๑. พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ (Chandragupta 1st) |
พ.ศ.๘๖๓ พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ แห่งราชวงศ์คุปตะก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ณ เมืองปาฎลีบุตร แคว้นมคธ นักประวัติศาสตร์หลายคนยังสับสนเกี่ยวกับนามกษัตริย์พระองค์นี้ เพราะชื่อไปพ้องกับพระเจ้าจันทรคุปต์ผู้สถาปนาราชวงศ์โมรยะ ผู้เป็นพระเจ้าตาของพระเจ้าอโศกมหาราชราว พ.ศ.๒๐๐ แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนมากยอมรับว่าเป็นคนละองค์กัน เพราะเวลาที่แตกต่างกันมาก นอกจากนั้นพระเจ้าจันทรคุปตะยังมี ๒ ประองค์ในราชวงศ์นี้ จึงสร้างความสับสนได้มากทีเดียว เรามีข้อมูลไม่มากนักเกี่ยวกับกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ เนื้อหาจึงขาดตอนพอสมควร พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ เป็นกษัตริย์ที่เข้มแข็ง สามารถรวบรวมอาณาจักรมคธให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้ง พระองค์แต่งงานกับเจ้าหญิงกุมารเทวีแห่งเมืองลิจฉวี จนทำให้อาณาจักรลิจฉวีถูกผนวกเข้ากับคุปตะด้วย นักประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันได้ขนานนามพระองค์ว่า "มหาราชาธิราช" เพราะเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถหลายด้าน ทำให้ชมพูทวีปรวมกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ทรงดำเนินนโยบายตามแบบพระเจ้าอโศกมหาราช ผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้าน ในราชสำนักมีช่างฝีมือดีเป็นจำนวนมาก งานปฏิมากรรมทางศาสนาทั้งพุทธฮินดู เชน เจริญรุ่งเรืองขึ้น ก็เกิดสมัยนี้ พระองค์มีพระโอรสเท่าที่ปรากฎมี ๑ พระองค์คือเจ้าชายสมุทรคุปตะ และสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๘๗๘ รวมการครองราชย์ ๑๖ พรรษา ในยุคพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ นี้ได้มีนักปราชญ์คนสำคัญเกิดขึ้นในพุทธศาสนา ท่านคือ พระกุมารชีพ
๒. พระกุมารชีพ (Kumarjiva) |
ท่านเกิดเมื่อราว พ.ศ.๘๗๐ มีบิดาเป็นชาวอินเดียนามว่า กุมารายนะ ส่วนมารดาเป็นพระธิดาของเมืองกุจิ นามว่า เจ้าหญิงชีวะ ท่านเกิดที่เมืองการห์ร ต่อมาเมื่อพระมารดากลับมานับถือพุทธศาสนา ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีและนำบุตรชายไปสู่แคว้นกัศมีร์ เพื่อศึกษาพุทธศาสนา และเป็นศิษย์ของท่านพันธุทัตตะ สังกัดนิกายมหายาน ต่อมาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุและเผยแพร่พุทธศาสนาสู่เอเชียกลาง พุทธบริษัทที่โขตาน (ปัจจุบันอยู่มณฑลซินเกียงของจีน) กาษคาร์ ยารคานด์ และที่อื่น ๆ ต่างเคารพท่านอย่างสูง เมื่อกองทัพจีนนำโดยหลีักวงเข้าโจมตีกุจิ ท่านกุมารชีพก็ถูกนำตัวไปสู่จีนในฐานะเชลยศึก ก่อนที่ท่านถูกจับตัวชื่อเสียงของท่านก็เป็นที่เลื่องลือเป็นอย่างมากในจีน จึงมีผู้มาเคารพและเยี่ยมเยียนท่านเป็นอย่างมาก ต่อมาจึงมีพระราชโองการให้ปล่อยท่านและเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ์แห่งราชวงศ์ จิ้น ท่านได้ก่อตั้งองค์การแปลหนังสือตำราของอินเดียสู่ภาษาจีน โดยรวบรวมราชบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งสองฝ่ายจีนและอินเดียได้ ๘๐๐ ท่าน ผลงานของคณะท่านได้แปลหนังสือได้มากกว่า ๓๐๐ เล่ม ที่เด่น ๆ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ศตศาสตร์ สุขาวดีอมฤตวยูหสูตร สัทธรรมปุณฑริกสูตร วัชรเฉทิกา ปรัชญาปารมิตาสูตร ชาวจีนที่นับถือศาสนาขงจื้อและเต๋าได้กลับในมานับถือพุทธศาสนาอย่างมาก วัดในพุทธศาสนาได้รับการสร้างขึ้นอย่างมากในประเทศจีน ทั้งหมดนี้ก็ด้วยเพราะความพยายาม ความอุตสาหะต่อการเผยแพร่อย่างเอาจริงเอาจังของท่านจนพุทธศาสนามันคงในจีน ท่านเป็นอาจารย์คนแรกที่สอนลัทธิมาธยมิกในประเทศจีน วาระสุดท้ายท่านก็มรณภาพอย่างสงบในแผ่นดินจีน
๓. พระเจ้าสมุทร์คุปตะ (Samudragupta) |
พ. ศ. ๘๗๘ พระโอรสของพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ ทรงพระนามว่าสมุทร์คุปตะ (Samudra gupta) ได้ปกครองอาณาจักรคุปตะต่อมา ยุคนี้อาณาจักรกว้างขวางมากขึ้น โดยยึดได้แคว้นปัญจาป ทรงให้การสนับสนุนนักปราชญ์ ราชบัณฑิต นักกวี ศิลปกรรม พระองค์บับถือศาสนาฮินดู แต่ก็ไม่ได้ทำลายศาสนาอื่น พุทธศาสนา และเชนก็ยังคงรุ่งเรือง การแกะสลักพระพุทธรูปด้วยหินทรายแบบคุปตะก็ได้รับพัฒนาให้ดีขึ้น ในยุคนี้ได้รื้อฟื้นพิธีอัศวเมฆที่ได้ซบเซามานาน ต่อมาพระเจ้าเมฆวรรณกษัตริย์แห่งสิงหลได้ส่งทูตมาที่อินเดียและขอสร้างวัด ที่พุทธคยา แคว้นมคธขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวลักกาที่จะมาจาริกแสวงบุญ พระองค์ทรงอนุญาตตามความประสงค์ วัดลังกาจึงได้รับการก่อสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกที่อินเดีย พระเจ้าสมุทร์คุปตะปกครองอินเดียมาจนถึง พ.ศ.๙๑๙ จึงสวรรคต รวมเวลา ๔๑ ปี
๔. พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ (Chandragupta 2nd) |
พ.ศ.๙๑๙ พระโอรสของพระเจ้าสมุทรคุปตะคือพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ (Chandragupta 2nd) ก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา ในยุคนี้อินเดียก็ถูกรวบรวมเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง เหตุการณ์สำคัญอันหนึ่งคือพระองค์ยกกองทัพต่อสู้กับสกะและสุดท้ายพระองค์มี ชัยต่อกองทัพพวกสกะ จึงทำให้พระองค์มีอาณาเขตกว้างขวางมากขึ้น ต่อมาก็ทรงส่งกองทหารเข้าปราบปรามแคว้นเบงกอลจนราบคาบ พุทธศาสนาในยุคนี้ก็มีความเจริญขึ้น พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ สวรรคต เมื่อ พ.ศ.๙๕๘ รวมเวลาที่ครองราชย์ ๓๙ ปี กษัตริย์บางองค์ราชวงศ์นี้แม้จะนับถือศาสนาฮินดูแต่อุปถัมภ์พุทธศาสนาด้วย
๕. จดหมายเหตุพระฟาเหียน (Fa Hien) |
พระฟาเหียนเริ่มข้ามแม่น้ำสินธุกับเพื่อน |
พระ อาจารย์ฟาเหียน นามเดิมว่า กัง เป็นชาววูยัง จังหวัดปิยัง มณฑลชานสี ประเทศจีน เกิดเมื่อ พ.ศ.๙๒๔ มีพี่น้อง ๓ คน บิดานำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัด หลังจากบิดาถึงแก่กรรมแล้ว จึงได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนว่าเป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดเฉียบแหลม ต่อมาเห็นความบกพร่องของคำสอนทางพุทธศาสนาในจีนจึงคิดเดินทางไปศึกษาเพิ่ม เติมที่ อินเดีย พ.ศ. ๙๔๒ เพื่อสืบต่อพระศาสนาและนำพระไตรปิฎกสู่จีน การเดินทางของท่านตอนไปเดินทางบกด้วยเท้า ส่วนขากลับมาทางน้ำผ่านเกาะสุมาตราจนขึ้นฝั่งที่นานกิง ท่านได้รายงานถึงสถานการณ์ของพุทธศาสนาในยุคนั้นว่า
ที่แคว้นโขตาน ปัจจุบัน อยู่ในเขตซินเกียงของจีน มีพระสงฆ์ราวหมื่นรูปล้วนเป็นฝ่ายมหายาน พระราชาเคารพในหมู่สงฆ์เป็นอย่างดี และมีการแห่พระพุทธปฏิมาทุกๆ ปี โดยมีพระราชาเป็นเจ้าภาพ ท่านฟาเหียนก็ยังได้ชมการแห่นี้ด้วย
แคว้นตโอลายห์ (หรือ ทรทะรัฐตอนเหนือของอินเดีย) มีพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดเป็นนิกายหินยาน ที่นี่ยังมีรูปปั้นพระโพธิสัตว์ศรีอริยเมตไตรย์ สูง ๘๐ ศอก ทำด้วยไม้แก่น ในวันอุโบสถรูปปั้นจะเปล่งรัศมีอย่างงดงามพระราชาประเทศนี้เคารพพระรัตนตรัย เป็นอย่างดี ต่างประกวดประชันกันเพื่อนำมาสักการะบูชารูปปั้นนี้
แคว้นอุทยาน มีสังฆาราม ๕๐๐ แห่งพระสงฆ์เป็นนิกายหินยานทั้งหมด ที่นี่มีรอยพระพุทธบาทอยู่แห่งหนึ่งและยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เชื่อกัน ว่าพระพุทธองค์ทรงตากผ้า เป็นศิลาสูง ๔๐ ศอกและกว้าง ๔๐ ศอก
เมืองปุรุษปุระ (ปัจจุบันเรียกว่าเปชวาร์ อยู่ในเขตปากีสถาน) เมืองหลวงของพระเจ้ากนิษกะ มีพระสงฆ์อยู่มากมาย และมีวัดใหญ่วัดหนึ่งมีพระสงฆ์ถึง ๗๐๐ รูป พระเจ้ากนิษกะได้สร้างสถูปหลายแห่งไว้เป็นที่สักการะบูชา นอกนั้นยังมีบาตรของพระพุทธองค์ปรากฎอยู่ที่เมืองนี้อีกด้วย
แคว้นนคาระ มีพระสถูปที่บรรจุพระทันตธาตุของพระพุทธองค์ มีการสักการะทุกปี ห่างไป ๑ โยชน์ เป็นเนินเขาที่บรรจุไม้ทานพระกรของพระพุทธองค์ที่ทำจากไม้โคศรีษะจันทนะถูก เก็บรักษาไว้อย่างดี ห่างไปครึ่งโยชน์มีถ้ำพระพุทธฉายที่พระพุทธองค์ฉายพระฉายไว้ ห่างออกไปยังมีอารามที่มีพระสงฆ์อยู่ถึง ๗๐๐ รูป
เมืองมถุรา พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ประชาชนให้ความเคารพต่อพระศาสนาอย่างสูง ที่นี่มีพุทธรูปที่สวยงามอยู่มากมาย พระสงฆ์ส่วนมากสังกัดนิกายหินยาน
เมืองกันยากุพชะ (ปัจจุบันเรียกว่า ลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ) มีอาราม ๒ แห่ง พระภิกษุในนครนี้ศึกษานิกายหินยาน นอกนั้นยังสถูปอีกหลายองค์ใกล้ตัวเมือง
เมืองสาวัตถี มีซากโบราณสถานหลายแห่ง เช่น พระเชตวันมหาวิหาร วิหารของพระนางมหาปชาบดี ซากบ้านเศรษฐีอนาถปิณฑิกะ หรือสุทัตตะ นอกนั้นยังมีเสาหินสองต้น เสาแรกมีล้อบนยอด อีกเสามีรูปโคบนยอดเสา ณ พระเชตวัน ท่านได้พบพระสงฆ์อินเดียที่ดูแลพระเชตวัน เมื่อทราบว่ามาจากประเทศฮั่น (จีน) อันไกลโพ้น ทุกรูปแปลกใจและตะลึงถึงความอุตสาหะและความพยายามอันแรงกล้าของท่าน
เมืองกบิลพัสดุ์ มีแต่ความรกร้างว่างมีพระสงฆ์บ้างเล็กน้อย มีชาวบ้าน ๒๒ ครอบครัว นอกนั้นยังพบสถูปอีกหลายแห่ง พื้นที่โดยทั่วไปรกร้างปราศจากผู้คน
เมืองเวสาลี มีวิหารสูง ๒ ชั้นหลังหนึ่ง สถูปบรรจุอัฐิพระอานนท์ วิหารของอัมพปาลี และสถูปอีกหลายแห่ง
จดหมาย ของท่านฟาเหียน ทำให้เราทราบความเป็นไปของพุทธศาสนาใน พ.ศ. ๒๔๒ ค่อนข้างละเอียด ท่านอยู่อินเดียได้ปีก็กลับโดยทางเรือผ่านเกาะสิงหลถึงชวา ที่นี่ศาสนาฮินดูกำลังเจริญรุ่งเรือง ส่วนพุทธศาสนานั้นกำลังอับแสง จากนั้น ฟาเหียนก็เดินทางต่อไปในทะเล ผ่านเหตุการณ์ที่น่ากลัวอันตรายหลายอย่างจนถึงเมืองจีนโดยสวัสดิภาพ
หลังจากพระอาจารย์ฟาเหียนเดินทางกลับจากอินเดียแล้ว ก็เป็นแรงบันดาลใจให้พระสงฆ์จีนรุ่นหนุ่มหลายรูปพยายามเดินทางเข้าสู่ อินเดียหลายรูปที่ทำสำเร็จ พระสงฆ์หลายรูปก็ต้องมารณาภาพเสียกลางทาง แต่ก็ไม่ทำให้คนรุ่นหลังย่อท้อที่จะมาสืบพระศาสนาและกราบสังเวชนียสถานที่ อินเดีย
๖. พุทธศิลป์สมัียคุปตะ (Gupta Art)
พระพุทธรูปสมัยคุปตะ ที่สารนาถ |
สมัย คุปตะนับว่าเป็นยุคที่ ๓ ของการทำพระพุทธรูปต่อจากสมัยคันนาระและสมัยมถุราอันเป็นยุคศิลปะอินเดียแท้ ยุคนี้เรียกว่า "พุทธศิลป์สมัยคุปตะ" การสร้างพุทธศิลป์สมัยคุปตะนี้เริ่มต้นที่ พ.ศ.๘๐๐ หรือพุทธศตวรรษที่ ๘ จนถึง พ.ศ. ๑๒" ยุคนี้เป็นศิลปะที่งดงามเป็นฝีมือของอินเดียเองไม่ได้รับอิทธิพลจากกรีก -โรมันเหมือนสมัยคันธาระ
พระพุทธรูปสมัยคุปตะนี้ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือ ที่สารนาถ สมัยคุปตะนี้ นับเป็นยุคทองของศิลปะอินเดีย พระพุทธรูปสมัยนี้พระเกศาขมวดเป็นก้นหอยเช่นเดียวกับสมัยมถุรา พระเกตุมาลาเป็นต่อม พระพักตร์เป็นแบบอินเดีย ห่มจีวรบางแนบติดพระองค์ ไม่มีริ้ว พระอังสะกว้าง บั้นพระองค์เล็ก ปางประทับนั่งเป็นที่นิยมมากที่สุด ฐานล่างนิยมแกะรูปกวาง พระธรรมจักรพระสาวกติดไว้ด้วย หินที่นิยมนำมาแกะสลัก ในสมัยนี้คือหินทรายแดงเพราะง่าย ต่อการแกะ ส่วนสมัยคันธาระนิยมหินดำเรือหินสบู่ซึ่งจะดูเรียบและง่ายต่อการแกะสลักมากกว่าหินทราย
ในสมัยคุปตะนี้ได้มีพระภิกษุของอินเดียที่มีชื่อเสียงได้เดินทางไปเอเชียกลาง ทะลุเข้าสู่ประเทศจีน จนที่เคารพศรัทธาของพระจักรพรรดิ และพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาท และมหายาน ขึ้นหลายคน ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังคือ
๗. พระพุทธทัตตะ (Buddhadutta) |
ท่านนี้เป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายเถรวาท เกิดที่อุรคปุระ ปัจจุบันเรียกว่า อุรัยปุระ ในอาณาจักรโจละ ของอินเดียภาคใต้ราว พ.ศ.๙๔๐ เป็นต้นมา หลังจากอุปสมบทแล้วได้เดินทางไปสู่เกาะลังกา เพื่อศึกษาพุทธศาสนาและรวบรวมคัมภีร์ทางพุทธศาสนาจากภาษาสิงหลแปลสู่ภาษามคธ ในคราวที่พักอยู่สิงหล ท่านพักที่มหาวิหารเมืองอนุราธปุระ
เมื่อสำเร็จภารกิจแล้วก็เดินทางกลับสู่อินเดียโดยทางเรือ ระหว่างทางได้พบกับพระพุทธโฆษาจารย์ที่แล่นเรือผ่านมา ท่านทั้งสองหยุดทักทายกัน แล้วท่านพุทธโฆษาจารย์กล่าวว่า
"ท่านผู้เจริญ พระพุทธพจน์มีอยู่ในภาษาสิงหล ผมกำลังไปเกาะลังกาเพื่อแปลสู่ภาษามคธ"
ท่านพุทธทัตตะกล่าวตอบว่า
"ท่านผู้มีอายุ ผมไปเกาะลังกามาแล้ว เพื่อจุดประสงค์เดียวกับท่าน แต่ไม่อาจอยู่ได้นาน จึงทำงานไม่สำเร็จ เมื่อท่านรวบรวมอรรถกถาครบแล้วโปรดส่งให้ผมด้วย"
เมื่ือได้รับปากกันแล้วทั้งสองรูปก็จากกัน ต่อมา เมื่อถึงอินเดียท่านก็ได้จำพรรษาที่วัดกฤษณทาส ที่พราหมณ์กฤษณทาส สร้างถวาย ริมฝั่งแม่น้ำกเวริ ณ ที่นี่ ท่านได้เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น ๑. อุตรวินิจฉัย ๒.วินัยวินิจฉัย ๓.อภิธรรมาวตาร ๔.รูปารูปวินิจฉัย ๕.มธุรัตถวิลาสินี ผลงานของท่านทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ต่อนักการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านก็ถึงมรณภาพที่วัดนี้
๘. พระเจ้ากุมารคุปตะ (Kumargupta) |
พ.ศ.๙๕๘ พระเจ้ากุมารคุปตะทรงครองราชสมบัติแคว้นมคธ เป็นกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะ องค์ที่ ๔ ต่อจากพระบิดา คือพระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ พระองค์เป็นฮินดู จึงได้ฟื้นฟูพิธีอัศวเมฆขึ้น อันเป็นพิธีของศาสนาฮินดูที่เก่าแก่ ส่วนพุทธศาสนาก็มีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ไม่น้อย แม้จะไม่ได้การเคารพจากกษัตริย์ก็ตาม ราว พ.ศ.๙๙๐ พวกฮั่นขาวหรือชาวหูนะจากเอเชียกลางได้บุกเข้าโจมตีอินเดียอีกระลอก เมื่อพวกหูนะผ่านไปเมืองใดก็จะทำลายเมืองนั้น จนย่อยยับ ปล้นเอาทรัพย์สินเท่าที่่จะหยิบฉวยไปได้ กลับไปเอเชียกลาง กองทัพอินเดียของพระเจ้ากุมารคุปตะต่อสู้จนสุดความสามารถ จนในที่สุดพระองค์ได้รับชัยชนะ ประมาณ พ.ศ. ๙๙๗ ก็สวรรคต รวมการครองราชย์ ๓๙ ปี นอกจากพระเจ้ากุมารคุปตะแล้ว ยังมีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ที่ปกครอง ราชวงศ์คุปตะเช่น พระเจ้าสกันทคุปตะ พระเจ้าพุทธคุปตะ และพระเจ้าวิษณุคุปตะ เป็นต้น แต่ข้อมูลตอนนี้เลือนลางเต็มทีมีการบันทึกไว้น้อยมาก
๙. พระพุทธโฆษาจารย์ (Buddhaghosacharya) |
พระพุทธโฆษาจารย์ |
ท่านนี้เป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายเถรวาทเช่นกัน เกิดราวพ.ศ. ๙๔๕ ในสกุลพราหมณ์ที่ตำบลพุทธคยา แคว้นมคธ หรือรัฐพิหารในปัจจุบัน แต่มีบางฉบับกล่าวว่า ท่านเกิดที่ไตลังคะ ทางอินเดียตอนใต้ และพม่าเชื่อว่าท่านเกิดที่พม่า แต่มติเบื้องต้นจะมีผู้เชื่อถือมากกว่า
สมัยวัยเยาว์ท่านมีความสนใจในทางศาสนามาก มักจะไปชมวัดของพราหมณ์เสมอ และได้เรียนพระเวทอย่างแตกฉาน มีวาทะแหลมคม จนกลายมาเป็นนักโต้วาทีที่มีชื่อเสียงของพราหมณ์ในสมัยนั้น
วิหารพุทธคยา ยังอยู่ในความดูแลของพระสงฆ์ลังกา กษัตริย์ลังกา คือ พระเจ้าศรีเมฆวรรณได้รับประทานอนุญาตจากพระเจ้าสมุทรคุปตะ ได้สร้างวิหารขึ้นที่พุทธคยา เพื่อเป็นที่อาศัยของพระสงฆ์ลังกา สมัยนั้นพระเรวตะ พระสงฆ์ลังกาเป็นเจ้าอาวาสดูแลพุทธคยา ต่อมาท่านเรวตะได้ยินพุทธโฆษะ ท่องมนต์จากคัมภีร์ปตัญชลี รู้สึกประทับใจจึงได้สนทนากันแล้วพุทูโฆษะจึงถามท่านว่า ท่านทราบมนต์นี้หรือไม่ พระเรวตะตอบว่าเรารู้สูตรนี้ดีทีเดียว แล้วจึงอธิบายสูตรเหล่านั้น แล้วบอกว่าสูตรนั้นผิดหมดทำให้พุทธโฆษะงงเหมือนมีมนต์สะกด จึงให้พระเถระท่องสูตรเหล่านั้นให้ฟัง พระเถระจึงนำเอาพระอภิธรรมมาแสดง เหลือวิสัยของพุทธโฆษะจึงถามพระเถระว่า นี้เป็นมนต์ของใคร พระเถระตอบว่าเป็นพุทธมนต์ และเมื่อพุทธโฆษะอยากท่องมนต์พระเถระจึงกล่าวว่า ถ้าท่านบวชจักสอนให้
ในที่สุดก็ตัดสินใจละทิ้งลัทธิเดิมแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนมีความรู้แตกฉาน เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ขณะที่อยู่ที่พุทธคยาได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ญาโณทัย ถัดจากนั้นได้เขียนอัฎฐกถาอัฎฐสาลินีซึ่งเป็นอัฎฐกถาของธัมมสังคณี ต่อมาพระเรวตะได้แนะนำให้พระพุทธโฆษาจารย์เดินทางไปเกาะลังกาเพื่อแปลคัมภีร์สำคัญเป็นภาษามคธ
ท่านได้เดินทางไปยังลังกา สมัยพระเจ้ามหานาม ครองเกาะลังกา และพำนักที่มหาปธานวิหารเพื่อศึกษาอรรถกถาภาษาสิงหล
เมื่อเชี่ยวชาญภาษาสิงหลจึงแปลคัมภีร์หลายเล่มสู่ภาษามคธ ต่อมาได้แต่งหนังสือ " วิสุทธิมรรค" แล้วเดินทางกลับอินเดีย ผลงานของท่านที่ปรากฎ ๑. สมันตปาสาทิกา ๒.กังขาวัตรณี ๓.สุมังคลวิลาสินี ๔. ปปัญจสูทนี ๕. สารัตถปากาสินี ๖. มโนรัตถ ปูรณี ๗. ปรมัตถโชติกา ๘. สัมโมหวิโณทินี ๙. ปัญจปกรณัฏฐกถา ๑๐. วิสุทธิ มรรค ๑๑.ญาโณทัย บางเล่มท่านอาจจะไม่ได้เขียนเอง แต่ท่านก็เป็นผู้ดูแลตลอดจนสุดท้ายท่านก็มรณภาพโดยไม่ ทราบแน่ชัดถึงสถานที่
๑๐. พระธรรมปาละ (Dhammapala) |
นักปราชญฝ่ายเถรวาทท่านนี้มีชีวิตอยู่ราว พ.ศ.๙๕๐ เกิดที่พัทรติตถะ ฝั่งทะเลแห่งอาณาจักรพวกทมิฬของอินเดียภาคใต้ ในรายงานของพระถังซัมจั๋งกล่าวว่า ท่านเกิดที่เมืองกาญจีปุรัม เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาดู เกิดหลังท่านพุทธโฆษาจารย์เล็กน้อย
เมื่ออายุ ๒๐ปีก็ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ แล้วไปศึกษาต่อที่เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา เมือกลับอินเดียท่านจำพรรษาถาวรที่มหาโพธิ์สังฆาราม พุทธคยา และมรณภาพที่นั่น ผลงานด้านการเขียนชองท่านมีน้อย เมื่ออายุ ๒๐ ปีก็ได้รับการอุปสมบทเป็นภิกษุ แล้วไปศึกษาต่อที่เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา เมื่อกลับอินเดียท่านจำพรรษาถาวรที่มหาโพธิ์สังฆาราม พุทธคญา และมรณภาพที่นั่น ผลงานด้านการเขียนของท่านมีน้อย แต่ก็มีสำนวนไพเราะ เข้าใจง่าย โดยอาศัยที่เมืองนาคปัฏฏินัม อาณาจักรโจลยะอินเดียใต้ (ปัจจุบันอยู่ใกล้เมืองเชนไนหรือมีทราส) ผลงานคือ อรรถกถาขุททกนิกาย ปรมัตถทีปนี วิมลวิลาสินี อรรถกถา เนตติปกรณ์ ปรมัตถมัญชุสา อรรถกถาวิสุทธิมรรค อิติวุตตกะ วิมานวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถาและจริยาปิฏกเป็นต้น เป็นต้น
๑๑. มหาวิทยาลัยพุทธศาสนา (Buddhist University)
ปลาย พ.ศ.๙๐๐ การศึกษาทางพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งในฝ่ายเถรวาทและนิกายมหายาน ได้เกิดมหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาขึ้นถึง ๗ แห่งคือ ๑.นาลันทา ๒.วลภี ๓.วิกรมศิลา ๔.โอทันตบุรี ๕.ชคัททละ ๖.โสมบุรี ๗.ตักกศิลา ดังมีรายละเอียดอย่างย่อ ๆ คือ
แผนที่ตั้งมหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา Buddhist University Location |
๑. นาลันทา (Nalanda) |
ซากมหาวิทยาลัยนาลันทา |
ความจริงนาลันทาก่อตั้ง ตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช โดยในยุคนั้นยังเป็นวัดเพียงสองวัด ในสมัยคุปตะ จึงขยายเป็นวัดหลาย ๆ วัดรวมกันและมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นทุกปี จนกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยในที่สุด ในช่วงที่พระถัมซัมจั๋งเข้าศึกษามีพระนักศึกษา ๑๐,๐๐๐ รูป พระอาจารย์ ๑,๕๐๐ รูป ในบรรดามหาวิทยาลัยทั้งห้าแห่ง มหาวิทยาลัยนาลันทายิ่งใหญ่สุดและมาเฟื่องฟูสูงสุด
ในสมัยพระเจ้าหรรษวรรธนะ พระองค์ทรงอุปถัมภ์อย่างเต็มที่ พระคณาจารย์นาลันทาที่มีชื่อเสียง คราวที่พระถังซัมจั๋งมาเยือนคือ พระอาจารย์ศีลภัทร (Shilabhadra) พระเทพเสน (Kevasena) พระปรัชญาประภา (Prajnaprabha) พระเทพสิงห์ (Devasingh) พระสาครมติ (Sakaramati) พระสิงหประภา (Singhprabha) พระสิงหจันทร์ (Singhchandra) พระวิทยาภัทร (Vidhyabhadra) ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนาลันทาเท่านั้นที่ยังคงเจอซากปรักหักพังค่อนข้างสมบูรณ์กว่าทุกแห่ง
๒. วลภี (Valabhi) |
เป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายหินยาน ตั้งอยู่ทิศตะวันตกของอินเดีย คือ ใกล้เมืองภวนคร หรือเมืองสุราษฎร์โบราณ แคว้นคุชราดในปัจจุบัน เจ้าหญิงทัดดาเป็นปนัดดาของพระเจ้าธรุวเสนาได้สร้างวิหารหลังแรกของวิหารวลภีขึ้นเรียกว่า "วิหารมณฑล" ต่อมาพระนางได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีที่มหาวิหารวลภี ภายหลังวิหารหลายแห่งก็ถูกสร้างเพิ่มเติม เช่นวิหารยักษาสุระ โคหกวิหาร และวัดมิมมา นอกจากนั้นวัดโดยรอลวลภีก็ถูกสร้างขึ้น ๑๒ วัดคือ ๑.ภตารกวิหาร ๒.โคหกวิหาร ๓.อภยันตริกวิหาร ๔.กักกวิหาร ๕.พุทธทาสวิหาร ๖.วิมลคุปตวิหาร ๑๒.ยธวกวิหาร
จุดประสงค์ของการสร้างวัดถูกเขียนไว้ในจารึกของวัดว่าเพื่อ ๑. เป็นที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ผู้มาจากทิศต่าง ๆ ทั้ง ๑๘ นิกาย ๒.เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า ๓. เพื่อเป็นที่เก็บและรักษาตำรา
ในบันทึกของพระถังซัมจั๋งเรียกวลภีว่า ฟา-ลา-ปี ท่านกล่าวว่า "ถัดจากแคว้นกัจฉะไป ๑,๐๐๐ ลี้ก็ถึงแคว้นวลภี แคว้นนี้มีอาราม ๑๐๐ แห่ง พระภิกษุสงฆ์ ๖,๐๐๐ รูป ล้วนสังกัดลัทธิสัมมติยะแห่งนิกายหินยาน ที่นี่พระเจ้าอโศกได้สร้างสถูปไว้เป็นอนุสรณ์ พระราชาเป็นวรรณกษัตริย์เป็นชามาดา (ลูกเขย) ของพระเจ้าหรรษวรรธนะ ทรงนามว่า ธรุวัฏฏะทรงเลื่อมใสในพระรัตนตรัย ทุกปีจะนิมนต์พระสงฆ์ทั่วแคว้นมาถวายภัตตาหาร เสนาสนะ สบง จีวร เภสัช เป็นต้น" พระเถระที่มีชื่อเสียงในมหาวิทยาลัยวลภีคือ พระสิถิรมติ (Sthiramati) และ พระคุณมติ (Gunamati) ซึ่งท่านทั้งสองเป็นศิษย์รุ่นต่อมาของพระวสุพันธุ ส่วนอารามที่มีชื่อเสียงที่มหาวิทยาลัยวลภี เมืองวลภี คือ ๑.พุทธทาสวิหาร สร้างโดยพระอาจารย์ภทันตะพุทธทาส ๒.อัพยันตริกาวิหาร สร้างโดยอุบาสิกามิมมา ๓.กากะวิหาร สร้างโดยพ่อค้าชื่อว่า กากะ ๔.โคหกะวิหาร สร้างโดยเศรษฐีโคหกะ ๕. วิมาลาคุปตะวิหาร สร้างโดยพระเถระชื่อว่าวิมาลาคุปตะ ๖. สถิรวิหาร สร้างโดยพระเถระสถิระ เป็นต้น
วลภีมาเจริญรุ่งเรือง อย่างมากในสมัยพระเจ้าไมตรกะ ราว พ.ศ.๑๐๙๘ พระองค์อุปถัมภ์เต็มความสามารถจนใหญ่โตเหมือนนาลันทา เป็นป้อมปราการอันสำคัญของพุทธศาสนาหินยานหรือเถรวาท ท่านสถิรมติพระเถระชื่อดังจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ได้สร้างวิหารหลังหนึ่งที่วลภีเช่นกัน มหาวิทยาลัยวลภีนอกจากจะศึกษาทางด้านพุทธศาสนาทุกนิกายแล้ว ยังศึกษาทางโลกเช่น จริยศาสตร์ แพทยศาสตร์อีกด้วย เนื่องจากชัยภูมิอยู่ใกล้ปากีสถาน และอิีหร่าน เมื่อกองทัพมุสลิมรุกรานราว พ.ศ. ๑๔๐๐ วลภีจึงทำลายลงอย่างยับเยิน พระสงฆ์และพุทธบริษัทที่รอดตายต่างอพยพเข้าพึ่งพระบรมโพธิสมภารกษัตริย์ แคว้นมคธ พ.ศ.๒๔๐๔ นายพันเอกทอด (Colonel Tod) นายทหารชาวอังกฤษได้เป็นผู้ค้นพบซากโบราณมหาวิทยาลัยนี้ ปัจจุบันซากโบราณสถานยังพอหลงเหลืออยู่ในเมืองวลภีนคร เมืองอาเมดาบาด รัฐคุชราต
๓.วิกรมศิลา (Vikramasila) |
ตั้ง อยู่เชิงเขาฝั่งขวาของแม่น้ำคงคารัฐเบงกอลปัจจุบัน สร้างโดย พระเจ้าธรรมปาละ กษัตริย์ราชวงศ์ปาละราว พ.ศ.๑๓๐๘ และได้รับการอุปถัมภ์จากกษัตริย์หลายพระองค์ มีพระภิกษุธิเบตชื่อทีปังกร ศรีญาณผู้จบจากมหาวิทยาลัยโอทันตบุรีมาเป็นอธิการบดีในช่วงที่มหาวิทยาลัย รุ่งโรจน์มีนักศึกษาถึง ๓,๐๐๐ คน อาจารย์ ๘๐๐ รูป มีบัณฑิต ๑๐๘ ท่านและมหาบัณฑิต ๘ ท่านแต่ที่ปรากฎนามมี ๗ คือ พระมหาปราชญ์รัตนกรสันติ พระศานติภัทร พระไมตรีปา ท่านโฑมทีปาท่านสถวีภัทร ท่านสมฤตยากรสิทธะ ท่านทีปังกรศรีญาณ เมื่อ พ.ศ.๑๗๗๘ พระลามะชาวธิเบตนามว่าธรรมสวามิน (Lama Dharmasvamin) ได้เดินทางไปอินเดียเป็นเวลา ๓ ปีเศษ ได้กล่าวถึงสภาพการณ์ของวิกรมศิลาว่า "วิกรมศิลายังมีอยู่จริงในสมัย ของท่านธรรมสวามี (คนละคน) และบัณฑิตชาวเมืองกัศมีร์นามว่าศักยาศรีภัทระได้มาเยี่ยมเมื่อพ.ศ. ๑๖๙๖ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปแล้ว เพราะทหารมุสลิมชาวตุรกีได้ทำลายมันลงอย่างย่อยยับและรื้อศิลารากฐาน ทิ้งลงแม่น้ำคงคาทั้งหมด" พระลามะซัมปา (Lama Sumpa) กล่าวว่า วิกรมศิลามีกำแพงล้อมรอบทุกทิศทาง มีประตู ๖ แห่ง แต่ละแห่งมีบัณฑิตที่มีชื่อเสียงเฝ้้าดูแลอยู่ทุกประตู โดยมีรายนามดังนี้
๑.พระอาจารย์รัตนกรสันติ (Ratnakarasanti) ดูแลประตูทิศตะวันออก
๒.พระอาจารย์วาคีสวารกีรติ (Vagisvarakirti) ดูแลทิศตะวันตก
๓.พระอาจารย์นาโรปะ (Naropa) ดูแลประตูทางทิศเหนือ
๔.พระอาจารย์ปรัชญากรมติ (Prajnakaramati) ดูแลประตูทิศใต้
๕.พระอาจารย์รัตนวัชระ (Ratnavajra) ดูแลประตูสำคัญที่หนึ่ง
๖.พระอาจารย์ชญาณศรีมิตร (Jnanasrimitra) ดูแลประตูสำคัญที่หนึ่ง
นอกนั้น ภายนอกกำแพงรายรอบไปด้วยวัดถึง ๑๐๗ วัด ภายนอกกำแพงมีสถาบันอีก ๕๘ แห่ง มีนักปราชญ์ถึง ๑๐๘ คน ในยุคสมัยพระเจ้ารามปาละปกครองมคธและเบงกอล วิกรมศิลามีท่านอภัยการคุปตะเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยนี้เป็นที่มั่นสำคัญของพุทธศาสนานิกายตันตระจนถึงวาระสุดท้ายที่ กองทัพมุสลิมเติร์กนำโดย อิคทียาร์ อุดดิน โมฮัมหมัด (Ikhtiyar-Ud-din-Mohammad) บุกมาถึงราว พ.ศ.๑๗๔๓ พวกเขาทำลายล้างและนำหินและอิฐทิ้งลงแม่น้ำคงคา วิกรมศิลาจึงหายสาบสูญจากความทรงจำของผู้คนตั้งแต่นั้นมา
๔.โอทันตบุรี (Odantapuri) |
ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยนาลันทา ปัจจุบันเรียกว่าพิหารชารีฟ เดิมเป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่ง บรรจุพระสงฆ์ถึง ๑,๐๐๐ รูป ต่อมาวัดโอทันตบุรีก็กลายมาเป็นมหาวิทยลัย ดังเช่นมหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งอยู่ที่แคว้นมคธและเบงกอล มหาวิทยาลัยนี้สร้างโดย พระเจ้าโคปาสะ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปาละ ราวพ.ศ. ๑๒๐๓ ต่อมาก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นมหาวิทยาลัย โดยการอุปถัมภ์อย่างมุ่งมั่นของกษัตริย์ราชวงศ์ปาละเกือบทุกพะรองค์ ต่อมามินฮาส (Minhas) นักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียที่มาร่วมในเหตุการณ์ในครั้งนั้นกล่าวว่า "เมื่ออิคทิยาร์ ได้รุกรบมาถึงมคธได้เข้าทำลายโบสถ์ ผู้อาศัยเกือบทั้งหมดเป็นพราหมณ์โกนหัวโล้น ทหารม้าได้ฆ่าฟันพวกเขาตายเป็นจำนวนมาก ภายในมีหนังสือเป็นจำนวนมาก พวกทหารม้าได้บังคับให้พวกเขาอ่านแต่ไม่มีใครอ่านได้ เพราะผู้มีการศึกษาได้ถูกฆ่าตายเกือบหมด และหนังสือเหล่านั้นก็ถูกทำลายด้วย" จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ทหารม้ามุสลิมตุรกีคงสำคัญผิดเห็นพระสงฆ์เป็นพราหมณ ์และหนังสือส่วนมากคงเป็นคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา และคงจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่มีการศึกษาไม่สามารถอ่านและเข้าใจได้ ในสมัียนี้ภาษาบาลีได้ลดอิทธิพลจนแทบหายไปหมด พร้อมกับการจากไปของพุทธศาสนาแบบหินยาน (เถรวาท) คัมภีร์ทางพุทธศาสนาเกือบทั้งหมด จึงจารึกด้วยภาษาสันสกฤต ต่อมามหาวิทยาลัยมาถูกทำลายลงต่อจากวลภี โดยกองทหารมุสลิมนำโดยภักติยาร์ ขิลจิ พ.ศ.๑๗๘๖ ในชั้นต้นโอทันตบุรี หลังจากทำลายลงแล้วได้ถูกทำเป็นค่ายทหารและทหารเติร์กมาสร้างมัสยิดทับในภาย หลัง
๕.ชคัททละ (Jagaddala) |
มหาวิทยาลัยนี้ก็ตั้งอยู่รัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย สถาปนาขึ้นโดย พระเจ้ารามปาละ แห่งราชวงค์ปาละ ณ เมืองวาเรนทระ แต่ปีที่สร้างหลักฐานหลายแห่งกล่าวขัดแย้งกันบ้างว่า พ.ศ.๙๕๐ บ้างว่า พ.ศ. ๑๕๕๐ พ.ศ.๑๖๓๕ บ้าง แต่ข้อมูลฝ่ายหลังมีความน่าเชื่อถือมากกว่าในหนังสือกวีนิพนธ์ช่อรามจริต นักกวีนามว่าสนธยากรนันทิ ประจำราชสำนักพระเจ้ารามปาละได้แต่งขึ้นได้กล่าวว่า "เมืองวาเรนทระเป็นเมืองที่มีช้างตระกูลมันทระอยู่มาก โดยมีสำนักอบรมที่มหาวิหารชคัททละและวัดนี้มีรูปพะรโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และที่มีชื่อเสียงอีกองค์คือ เทพธิดาตารา" ในคำบอกเล่าของท่านศักยศรีภัทระ พระภิกษุชาวกัศมีร์ผู้ท่องเที่ยวไปในแคว้นมคธกล่าว่า ขณะที่มหาวิทยาลัยโอทันตบุรี และวิกรมศิลาถูกทำลายแต่ชคัททละยังสมบูรณ์ดีมิได้ถูกทำลายไปด้วย ท่านได้มาพักและศึกษาที่นี่เป็นเวลา ๓ ปีกับ ท่านสุภการคุปตะ (Subhakaragupta) นอกนั้นยังมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงคือ ท่านวิภูติจันทรา (Vibhuticantra) ท่านทานศีล (Danasila) และท่านโมกษะการคุปตะ (Moksakaragupta) ต่อมาท่านทั้งสาม คือ ท่านศักยศรีภัทระ (Sakyasribhadra) ท่านวิภูติจันทราและท่านทานศีลก็ได้หลบหนีจากชคัททละไปสู่เนปาล และธิเบตหลังจากที่ทหารเติร์กมุสลิมยึดอำนาจในมคธและเบงกอลได้แล้ว รวมเวลาที่รุ่งเรืองราว ๑๕๐ ปี มหาวิทยาลัยนี้จึงถูกทำลายลง
ซากพระเจดีย์ขนาดใหญ่ที่โสมบุรี ราชศาฮี บังคลาเทศ |
๖.โสมบุรี (Somapura) |
ตั้งอยู่ในแคว้นปุณยวรรธนะ เบงกอล ก่อตั้งโดยพระเจ้าเทวปาละ (Devapala) กษัตริย์พระองค์ที่ ๒ ในราชวงศ์ปาละราว พ.ศ. ๑๒๔๘ แต่ตำนานหนังสือประวัติศาสตร์ของรัฐเบงกอลกล่าวว่า พระเจ้าเทวปาละขึ้นครองราชสมบัติ พ.ศ. ๑๓๕๓ ซึ่งห่างกันถึง ๑๐๕ ปี ดังนั้นการสร้างจึงต้องเป็นศักราชที่พระองค์ครองราชย์ ในระยะแรกพระองค์สร้างมหาวิหารชื่อว่าธรรมปาละเป็นวิหารที่ใหญ่โต กล่าวกันว่าสามารถใช้เป็นที่อาศัยของพระสงฆ์
ต่อมาในสมัยพระถังซัมจั๋งเดินทางมาที่นี่ ท่านกล่าวว่า ที่นี่เป็นชุมชนของชาวพุทธ แต่ศาสนิกของเชนกลับมีจำนวนมากกว่า แต่มาในสมัยราชวงศ์ปาละจำนวนพุทธศาสนิกชนจึงเพิ่มขึ้น มีอิทธพลครอบครุมศาสนาอื่นๆ มหาวิทยาลัยโสมบุรีถูกทำลายโดยพระเจ้าชาตะวรมัน แห่งเบงกอลตะวันออก ได้บุกเข้าทำลายธรรมปาละวิหารและสถานที่อื่น ๆ ในมหาวิทยาลัยในขณะที่หลาย ๆ รูปได้หลบหนีเอาตัวรอดจากการทำลาย แต่ท่านกรุณาศรีมิตร (Karunasrimitra) พระเถระผู้ใหญ่กลับไม่ยอมหลบหนีไปไหน ยังคงกอดพระพุทธปฎิมาที่พระบาทไว้แน่น อันบ่งบอกถึงความศรัทธาที่แรงกล้าต่อพุทธศาสนาที่ยอมตาย โดยไม่ยอมหนีไปไหน จนกระทั่งไฟลุกลามเผาพลาญร่างกายของท่านพร้อมกับสถานที่ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย เมื่อไฟและทหารผ่านพ้นไปแล้ว พระวิปุละศรีมิตร (Vipula-srimitra) พร้อมพระสงฆ์ที่เหลือรอดก็เข้ามาบูรณะอีกครั้ง พร้อมสร้างรูปเทพธิดาตาราไว้บูชา
ส่วนในศิลาจารึกในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าว่า ภิกษุชื่อว่าทศพลภัคเป็นผู้นำในการสร้างมหาวิหารโสมปุระเพื่อประกาศคุณของ พระรัตนตรัย และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเริ่มประมาณ ๔๐๐ ปีคือราวพุทธศตวรรษ ๑๔-๑๘ จนกระทั่งได้ถูกทำลายอีกครังโดยกองทัพมุสลิมเติร์ก มหาวิทยาลัยนี้จึงจมอยู่ใต้ดินมาเป็นเวลานาน ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอโบกครา เมืองทินาชปูร์ ราชศาฮี ประเทศบังคลาเทศ ซากปรักหักพังของมหาวิทยาลัยยังมีให้เห็นแม้ในปัจจุบัน
ธัมมราชิกสถูป ตักกศิลา ปากีสถาน |
๗.ตักกศิลา (Takshasila or Taxila) |
เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งมายาวนานที่สุดกว่าทุกมหาวิทยาลัยที่กล่าวมา ตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล มหาวิทยาลัยตักกศิลาไม่ใช่มหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เพราะตั้งมาก่อนพุทธกาล แนวการสอนจึงเป็นพระเวทของพราหมณ์เป็นหลัก แต่วิชาที่สอนมีหลายสาขา คือ การปกครอง อักษรศาสตร์ ยุทธศาสตร์แพทยศาสตร์ นาฎศิลป์ ดาราศาสตร์ เป็นต้น
มีนักศึกษาที่มีชื่อเสียงในสมัยพุทธกาลคือ ๑. พระเจ้าปเสนทิโกศล ๒.หมอชีวกโกมารภัจจ์ ๓.พันธุลเสนาบดี ๔. มหาโจรองคุลิมาล
ในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ยกทัพตีอินเดีย พ.ศ. ๒๐๐ พระเจ้าอัมพิราช พระราชาเมืองตักกศิลายอมอ่อนน้อมและจัดทหารเข้าโจมตีปัญจาปช่วยทัพกรีกของอ เล็กซานเดอร์ สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พุทธศาสนาได้มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก พระองค์เองได้สร้างวัดอย่างมากที่เมืองนี้ สถูปหลายแห่งตกมาจนถึงยุคปัจจุบัน เช่นธมมราชิกสถูป คุณาละสถูป เป็นต้น
ตักกสิลาถูกทำลายหลายครั้ง เช่นพวกหูนะพวกฮั่นเข้าบุกทำลาย และที่สำคัญที่สุดถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมเนื่องจากกตักศิลาเป็นเมืองหน้า ด่านของอินเดีย จึงเป็นการง่ายต่อการถูกทำลาย
ในสมัยพระถังซัมจั๋งเดินทางเข้ามาในอินเดีย ท่านได้ผ่านเมืองตักกศิลานี้ และได้เขียนไว้ว่า " ราชอาณจักรตักกศิลามีอาณาเขตราว ๒,๐๐๐ ลี้โดยรอบ ส่วนเมืองหลวงอาณาเขตราว ๑๐ ลี้ พระราชวงศ์ได้สูญสิ้นไปเพราะเกิดมีการต่อสู้หลายครั้งแต่ก่อนเมืองนี้ตกเป็น เมืองขึ้นของแคว้นกปิศะ แต่ต่อมาก็ได้กลายเป็นเมืองขึ้นของแคว้นกัศมีร์ (แคชเมียร์) เขตนี้มีชื่อเสียงในเรื่องความอุดมสมบูรณ์และผลิตข้าวพันธุ์ดี ประชาชนที่นี่โดยมากกล้าหาญพวกเขาเคารพในพระรัตนตรัย แม้ว่าจะมีสังฆารามจำนวนมาก แต่มีนได้ทรุดโทรมพังพินาศ รกร้าง มีพระจำนวนน้อย ทั้งหมดศึกษาในนิกายมหายาน
ไกลออกไปจากเมืองนี้ราว ๓๐ ลี้ ระหว่างภูเขาทั้งสองมีสถูปของพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างไว้สูงประมาณ ๑๐๐ ฟิตมรการเปล่งรัศมีเรืองรอง ณ ที่นี่ เมื่อพระตาคตเสวยพระชาติเป็นพระราชาพระนามว่าจันทรประภาได้สละพระเศียรของ พระองค์เป็นทาน ๑,๐๐๐ ครั้งเพื่อต้องการบรรลุพระโพธิญาณ ที่ข้างสถูปนี้มีพระอารามที่พระกุมารลัพธ์ คณาจารย์ฝ่ายลัทธิเสาตรานติกได้รจนาหลายคัมถีร์ไว้"
เมื่อครั้ง พ.ศ.๒๔๐๐ ท่านเซอร์ คันนิ่งแฮมได้มาขุดค้นที่นี่พบซากโบราณวัตถุมากมายปะปนกันทั้งศิลปะกรีก อินเดีย และอิสลาม ทั้งนี้เพราะเมืองนี้ถูกบุกรุกจากหลายราชวงศ์หลายวัฒนธรรม ศิลปะวัตถุถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั้งที่อังกฤษ ปากีสถาน และอินเดีย ปัจจุบันอยู่ในเขนรัฐปัญจาปของปากีสถาน ใกล้เมืองราวัลปินดีราว ๓๐ กิโลเมตร และไม่ไกลจากเมืองอิสลามาบาด เมืองหลวงของปากีสาน
พ.ศ. ๙๙๗ พระเจ้าสกันทคุปต์ปกครองอาณาจักรคุปตะ แคว้นมคธ ต่อจากพระเจ้ากุมารคุปตะ จนถึงพ.ศ. ๑๐๒๐ หลังจากพระเจ้าสกันทคุปตะสวรรคตแล้วไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้ปกครองต่อจน ถึง พ.ศ. ๑๐๘๓ ก็สิ้นสุดราชวงศ์นี้
๑๒.ราชอาณาจักรวลภี
พ.ศ.๑๐๓๓ หลังจากจักวรรดิคุปตะได้เสื่อมลง เสนาบดีของจักรวรรดิคุปตะคนหนึ่ง นามว่า ภัททารกะ (Bhattarka) ได้พาสมัครพรรคพวกมาสร้างอาณาจักรใหม่ ให้นามราชวงศ์ตนเองว่า ราชวงศ์ไมตระกะ (Maitraka) ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งในอดีตเป็นหมู่บ้านนามว่า เสาราชตะ (Sourashtra) ในเขตรัฐคุชราตปัจจุบัน แล้วให้ชื่อราชธานีใหม่ว่าวลภี (อ่านว่าวะละภี)แม้ว่าประองค์จะเป็นฮินดู นิกายไศวะ แต่ก็ได้สถาปนาอารามหลายขึ้นแห่ง และพัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยวลภีในอันดับต่อมา ราชวงศ์สืบเชื้อสายมาราว ๙ พระองค์คือ
๑.พระเจ้าภัททารกะ (Bhattarka) ก่อตั้งราชวงศ์ไมตระกะขึ้นที่วลภีนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะ แต่ได้สถาปนาอารามหลายแห่ง ปกครอง ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๐๓๓-๑๐๖๒
๒.พระเจ้าธรุวเสนา (Dhruvasena) พระโอรสปกครอง เป็นพุทธศาสนิกชน ทรงสร้างทุฑฒวิหารและพุทธทาสมหาวิหาร ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.๑๐๖๒-๑๐๙๓
๓.พระเจ้าคุหะเสนา (Guhasena) พระโอรสปกครอง เป็นพุทธศาสนิกชนสร้างต่อเติมทุฑฒวิหาร สร้างเพิ่มเติมมิมมาวิหาร ปกครองตั้งแต่ พ.ศ.๑๐๙๓-๑๑๑๒
๔.พระเจ้าธารเสนา (Dharasena) ปกครองอาณาจักรวลภี ทรงสนับสนุนการสร้างปัพพาทิยะวิหาร และกากวิหาร พ.ศ.๑๑๑๒-๑๑๓๓
๕.พระเจ้าศีลาทิตย์ที่ ๑ (Siladitya 1st) ปกครองอาณาจักรวลภี สร้างวังสกตะวิหาร และและยักษะโสระวิหาร ตั้งแต่พ.ศ. ๑๒๓๓-๑๑๕๘
๖.พระเจ้าธรุวเสนาที่ ๒ (Dhruvasena 2nd) พระโอรสปกครอง เป็นพุทธศาสนิกชน ทรงสร้องปูรภัตติวหารและโยธาวกะวิหาร ครองราชย์ พ.ศ. ๑๑๕๘-๑๑๘๔
๗.พระเจ้าธรุวเสนาที่ ๓ (Dhruvasena 3rd) พระโอรสขึ้นปกครองทรงสร้างทุฑฒวิหาร พ.ศ. ๑๑๘๔-๑๑๙๗
๘.พระเจ้าศีลาทิตย์ที่ ๒ (Siladitya 2nd) ปกครองอาณาจักรวลภี ทรงสร้างโคหะวิหาร ปกครองตั้งแต่ พ.ศ. ๑๑๙๗-๑๒๒๘
๙.พระเจ้าศีละทิตย์ที่ ๓ (Siladitya 3rd) ปกครองอาณาจักรวลภี ทรงสร้างและบูรณะวิมาลาคุปตะวิหาร พ.ศ.๑๑๙๗-๑๒๕๓ จึงสิ้นสุดราชวงศ์
พ.ศ.๑๐๔๓ พวกหูนะ หรือฮั่นขาวก็เข้ารุกรานอินเดียอีกครั้ง หัวหน้าคนหนึ่ง ชื่อว่าโทรามานะ (Doramana) สามารถรุกรบและยึดปัญจาปและสินธุไว้ได้แล้วทำลายพุทธศาสนาขนานใหญ่ จนทำให้พุทธศาสนาสูญหายเกือบหมดในอินเดียเหนือ ในขณะที่อินเดียภาคใต้ก็ได้เกิดนักปราชญ์คนสำคัญของพุทธศาสนานิกายเซนขึ้น ท่านมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่พุทธศาสนาในประเทศจีนต่อมา ท่านนี้คือพระโพธิธรรม
๑๓.พระโพธิธรรม (Bodhidharma) |
ท่านโพธิธรรม เป็นปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายมหายาน นิกายเซน ชาวจีนเรียกว่า ท่านปรมาจารย์ตั๊กม้อ ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. ๑๐๑๓ เป็นเจ้าชายองค์ที่ ๓ ผู้ครองเมืองในอาณาจักรกาญจีปุรัม อินเดียทางใต้ มีพระทัยอ่อนโยนเป็นที่เคารพของพสกนิกร เมื่อพระบิดาใกล้สิ้นพระชนม์ทรงแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาทสืบสันตติวงศ์ต่อไป สร้างความไม่พอใจให้กับพระเชษฐาทั้งสองเป็นอย่างยิ่ง จึงสั่งคนลักลอบทำราย แต่ก็รอดกลับมาได้จึงเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตเจ้าชายลาออกจากรัชทายาท เข้าบวชกับท่านปรัชญาธารา (Prajndhara)
ต่อเมื่อ พ.ศ.๑๐๖๓ ขณะอายุ ๕๐ ปี จึงได้เดินทางไปเผยแพร่นิกายเซนในเมืองจีน ในสมัยพระเจ้าเหลียงหวูตี้ แห่งราชวงศ์เหลียง ท่านได้เข้าเฝ้าแต่ไม่เป็นที่ถูกพระทัย เพราะการถามตอบอันลึกซึ้งแบบเซน เช่น พระเจ้าเหลียงบู่ตี้ถามว่า การสร้างวัดวาอารามบำรุงสมณะพราหมณ์จะได้บุญหรือไม่ แต่ท่านโพธิธรรมตอบว่า ไม่มีเลย จึงไม่พอพระทัย แต่เมื่อทรงทราบภายหลังว่าท่านเป็นปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ก็เสียพระทัย
ท่านตั๊กม้อ นับว่าเป็นต้นตำรับวิชากังฟูวัดเส้าหลินมาจนถึงปัจจุบัน เป็นผู้วางรากฐานพุทธศาสนานิกายเซนหรือฌานให้มั่นคงในจีน และต่อมากระจายสู่เกาหลีและญี่ปุ่น ยุคสมัยท่าน นับว่าพุทธศาสนาในประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก ก่อนมรณภาพท่านก็ได้มอบบาตรและจีวรและตำแหน่งสังฆนายกนิกายเซนให้ฮุ้ยค้อสืบต่อ ท่านมรณภาพเมื่ออายุ ๑๒๐ ปี บางเล่มกล่าวว่า ๑๕๐ ปี เป็นตำแหน่งสังฆนายกของนิกายเซน อันดับที่ ๒๘ในอินเดีย และเป็นองค์แรกในแผ่นดินจีนตำแหน่งสังฆนายกสืบต่อมาจนถึงคนที่ ๖ จึงยกเลิกไป
พ. ศ.๑๐๕๐ เศษ กษัตริย์มิหิรกุละ (Mihiragula) เป็นเผ่าฮั่นขาวหรือหูณะ ได้ยกทองทัพจากเอเชียกลางเข้าอินเดียมาทางอิหร่านและอัฟกานิสถาน แล้วยึดสาคละ (ปัญจาปบัจจุบัน) กษัตริย์องค์นี้เป็นฮินดู นิกายไศวะ ในบันทึกพระถังซำจั๋งเขียนไว้ว่า พระเจ้ามิหิระกุละได้สั่งกำจัดพุทธศาสนาทุกแห่งในแว้นแคว้นของพระองค์ผ่านไป เป็นเหตุให้ถูกตอบโต้โดยพระเจ้าพาลาทิตย์ (Baladitya) กษัตริย์ราชวงศ์คุปตะแห่งมคธ และได้ทำสงครามกันพระเจ้าพาลาทิตย์ชนะจึงจับขังคุก ต่อมาหนีได้แล้วไปลี้ภัยที่แคว้นกัศมีระ (แคชเมียร์) สังหารกษัตริย์กัศมีระเสีย แล้วสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ได้รื้อฟื้นการกำจัดพุทธศาสนาอีกครั้ง ล้มล้างพระสถูปทั้งหลาย ทำลายวัด ๑.๖๐๐๐ แห่ง สังหารพุทธศาสนิกชน ๙๐๐ โกฏิ แต่ในที่สุดได้ทำอัตวินิบาตกรรม (ฆ่าตัวตาย) โดยกระโจนเข้ากองไฟ สมัยนี้พุทธศาสนาในกัศมีร์และอินเดียตอนเหนือถูกทำลายอย่างย่อยยับ
พ.ศ.๑๐๘๓ อาณาจักรคุปตะที่ยิ่งใหญ่อันมีศูนย์กลางที่แคว้นมคธ ก็ได้สลายตัวลง โดยการทำลายล้างของพวกหูนะที่รุกมาจากเอเชียกลางและความอ่อนแอในราชสำนัก อินเดียในยุคนี้จึงแตกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยไม่มีใครมีอำนาจเด็ดขาด
พ. ศ.๑๐๙๑ พระจักรพรรดิจีนก็ได้ส่งราชทูต ไปอินเดียเพื่ออาราธนาพระสงฆ์ที่มีความรู้และคัมภีร์ไปเผยแพร่พุทธศานาในจีน คณะทูตได้พำนักและท่องเmที่ยวอยู่อินเดียหลายปีจึงกลับไปพร้อมกับพระสงฆ์และ ตำราที่ต้องการ พระสงฆ์อินเดีย ที่ตามคณะทูตไปจีนมีหลายท่านแต่ที่มีชื่อเสียงคือพระปรมรรถ ท่านมีประวัติย่อ ๆ ดังนี้
๑๔. พระปรมรรถ (Parmath) |
คณาจารย์มหายานท่านนี้เกิดเมื่อราว พ.ศ.๑๐๖๓ เป็นชาวเมืองอุชเชนี อินเดียภาคตะวันตก ท่านมีชื่อเรียกหลายอย่างในภาษาจีน เช่น เซนติฉินอี้,คุณรัต เมื่อโตแล้วได้อุปสมบทและศึกษาพุทธศาสนาที่เมืองอุชเชนี จากนั้นเดินทางไปศึกษาต่อที่เมืองปาฏลีบุตร เมื่อพระจักรพรรดิจีนได้ส่งทูตมาอาราธนาพระสงฆ์และบัณฑิตไปเผยแพร่พุทธศาสนาที่จีน ท่านก็รับนิมนต์พร้อมนำคัมภีร์ไปมากมาย คณะทูตเดินทางไปทางทะเลถึงเมืองนานกิง และเริ่มงานเผยแพร่พุทธศาสนา แต่ผลงานของท่านเน้นหนักไปในด้านการแปลหนังสือเป็นส่วนมาก สุดท้ายท่านใช้ชีวิตบั้นปลายที่จีนและมรณภาพที่นั่น เมื่ออายุได้ ๗๑ ปี ผลงานที่ท่านแปลออกสู่ภาษาจีนมีมากกว่า ๗๐ เล่ม
สรุปราชวงศ์คุปตะ |
๑.พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๑ (Chandragupta 1st) ราวพ.ศ.๘๖๒-๘๗๘
๒.พระเจ้าสมุทร์คุปตะ (Samudhragupta) ราวพ.ศ.๘๗๘-๙๑๙
๓.พระเจ้าจันทรคุปตะที่ ๒ (Chandragupta 2nd) ราวพ.ศ. ๙๑๙-๙๕๘
๔.พระเจ้ากุมารคุปตะ (Kumargupta) ราวพ.ศ.๙๕๘-๙๙๗
๕.พระเจ้าสกันธคุปตะ (Skandhagupta) ราวพ.ศ.๙๙๗-ไม่ปรากฏหลักฐาน
๖.พระเจ้าวิษณุคุปตะ (Vishnugupta) ไม่ปรากฏหลักฐานปีที่ครอง
๗.พระเจ้าพุทธคุปตะ (Buddhagupta) ไม่ปรากฏหลักฐานปีที่ครอง
(ราชวงศ์คุปตะปกครองมคธตั้งแต่ พ.ศ.๘๖๒ ถึง พ.ศ. ๑๐๘๓ รวม ๒๒๐ ปี)
แผนที่แสดงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา ราว พ.ศ. ๑๒๐๐ |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น