทั้งพุทธ พราหมณ์ และเชน เป็นอย่างดี กล่าวกันว่า ศังกราจารย์ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย และท้าโต้วาทีไปทั่วอินเดีย นอกจากลอกเลียนแบบทางด้านคำสอนและปรัชญาแล้ว ยังได้ตั้ง คณะสงฆ์ฮินดูเลียนแบบพุทธศาสนาเพราะเดิมฮินดูไม่มีสถาบันสงฆ์ พร้อมตั้งวัดฮินดูนิกายไศวะทั้งสี่ทิศ คือ วัดศฤงคารีที่ภาคใต้ วัดปุรีภาคตะวันออก วัดทวารกะภาคตะวันตก วัดพัทรีนาถที่ภาคเหนือ และหลาย ๆ วัดก็ยึดจากวัดพุทธ เช่นสวามีวิเวกานันทะผู้นำคนสำคัญของฮินดูกล่าวว่า "วัดที่ชคันนาถเป็นวัดพุทธเก่า พวกเรายึดเอาวัดนี้และวัดอื่น แล้วทำให้เป็นวัดฮินดูเสีย เรายังจะต้องทำอย่างนี้อีกมาก" และที่สำคัญที่สุดได้แต่งคัมภีร์ปุราณะขึ้นเพื่อกลืนพุทธศาสนา โดยอ้างว่าพระพุทธองค์เป็นอวตารที่ ๙ ของพระวิษณุเพื่อหวังกลืนพุทธศาสนา ข้อความนี้เขียนไว้ในคัมภีร์ปุราณะ ซึ่งแปลว่าเก่าแก่มีทั้งหมด ๑๘ คัมภีร์ บางตอนเก่าแก่มีอายุราวพ.ศ. ๘๕๐ แต่ข้อความที่นำพระพุทธองค์ไปเป็นอวตาร มีอายุราวพ.ศ.๑๐๐๐-๑๓๐๐ ดังมีข้อความตอนหนึ่งว่า

"พวกอสูรมีประหลาทะเป็นหัวหน้า ได้ขโมยเครื่องบูชายัญของเทพยดาไป แต่เล่าอสูรแกร่งกล้ามาก เทพยดาปราบไม่ได้ พระวิษณุเจ้าจึงเนรมิตรบุรุษแห่งมายา (นักหลอกลวง) ขึ้นมาเพื่อชักพาเหล่าอสูรออกไปให้พ้นทางแห่งพระเวท บุรุษแห่งมายานั้นนุ่งห่มผ้าสีแดง และสอนเหล่าอสูรว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป ทำให้อสูรเป็นชาวพุทธและทำให้หมู่ชนอื่นๆ ออกนอกศาสนา พากันละทิ้งพระเวท ติเตียนเทพยดาและพราหมณ์ทั้งหลายสลัดทิ้งพระธรรมที่เป็นเกาะป้องกันตัว เทพยาทั้งหลายจึงเข้าโจมตีและฆ่าอสูรเหล่านั้นได้"

อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า

"เมื่อกลียุคเริ่มขึ้นแล้ว องค์พระวิษณุ เจ้าจะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้า โอรสราชาอัญชนะ (ความจริงคือ สุทโธทนะ) เพื่อชักพาเหล่าศัตรูของเทพยาดาทั้งหลายให้หลงผิดไปเสีย มาสอนธรรมแก่เหล่าอสูร ทำให้พวกมันออกไปเสียจากศาสนา พระองค์จะสอนเหล่าชนผู้ไม่สมควรแก่ยัญพิธีให้หลงผิดออกไป ขอนอบน้อมแด่องค์พุทธ ผู้บริสุทธิ์ ผู้หลอกลวงเหล่าอสูร"

นอกจากคัมภีร์ปุราณะแล้ว ก็ยังปรากฎในคัมภีร์มหาภารตะว่า

"เมื่อกลียุค องค์พระวิษณุเจ้าจะลงมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นโอรสราชาสุทโธทนะ เป็นสมณะโล้น ออกสั่งสอนด้วยภาษามคธ ชักพาเหล่าประชาชนให้หลงผิด ประชาชนเหล่านี้ก็กลายเป็นสมณโล้นด้วย และนุ่งห่มผ้าพราหมณ์ก็เลิกพิธีเซ่นสรวง และหยุดสาธยายพระเวท ลำดับนั้นเมื่อสิ้นกลียุคพราหมณ์นามว่ากิลกี เป็นบุตรแห่งวิษณะษยะจะมาถือกำเนิด และกำจัดเหล่าอนารชนคนนอกศาสนาเหล่านั้นเสีย"

นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เขียนถึงสถานะของพระพุทธองค์และชาวพุทธในคัมภีร์ฮินดู โดยถือว่าชาวพุทธเป็นอสูร การเกิดของพุทธศาสนา เป็นกลียุคทำให้คนออกนอกศาสนา จึงต้องส่งคนมาปราบปราม จากบันทึกฉบับนี้ทำให้เราทราบว่าพุทธศาสนาเจริญมากจนผู้คนหนีออกจากศาสนาฮิ นดุเกือบหมด ดร.อาร์ซี มะชุมดาร์ (Dr.R.C. Majumdar) นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของอินเดียได้วิเคราะห์เรืองที่ฮินดูอุปโลกน์พระ พุทธเจ้าเป็นอวตารปางหนึ่งของฮินดูไว้ออย่างน่าฟังว่า

"การที่ศาสนาฮินดูอุปโลกน์พระพุทธเจ้าให้เป็นอวตารปางหนึ่งนับว่าเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่ชาญฉลาดล้ำลึก เพราะเท่ากับเป็นการทำลายฐานยืนของพุทธศาสนาในอินเดีย และในที่สุดก็นำไปสู่การเสื่อมสลายของพุทธศาสนาไปจากแผ่นดินถิ่นกำเนิด"

สำหรับนารายณ์สิปปางหรืออวตารทั้ง ๑๐ นั้น คือ ๑.มัสยาวตารเกิดเป็นปลา ๒.กูรมาวตาร เกิดเป็นเต่า ๓. วราหวตาร เกิดเป็นหมู ๔.นรสิงหาวตาร ครึ่งมนุษย์ครึ่งสิงห์ ๕.วามนาวตาร เกิดเป็นคนแคระ ๖.ปรศุรามาวตาร เกิดเป็นรามสูร ๗. รามาวตาร เกิดเป็นพระราม ๘.กฤษณาวตาร เกิดเป็นพระกฤษณะ ๙.พุทธาวตาร เกิดเป็นพระพุทธเจ้า ๑๐.กิลกิยาวตาร เกิดเป็นพระกิลกิ (คนขี่ม้าขาว)

ดังนั้นคนทั่วไปจึงมองว่า ศาสนาฮินดูและพุทธเป็นอันเดียวกันยุทธวิธีนี้นับว่าได้ผล เพราะทำให้พุทธศาสนิกชนโดนกลืนไปเป็นฮินดูอย่างมาก แม้ในปัจจุบันชาวอินเดียที่เป็นฮินดูยังเชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นอวตารของพระวิษณุอย่างเดิม โดยอ้างคัมภีร์ปุราณะนี้เป็นสำคัญ ยกเว้นคนหัวก้าวหน้าที่มีการศึกษาดี จึงจะรู้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริงแต่อย่างใด

พ.ศ.๑๓๑๓ พระเจ้าธรรมปาละ (Dhamrmapala) ขึ้นปกครองอาณาจักรมคธและเบงกอลต่อจากพระบิดาเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔ ในราชวงศ์ปาละ พระองค์เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด หลังขึ้นครองราชสมบัติไม่นานพระองค์โปรดให้สร้างมหาวิหารและมหาวิทยาลัยโสม ปุรี (Somapurmahavihar) เพื่อเป็นที่ศึกษาของพระสงฆ์และสิทธะทั้งหลายในเขตอินเดียตะวันออกปัจจุบัน ซากมหาวิหารโสมบุรีอยู่ในเขตประเทศบังกลาเทศ ในแผ่นหินที่ขุดค้นได้ที่มหาวิหารโสมบุรีได้จารึกด้วยภาษาสันสกฤตไว้ว่า "ศฺรี โสมปุรี- ศฺรี ธรฺมปาลเทว-มหาวิหาริย-อารย-ภิกฺษุ-สงฺฆสฺย" แปลได้ความว่าพระเจ้าศรีธรรมปาละเทวะ ได้สร้างศรีโสมบุรีนี้ไว้แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้ประเสริฐ

พระเจ้าศรีธรรมปาละปกครองราชอาณาจักรเขตนี้จนถึงพ.ศ. ๑๓๕๓ ก็เสด็จสวรรคต ในยุคนี้พุทธศาสนาได้ปฏิรูปตัวเองเข้ากับศาสนาฮินดูอย่างหนัก โดยรับเอาลัทธิตันตระเข้ามาใช้เรียกว่า พุทธตันตระ โฉมหน้าของพุทธศาสนา จึงเปลี่ยนไปจากเดิมมาก

พ. ศ.๑๓๕๘ พระเจ้าเทวปาละ (Devapala) ได้ปกครองอาณาจักรมคธและเบงกอลต่อมา พระองค์เป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ได้สถาปนาวัดหลายแห่งขึ้นในมคธและเบงกอล ในสมัยนี้พระเจ้าพาลบุตรเทวะ (Balaputradeva) กษัตริย์ราชวงศ์ไศเรนท์ แห่งเกาะสุมาตรา อินโดนีเซียได้ขออนุญาตสร้างวัดขึ้นข้างมหาวิทยาลัยนาลันทาเพื่อเป็นที่พัก สงฆ์ชาวสุมาตราที่มาศึกษาที่นาลันทา นอกจากนั้นยังของประทานที่ดินห้าตำบลในแคว้นมคธเพื่อบำรุงพระภิกษุที่คัดลอก พระคัมภีร์ทางพุทธศาสนาให้ ต่อมาพระเจ้าเทวปาละได้ทรงแต่งตั้งพระอาจารย์วีรเทพ (Viradeva) ผู้เป็นบุตรของอำมาตย์ เมืองนครหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตปากีสถาน) เป็นองค์อธิการบดีมหาวิทยาลัยนาลันทาองค์ต่อมา

๔.พุทธตันตระ (Buddhatantra)

พ. ศ.๑๕๐๐ พุทธศาสนาได้ผสมกับลัทธิตันตระของฮินดูซึ่งเป็นลัทธิของคนชั้นต่ำ ในยุคนี้จึงได้ชื่อว่า พุทธตันตระเกิดสัทธรรมปฏิรูปกับศาสนาฮินดูทำให้พุทธศาสนาถึงแก่ความเสื่อมคำ ว่า "พุทธศาสนาแบบตันตระ" นั้นโดยทั่วไปแล้ว ได้ใช้เรียกกับพุทธศาสนาในอินเดียยุคหลังซึ่งได้แก่ มัีนตรยาน วัชรยาน หรือสหัสยาน พุทธศาสนาในยุคนี้ได้หลอมตัวเข้าหาลัทธิตันตระของฮินดูซึ่งหลักการปฏิบัติ ที่สำคัญดังนี้

๑.ถือการท่องบ่นเวทมนตร์ และลงเลขยันต์ซึ่งได้แก่มนตราและธารณีการออกเสีงสวดมนต์ นั้นก็ได้บัญญัติคำสวดอันสึกลับขึ้นมาผู้ปฏิบัติมีภาษาที่มีความหมายเป็นสองแง่ในทำนองคำคม ความหมายจริง ๆ ของคำเหล่านั้น เมื่อคนสามัญทั่วไปได้ยินเข้าถึงกับสะดุ้ง แต่นักปฏิบัติได้แปลความหมายไปในแง่หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้กัน โดยเฉพาะและแตกต่างจากความเข้าใจของสามัญชนทั่วไปอย่างมากมาย จึงทำให้มีความเข้าใจผิดกันเกิดขึ้นในหมู่นักปฏิบัติและสาวกของลัทธิลึกลับ

๒. ถือเหมือนชั้นต้นแต่เพื่อที่จะให้พิเศษออกไปเกิดมีการนับถือฌานิพุทธและพระ โพธิสัตว์ ยิ่งยวดขึ้นไปมีความเชื่อในเทพเจ้าและเทพีเป็นจำนวนมาก และเห็นว่าการโปรดปรานของเทพเจ้าและเทพีเหล่านั้นสามารถทำให้ผู้อ้อนวอน บรรลุความสำเร็จได้ จึงนิยมการสร้างรูปขึ้นมาให้พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรงกลางเทพีทั้งหลาย ได้นำเอาลัทธิศักติของฮินดูมารวมนับถือและอ้อนวอนด้วยศักดิ คือ การนับถือในชายาของพระเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งอันเป็นอำนาจของเทพเจ้าผู้สามี เช่นพระนางอุมา เป็นศักติของพระศิวะ พะรนางลักษมี เป็นศักติของพระวิษณุ เมื่อนับถือพระศิวะและพระวิษณุ ก็ต้องนับถือหรือจงรักภักดีในพระนางอุมาและพระนางลักษมีด้วย ส่วนศักติของพระฌานิพุทธและพระโพธิสัตว์ก็คือพระนางผู้เป็นคู่บารมีของพระ พุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ยิ่งกว่านั้นลัทธินี้ยังมีการสมมติให้พระนิพพาน มีรูปร่างลักษณะขึ้นสำหรับบูชาสิ่งที่สมมติกันขึ้นนี้เรียกว่า "นิราตมเทวี" ผู้ที่เข้าถึงพระนิพพานก็คือเข้าถึงองค์เทวีหรือรวมอยู่ในองค์เทวีลัทธินี้ เรียกว่า วัชรยาน ผู้ที่อยู่ในลัทธินี้เรียกว่า วัชราจารย์

๓. มีการเพิ่มการเซ่นสรวงผีสางเข้าไปด้วยถือว่าการบูชาบวงสรวงและอ้อนวอนจะทำ ให้ได้รับความสุข และยังได้ทำรูปของพระฌานิพุทธให้มีปางดุร้ายอย่างนางกาลี ซึ่งเป็นปางดุร้ายของพระนางอุมาลัทธินี้เรียกว่ากาลจักร พระศาสนาที่ผสมกับลัทธิตันตระของฮินดูได้นำเอาประเพณีพีธีกรรมอันลึกลับกลับ น่ากลัวและลามกอนาจารมาปฏิบัติเช่นข้อปฏิบัติ ๕ ม. คือ ๑.มัทยะ ดื่มน้ำเมา ๒.มางสะ รับประทานเนื้อ ๓.มัตสยา ทานปลา ๔.มุทรา ยั่วให้กำหนัด ๕.ไมถุนะ เสพเมถุน ในหนังสือคุรุสมาสได้สอนให้มีการเหยียบย่ำแม้กระทั่งศีล ๕ สนับสนุนให้มีการฆ่า การลัก การเสพเมถุนธรรมและการดื่มของเมาผู้ที่จะเข้าทำพิธีตามลัทธิตันตระจะต้อง ปฏิบัติ ๕ ข้อนี้อย่างเคร่งครัดถือว่าเป็นการบูชาพระศักดิ ในสถานที่บางแห่งเมื่อผู้หญิงจะไหว้พระจะต้องเปลื้องเครื่องแต่งตัวออกทั้ง หมดแล้วแสดงการร่ายรำไปจนเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีใหม่ ๆ จะมีการเล่นกันหลากหลาย

นัก ปฏิบัติยอมรับว่าลัทธิ ๕ ข้อนี้ไม่ดีเป็นมายาและเป็นเครื่องกีดกันไม่ให้คนไปสวรรค์นิพพานได้ คนโดยมากมักจะติดอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นจึงต้องหาความชำนาญในสิ่งเหล่านี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ไม่มาก เข้าก็จะเกิดเบื่อไปเอง เมื่อยังไม่รู้ไม่ชำนาญ และยังมิได้มีประสบการณ์มาด้วยตนเองอย่างช่ำชอง แล้วก็เป็นการยากที่จะเกิดความเบื่อหน่ายได้ ต้องเล่นวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง มีนักปฏิบัติบางท่านถือยิ่งขึ้นไปว่าผู้ที่ยังไม่ผ่านการเสพเมถุนธรรมจะไป นิพพานไม่ได้ เพราะจิตใจยังลังเลอยู่ต้องเสพเมถุนธรรมให้ถึงที่สุดจนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายแล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพาน อย่างไร ก็ตามลัทธิต้นตระนี้มีผู้ปฎิบัติแพร่หลายอยู่ทางอินเดียตะวันออก คือ ในแคว้นเบงกอล อัสสัม โอริสสา และพิหาร มหาวิทยาลัยวิกรมศิลาเป็นศูนย์ศึกษาลัทธินี้ และต่อมาลัทธินี้ยังได้แผ่เข้าไปสู่ประเทศธิเบตด้วย

พุทธ ศาสนาในยุคนี้เกิดสัทธัมปฏิรูปอย่างหนัก พระสงฆ์ทำตัวเหมือนหมอผีขมังเวทย์มากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของชาวบ้านธรรมดาที่ไม่เห็นคุณค่าหลักธรรมที่แท้จริง พระสงฆ์ไม่ได้เรียกว่าภิกษุ แต่เรียกว่าสิทธะ สิทธะที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นคือ สิทธะมาตังคี สิทธะอานนทวันทะวัชระสิทธะญาณปาทะเป็นต้น ต่อมาสิทธะได้แบ่งออกเป็น ๒ พวกใหญ่ คือ

๑.พวกทักษิณาจารี แปลว่าผู้พระพฤติด้านขวา พวกนี้ยังประพฤติพระธรรมวินัย ยังรักษาพรหมจรรย์ ยังรักษาสถานะความพระสงฆ์ได้มากพอสมควร

๒.พวกวามจารี แปลว่าผู้ประพฤติด้านซ้าย พวกนี้ประพฤติเลอะเลือนไม่รักษาพรหมจรรย์มีภรรยามีครอบครัว ทำตัวเป็นพ่อมดหมอผีมากขึ้นชอบอยู่ป่าช้า ใช้หัวกระโหลกผีเป็นบาตร มีภาษาลึกลับใช้สื่อสารเรียกว่า สนธยาภาษา เกณฑ์ให้พระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์มีศักติคือภรรยาคู่บารมีพระพุทธปฏิมาก็มีปางอุ้มกอดศักติ พวกเขาถือว่าการจะบรรลุพระนิพพานได้ต้องมีธาตุชายและหญิงมาผสมผสานกัน ธาตุชายเป็นอุบาย ธาตุหญิงเป็นปรัชญา เพราะฉะนั้นอุบายต้องบวกปรัชญาจึงจะบรรลุพระนิพพานได้แต่ลัทธินี้ก็ประพฤติ เฉพาะบางส่วนของอินเดียเท่านั้น

๕.พุทธศิลป์สมัยปาละ (Pala Art)

พระพุทธองค์ดำ ศิลปะสมัยปาละ

ราว พ.ศ.๑๒๐๐ พุทธศิลป์สมัยปาละก็ได้เกิดขึ้น นับเป็นยุคสุดท้ายของพุทธศิลป์ในอินเดีย ก่อนที่กองทัพมุสลิมเข้ายึดครองทั้งประเทศมีลักษณะคล้ายพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนของไทย มีพระนาสิกงุ้มลง พระกรรณ (หู)ยาวลงกว่าสมัยคุปตะ พระวรกายอวบอ้วน พระขโนงเป็นขอบคม ห่มจีวรเฉวียงบ่า มีริ้วแข็ง ฐานพระพุทธรูปยุคนี้มีบัวคว่ำ และบัวหงาย พุทธศิลป์ที่สวยงามที่สุดในยุคนี้คือหลวงพ่อองค์ดำที่มหาวิทยาลัยนาลันทา ซึ่งนับเป็นพระพุทธรูปองค์เดียวที่เหลือรอดจาการทำลายล้างของมุสลิม แกะสลักด้วยหินสบู่สีดำ และหลวงพ่อพุทธเมตตา พระพุทธรูปประจำในเจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร เป็นต้น พระราชาที่สนับสนุนในการจัดสร้างพุทธศิลป์ในสมัยปาละมากที่สุด คือ พระเจ้าเทวปาละ และพระเจ้าธรรมปาละแห่งราชวงศ์ปาละนั้นเอง ในเมืองไทยกรมศิลปากรได้ คันพบพระพุทธรูปสมัยปาละที่หายากที่วัดราชบูรณะกรุงศรีอยุธยา ราวพ.ศ. ๒๕๐๐ ปัจจุบันได้นำประดิษฐานไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่ง ชาติ กรุงเทพฯ

พ. ศ.๑๕๓๕ พระเจ้ามหิปาละที่ ๑ (Mahipala1th) ขึ้นครองบัลลังก์มคธในปีที่ ๖ แห่งรัชกาลนี้ พระอาจารย์กัลยาณมิตร จินดามณี (Kalyanamitra Chintamani) พระเถระชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยนาลันทาได้ทำการคัดลอกคัมภีร์อัศฏสาหัสริกา และปรัชญาปารมิตสูตร เพื่อถวายแด่พระองค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ นอกจากน้นพระองค์ยังซ่อมแซมมหาวิทยาลัยนาลันทาที่ถูกไฟไหม้่เพราะความประมาท ให้กลับมาสวยงามดั่งเดิม พระองค์ครองราชย์ต่อมาจนถึง พ.ศ.๑๕๘๓

พ.ศ.๑๕๗๒ กองทัพมุสลิมนำโดย มาหมุด (Manmud) ได้ยึดครองภาคเหนือของอินเดีย คันธาระ ตักกศิลา ปัญจาป สินธุ์ได้อย่างเด็ดขาด ต่อมาตัวมาหมุดก็สิ้นชีวิต โมฮัมหมัด ฆาสนีก็สืบต่ออำนาจแทน มณฑลที่มุสลิมยึดครองพุทธศาสนา ศาสนาเชน ศาสนฮินดูถูกทำลายอย่างหนัก จนแทบไม่เหลือ พุทธศาสนิกชนที่รอดมาก็อพยพเข้าสู่แคว้นมคธ ในยุคนั้นปกครองโดยราชวงศ์ปาละได้เอาธุระเอาใจใส่ผู้อพยพทั้งสามศาสนา โดยเฉพาะพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็นก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

พ.ศ. ๑๖๓๕ พระเจ้ารามปาละ กษัตริย์ราชวงศ์ปาละ แคว้นมคธ พระองค์เป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ได้สร้างราชธานีใหม่ชื่อว่า รามาวดี ซึ่งเป็นที่แม่น้ำคงคามาบรรจบกับแม่น้ำกะระตัว ต่อมาก็ทรงสร้างมหาวิทยาลัยชคัททละ (Jagaddala University) ขึ้นในเมืองนี้ ณ ที่นี่ได้ผลิตนักปราชญ์นักกวีหลายท่านออกมา หนึ่งในนั้นคือท่านสนธยาการ นันทิ (Sandhyakara Nandi) เป็นนักกวีที่มีชื่อเสียง และพระสงฆ์หลายรูปได้ไปเผยแพร่พุทธศาสนาในธิเบต เช่นพระอตีศะหรือพระทีปังกร ศรีชญาณ เป็นต้น พระองค์ปกครองมคธจนถึง พ.ศ.๑๖๗๓ รวมครองราชย์ ๔๖ ปี

พ. ศ.๑๖๓๗ กษัตริย์ราชวงศ์เจาลุกยะทางอินเดียตะวันตก (แถวคุชราต) ได้นับถือเชน บางพระองค์นับถือเชน จึงได้สนับสนุนฮินดูและเชนแทนพุทธศาสนา เช่นพระเจ้าชัยสิงห์ (Jayasingha) ทรงนับถือฮินดูอย่างเคร่งครัด และสนับสนุนศาสนาเชนมากเช่นกัน ต่อมาพระเจ้ากุมารปาละพระโอรสหันกลับไปนับถือศาสนาเชน จนศาสนานี้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในรัฐนี้นักปราชญ์เชนที่สำคัญในสมัยนี้คือ พระเหมจันทร์ (Hemachandra) และพระโสมประภา (Somaprabha) สามารถโน้มน้าวให้พระกุมารปาละมานับถือศาสนาเชนได้ ส่วนพุทธศาสนา ก็อ่อนกำลังลงอย่างมาก ประกอบกับด้านตะวันตกของรัฐนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ได้ถูกมุสลิมยึดได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถยึดได้อย่างเด็ดขาด

๖.ราชวงค์เสนะ (Sena Dynasty)

พ. ศ.๑๖๙๒ หลังจากที่พระเจ้ายักษะปาละ (Yaksapala) แห่งราชวงศ์ปาละองค์สุดท้ายได้ครองราชย์สมบัติต่อจากพระบิดาคือพระเจ้ารามปา ละ พระเจ้ายักษะปาละเป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด พระองค์ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาเป็นอย่างดี มหาวิทยาลัยวิกรมศิลายังเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาแบบตันตระที่โด่งดังอยู่ เหมือนเดิม แต่พระองค์ก็ปกครองได้เพียง ๑๑ ปี เสนาบดีพราหมณ์ คนหนึ่งนามว่า ลาวเสน (Lavasena) ก็ยึดอำนาจแล้วปลงพะรชนม์เสีย สถาปนาราชวงศ์เสนะแล้วตนเองขึ้นปกครองนามว่าพระเจ้าลาวเสน เนื่องจากฮินดู กษัตริย์พระองค์ใหม่จึงเริ่มบั่นทอนพุทธศาสนาลงจนพุทธศาสนาในเบงกอล และมคธที่เจริญอยู่ก็ซบเซาลง วิกรมศิลาที่มีนักศึกษาเรือนหมื่นเหลือไม่ถึงพันรูป

หลัง จากพระเจ้าลาวเสนะสิ้นพระชนม์แล้ว พระโอรสคือเจ้าชายกาสเสนะ (Kasasena) ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติต่อมา พระองค์ไม่ใช่ฮินดูที่เคร่งครัด แม้ไม่โปรดพุทธศาสนาแต่ก็ยังไม่ทำลาย ในยุคนี้มีสิทธะฝ่ายถือพรหมจรรย์ ที่มีชื่อเสียงหลายรูปยังเป็นที่พึ่งให้พุทธบริษัทยามคับขันคือ ๑.ท่านสุภการคุปตะ (Subhakaragupta) ๒.ท่านรวิศรีชญาณ (Ravisrijnanan) ๓.ท่านนายกปะศรี (Nayakapasri) ๔.ท่านทสพละศรี (Dasabalasri) ๕.ท่านธรรมการสันติ (Dharmakarasanti) ๖.ท่านศรีวิกยาตเทวะ (Srivikyatadeva) ๗.ท่านนิสกาลังกาเทวะ (Niskalankadeva) ๘.ท่านธรรมการคุปตะ (Dharmakargupta) ในยุคราชวงศ์เสนะครองเบงกอลและมคธนี้ พระเจ้าปรักกมหากษัตริย์แห่งลังกา ได้อาราธนาพระสงฆ์และคัมภีร์จำนวนมากจากอาณาจักรโจฬะเมื่อ พ.ศ.๑๖๙๕ เพื่อไปปรับปรุงพุทธศาสนาที่ลังกา วรรณกรรมหลาย ๆ เล่มได้ถูกถ่ายทอดไปสู่ภาษาลังกา เช่น คัมภีร์มหาวงศ์ ตอนท้ายจุลวงศ์ทาฐวงศ์ รูปสิทธิ เป็นต้น วรรณกรรมเหล่านี้เป็นผลงานของพระเถระชาวอินเดียใต้ในอาณาจักรโจฬะนี้

หลัง จากพระเจ้ากาสะเสนะสวรรคตแล้ว พระโอรสนามว่า มณิตาเสนะ (Manitasena) ก็ปกครองราชสมบัติต่อมา ในยุคนี้พุทธศาสนาในจักวรรดิเสนะก็ยังสืบต่อไปได้ ครั้นพระเจ้ามณิตา เสนะสวรรคต แล้วพระโอรสนามว่า ราฐิกาเสนะ (Rathikasena) ก็ปกครองต่อมาในยุคของพระองค์ได้มีนักบวชทางพุทธศาสนาหรือสิทธะมีชื่อเสียง หลายคนคือ ๑.ท่านศากยศรีภัทร (Sakyasribadra) แห่งแคชเมียร์ ๒. ท่านพุทธศรี (Buddhasri) จากเนปาล ๓.ท่านรัตนรักษิตะ (Ratnaraksita) ท่านชญาณการคุปตะ (Jnanakaragupta) ๕.ท่านพุทธศรีมิตร (Buddhasrimitra) ๖.ท่านสังฆามชญาณ (Samghamajnana) ๗.ท่านรวิศรีภัทร (Ravisribadra) ๘.ท่านจันทรการคุปตะ (Candrakaragupta) เพื่อที่จะคุ้มครองมหาวิทยาลัยโอทันตบุรีและวิกรมศิลา พระราชาได้รับสังให้สร้างป้อมปราการขึ้นและจัดเวรให้ทหารเฝ้าดูแลอย่างดี ในระหว่างนี้จำนวนพุทธศาสนิกชนในแคว้นมคธลดน้อยลงแต่ศาสนิกชนอื่นเริ่มมีมาก ขึ้น ส่วนพุทธศาสนาในภาคเหนือได้ถูกทำลายลงหมดแล้ว พุทธบริษัทส่วนมากได้บังคับให้นับถือศาสนาอิสลามไปเกือบหมด ผู้ที่ไม่ยอมรับจะถูกประหารหรือไม่ก็ต้องหลบหนีเข้ามาแคว้นมคธ

พ.ศ.๑๗๓๔ กองทัพมุสลิมนำโดยโมหัมหมัด โฆรี (Muhammad Ghori) ชาวเติร์กมุสลิม ได้ยกกองทัพโจมตีภาคเหนือของอินเดีย และปะทะกับก่องทัพของพระเจ้าปฤฐวีราช เจาฮัน (Prithaviraj Chauhan) ผลการรบโฆรีแพ้ราบคาบต้องหลบหนีไปอัฟกานิสถานอย่างบอบช้ำ ในการรบครั้งนี้พระเจ้าปฤฐวีราชได้กษัตริย์หลายพระองค์ของอินเดียเป็นพันธมิตรเข้าช่วยเหลือ เช่นพระเจ้าชายาจันทรา (พ่อตา) จึงได้รับชัยชนะ แต่โฆรีก็สาบานว่าจะกลับมาอีกครั้ง การรบครั่งที่สองพระเจ้าปฤฐวีราชพ่ายแพ้ เพราะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากกษัตริย์พระองค์อื่น โฆรีจึงยึดกรุงเอินทปัตถ์หรือเตลลีได้อย่างเด็ดขาดและเริ่มรุกลงมาทางใต้

ต่อ มาสุลต่าน โมหัมหมัด กาซนี (Muhammad Ghazni) ก็เข้าทำลายอารามที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ในสมัยรุ่งเรืองอารามที่นี้มีพระสงฆ์มากถึง ๑,๕๐๐ รูป กเนาว์ พราณสีและที่สารนาถวัด วิหาร พระสงฆ์ก็ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง ความจริงสารนาถถูกทำลายมาหลายครั้ง ครั้งแรกจากพวกหูระ แต่ต่อมาพระนางกุมารีเทวี พระมเหสีของพระเจ้าโควินทจันทร์พระราชินีแห่งกเนาว์ก็มาซ่อมแซมจนกลับมาดี ดั่งเดิม ในขณะที่กองทัพมุสลิมกำลังรุกเข้ามา บรรดาสิทธะแห่งนิกายมนตรยานหรือพุทธตันตระทั้งหลายต่างช่วยกันเสกเป่าเวทย์ มนต์ เพื่อให้กองทัพมุสลิมถอยกลับออกไป แทนที่จะตระเตรียมกองทัพให้เข้มแข็งเพื่อต่อต้าน แต่กษัตริย์ราชวงศ์ปาละกลับเชื่อคำสิทธะทั้งหลาย จึงไม่ได้เตรียมการเต็มที่ สุดท้ายก็ถูกยึดได้และโดนทำลายลงอย่างสิ้นเชิง

ใน หนังสือของท่านตรานถกล่าวว่า ราชวงศ์เสนะสมัยพระเจ้าลวังเสนะหรือลักษมันเสนะต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ แม่ทัพตรุกี มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถที่จะอยู่ได้ และพระราชาแห่งราชวงศ์นี้ก็ยังดูแลพุทธศาสนาอยู่บ้าง ในยุคนี้ยังมีสิทธะที่มีชื่อเสียงเช่น ท่านราหุลศรีภัทร ท่านภูมิศรีภัทร อุปายศรีภัทำ กรุณาศรีภัทร และท่านมุนินทรศรีภัทร ท่านภูมิศรีภัทรอุปายศรีภัทร กรุณาศรีภัทร และท่านมุนินทรศรีภัทร เป็นต้น ปกครองมคธอยู่จนถึงสมัยพระเจ้าประติตเสนะก็สูญสลาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปถึง ๑๐๐ ปี ได้มีกษัตริย์องค์ใหม่นามว่า จิงคละราชา (Cingalaraja) กลายเป็นกษัตริย์ที่มีอำนาจมากขึ้น ในเบื้องต้นพระองค์ต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกษัตริย์ฮินดูและสุลต่าน มุสลิมตรุกีในช่วงต้นพระองค์นับถือฮินดู แต่พระมเหสีของพระองค์เป็นชาวพุทธ จึงทำให้พระองค์หันเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาในที่สุดพระองค์ได้บูชาพระแท่น วัชรอาสน์ที่พุทธคยา ซ่อมแซมวัดวาอารามหลายแห่งที่ถูกทำลายลงโดยกองทัพมุสลิม ในยุคของพระองค์ยังมีนักปราชญ์ที่สำคัญอีกท่าน คือท่านสารีบุตร (Sariputra) พระองค์มีพระชนมายุที่ยาวนาน หลังจากพระองค์สวรรคแล้ว ได้มีกษัตริย์นามว่ามุกุนทเทวะ (Mukundadeva) เข้าปกครองมัธยมประเทศทั้งหมด พระองค์ได้สร้างวัดหลายแห่งขึ้นในรัีฐโอริสสาและมคธ เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว อาณาจักรแถบนี้ก็ไร้ผู้ปกครองจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิมุสลิมที่ กรุงเดลลีอย่างสมบูรณ์

จากหลักฐานเหล่านี้ทำให้เราทราบว่า หลังจากกองทัพมุสลิมเข้ายึดครองอินเดียภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคกลางแล้ว พุทธศาสนาไม่ได้ดับวูบลงเสียทีเดียว ยังมีผู้ปกครองท้องถิ่นพยายามค้ำชูพุทธศาสนาอยู่บ้าง ดังเช่นพระเจ้าจังคลราชา พระเจ้ามุกุนทเทวะ เป็นตัวอย่าง แต่ค่อย ๆ เสื่อมสูญไปทีละน้อย แม้ว่าอินเดียเกือบทั้งหมดถูกยึดครองโดยอิสลามแล้ว แต่ภาคใต้กองทัพมุสลิมยังรุกไปไม่ถึง พุทธศาสนาและฮินดูเชนก็ยังมีชีวิตรอดได้อยู่ ดั่งเช่นที่เมืองนาคปัฏฏินัม และกาญจีปุรัมพุทธศาสนายังมีลมหายใจจนถึง พ.ศ. ๒๑๐๐

สรุปราชวงศ์ปาละ (Pala Dynasty) (ปกครองมคธ,เบงกอล)

๑.พระเจ้าโคปาละ (Gopala) ผู้สถาปนาวงศ์ปาละ พ.ศ.๑๒๐๓-๑๒๔๘ รวม ๔๕ ปี
๒.พระเจ้าเทวปาละ (Devapala) ปกครอง พ.ศ.๑๒๔๘-๑๒๙๖ รวม ๔๘ ปี
๓.พระเจ้ารสปาละ (Rasapala) ปกครอง พ.ศ.๑๒๙๖-๑๓๐๘ รวม ๑๒ ปี
๔.พระเจ้าธรรมปาละ (Dharmapala) ปกครอง พ.ศ.๑๓๐๘-๑๓๗๒ รวม ๖๔ ปี
๕.พระเจ้ามสุรักษิต (Masuraksita) ปกครอง พ.ศ.๑๓๗๒-๑๓๘๐ รวม ๘ ปี
๖.พระเจ้าวนปาละ (Vanapala) ปกครอง พ.ศ.๑๓๘๐-๑๓๙๐ รวม ๑๐ ปี
๗.พระเจ้ามหิปาละ (Mahipala) ปกครอง พ.ศ.๑๓๙๐-๑๔๔๒ รวม ๕๒ ปี
๘.พระเจ้ามหาปาละ (Mahapala) ปกครอง พ.ศ.๑๔๔๒-๑๔๘๓ รวม ๔๑ ปี
๙.พระเจ้าสมุปาละ (Samupala) ปกครอง พ.ศ.๑๔๘๓-๑๔๙๕ รวม ๑๒ ปี
๑๐.พระเจ้าเศรษฐปาละ (Srestapala) ปกครอง พ.ศ.๑๔๙๕-๑๔๙๘ รวม ๓ ปี
๑๑.พระเจ้าคณกะ (Canaka) ปกครอง พ.ศ.๑๔๙๘-๑๕๒๖ รวม ๒๘ ปี
๑๒.พระเจ้าภยะปาละ (Bhayapala) ปกครองพ.ศ.๑๕๒๖-๑๕๕๘ รวม ๓๒ ปี
๑๓.พระเจ้าญายะปาละ (Nyayapala) ปกครองพ.ศ. ๑๕๕๘-๑๕๙๓ รวม ๓๕ ปี
๑๔.พระเจ้าอัมระปาละ (Amrapala) ปกครอง พ.ศ.๑๕๙๓-๑๖๐๖ รวม ๑๓ ปี
๑๕.พระเจ้าหัสดีปาละ (Hastipala) ปกครอง พ.ศ.๑๖๐๖-๑๖๒๐ รวม ๑๔ ปี
๑๖.พระเจ้ากศานติปาละ (Ksantipala) ปกครอง พ.ศ.๑๖๓๕-๑๖๘๑ รวม ๑๕ ปี
๑๗.พระรามปาละ (Ramapala) ปกครอง พ.ศ.๑๖๓๕-๑๖๘๑ รวม ๔๖ ปี
๑๘.พระเจ้ายักษะปาละ (Yaksapala) ปกครองพ.ศ. ๑๖๘๑-๑๖๙๒ รวม ๑๑ปี
(ราชวงศ์นี้ปกครองรวม ๔๘๙)

สรุปราชวงศ์เสนะ (Sena Dynasty)

๑.พระเจ้าลาวเสนะ (Lavasena) มีอำนาจปกครองตนเอง
๒.พระเจ้ากาสเสนะ (Kasasena) มีอำนาจปกครองตนเอง
๓.พระเจ้ามณิตเสนะ (Manitasena) มีอำนาจปกครองตนเอง
๔.พระเจ้าราถิกเสนะ (Rathikasena) มีอำนาจปกครองตนเอง
๕.พระเจ้าลวังเสนะ (Lavamsena) มีอำนาจปกครองตนเอง
๖.พระเจ้าพุทธเสนะ (Buddhasena) ปกครองภายใต้ตุรกี
๗.พระเจ้าหริตเสนะ (Haritasena) ปกครองภายใต้ตุรกี
๘.พระเจ้าประติตเสนะ ZPratotasena) ปกครองภายใต้ตุรกี
(ราชงศ์นี้ปกครองรวม ๘๐ ปี)

สรุปพุทธศิลป์สมัยต่าง ๆ

๑.สมัยคันธาระ ศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นคันธาระ ราวพ.ศ. ๖๐๐-๑๐๐๐
๒.สมัยมถุรา ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมถุรา แคว้นสุรเสนะ พ.ศ. ๖๐๐-๙๐๐
๓.สมัยทวารวตี ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองอมราวดี รัฐอันธรประเทศ พ.ศ. ๗๐๐-๑๐๐๐
๔.สมัยคุปตะ ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองปาฏลีบุตร แคว้นมคธ พ.ศ. ๘๐๐-๑๒๐๐
๕.สมัยโจฬะ ศูนย์กลางอยู่ที่ตัญชาวุร์แคว้นโจฬะภาคใต้ พ.ศ. ๑๐๐๐-๒๐๐๐
๖.สมัยปาละ ศูนย์กลางอยู่ที่แคว้นมคธและเบงกอล พ.ศ. ๑๒๐๗-๑๗๐๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น